คำแนะนำสำหรับประชาชนในการล้างพิษ

การล้างพิษหรือ Detox. มาจากคำว่า Detoxification คือ การกำจัดพิษออกจากร่างกาย ซึ่งพิษในที่นี้ หมายถึง อาหารส่วนเกิน หรือสารประกอบอื่น ๆ ที่มีผลทำให้ร่างกายไม่อยู่ในสภาวะสมดุล ทำให้เกิดอาการไม่สบายต่าง ๆ ซึ่งมีวิธีการล้างพิษ ดังนี้

1. การควบคุมอาหาร ซึ่งได้แก่ การอดอาหาร การกินอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง การดื่มน้ำผัก น้ำผลไม้ เครื่องดื่ม น้ำแต่เพียงอย่างเดียว หรือของเหลวอื่น ๆ เท่านั้น หรือการรับประทานอาหารเสริมสำหรับการล้างพิษชนิดต่าง ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง

2. การสวนล้างลำไส้ หรือการสวนน้ำหรือสวนกาแฟหรือสารละลายที่อุ่น ๆ อื่น เข้าไปในทวารหนักเพื่อให้อุจจาระนุ่ม เหลวขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายอุจจาระ

                   หมายเหตุ อาจใช้วิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือใช้ทั้งสองอย่างร่วมกัน

                   ข้อควรระวังในการล้างพิษมีดังนี้

                   1. การอดหาร อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ปากแห้ง ใจสั่น หน้ามืด อ่อนเพลีย หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ หากมีโรคประจำตังต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง จึงไม่ควรอดอาหารเกินกว่า 1 วัน และไม่ควรงดการดื่มน้ำ

                   2. การควบคุมอาหาร โดยการกินอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจทำให้เกิดการขาดสารอาหารที่สำคัญ ซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น แร่ธาตุหรือวิตามินต่าง ๆ ทั้งนี้ไม่ควรควบคุมเกิน 3 วัน

                   3. การดื่มน้ำผัก น้ำผลไม้ ไม่ควรดื่มชนิดเดียวกันติดต่อเป็นเวลานาน ๆ โดยผักหรือผลไม้นั้นต้องเป็นที่รู้จักกันทั่วไป นอกจากนี้น้ำผักหรือน้ำผลไม้นั้นต้องสะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค หรือพยาธิเข้าสู่ร่างกายได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเจ็บป่วยต่าง ๆ ตามมาในภายหลัง

                   4. การรับประทานอาหารเสริมสำหรับการล้างพิษชนิดต่าง ๆ ควรระวังอาหารเสริมที่ไม่ผ่านการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ ซึ่งอาจเจือปนสารสเตียรอยด์ ยาลดความอ้วน หรือยาระบายอย่างแรง

                   5. การสวนล้างลำไส้ ไม่ควรใช้สารละลายเกินกว่า 1 ลิตร ไม่ควรทำมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน และไม่ควรกระทำตามลำพัง เพราะอาจทำให้เสียสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย หรืออาจเกิดบาดแผลในทวารหนักก่อให้เกิดการติดเชื้อ นำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือด และด้วยเหตุเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

                   6. หากมีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดระหว่างการล้างพิษที่ผู้ให้บริการไม่สามารถแก้ปัญหาให้ได้ ควรหยุดกระทำการล้างพิษและควรบริโภคอาหารทันที ยกตัวอย่างเช่น ข้าวต้ม เป็นต้น หากอาการไม่ดีขึ้น ต้องไปปรึกษาแพทย์โดยไม่รอช้า

ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่ซึ่งทำการล้างพิษด้วยตนเอง จะมีความรู้สึกดี ตัวเบาสบายและมีสุขภาพดีขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังมีคนส่วนหนึ่งกระทำการล้างพิษอย่างหักโหมจนเกิดอันตรายต่อสุขภาพของตนเองได้เช่นกัน

ผู้สนใจที่จะเข้ารับการล้างพิษกับผู้ให้บริการใด ๆ ควรมีข้อพิจารณา ดังต่อไปนี้

          1. ควรได้รับการตรวจสุขภาพจากแพทย์เพื่อหาโรคประจำตัวที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากกระทำการล้างพิษด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

          2. ควรได้รับการประเมินภาวะสุขภาพจากผู้ให้บริการที่มีความรู้ความสามารถด้านการล้างพิษเป็นอย่างดี

          3. ควรประเมินผู้ให้บริการว่าสามารถที่จะป้องกันความเสี่ยงหรือแก้ไขปัญหาภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ทำการล้างพิษได้

          4. ควรประเมินสถานที่ให้บริการล้างพิษ ว่า มีเครื่องมือทางการแพทย์หรืออุปกรณ์ช่วยชีวิตฉุกเฉินที่ผู้ให้บริการสามารถใช้เพื่อช่วยชีวิตฉุกเฉิน และมีพาหนะนำส่งฉุกเฉินที่อยู่ในสภาพพร้อมไปสู่โรงพยาบาลใกล้เคียงได้ทันที หากมีภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตของผู้มาทำการล้างพิษ

โมบายแอปพลิเคชัน

 

กรมการแพทย์แผนไทยฯ


สามารถติดต่อเราผ่าน Line

 

ได้แล้ววันนี้

ติดตาม กองการแพทย์ทางเลือก

ผ่านทางโซเชียลมีเดีย​ได้ที่

       


กองการแพทย์ทางเลือก
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
อาคาร 2 ชั้น 6 และชั้น 7 กระทรวงสาธารณสุข
ถนนติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ : 02 591 7007 ต่อ 2607
โทรสาร : 02 149 5637
อีเมล์ : Thaicam2019@gmail.com

5920149
This Month : 20536
Total Users : 1529662
Views Today : 6441
Server Time : 2024-09-20