ชื่องานวิจัย : การศึกษาองค์ความรู้และประสบการณ์การจัดการป่าเพื่อให้ได้อาหารธรรมชาติจากป่าอย่างยั่งยืนของชุมชนห้วยไคร้ ตำบลเวียง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
ผู้แต่ง : มนัชยา   มรรคอนันตโชติ
ชื่อวารสาร : วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ปีที่ : 4
ฉบับที่ : 1
ปีที่วิจัย : 2006
หน่วยงาน/องค์กร/สถาบัน(หลัก) : –
บทคัดย่อไทย-อังกฤษ(Abstract) :

 

การศึกษาองค์ความรู้และประสบการณ์การจัดการป่าเพื่อให้ได้อาหารจากป่าอย่างยั่งยืนของชุมชนห้วยไคร้ ตำบลเวียง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารวบรวมความรู้ เกี่ยวกับอาหารธรรมชาติจากป่าและประสบการณ์การจัดการป่าให้ได้อาหารธรรมชาติจากป่าที่ยั่งยืนของชุมชนห้วยไคร้และศึกษาแนวทางการจัดการป่าที่ให้อาหารธรรมชาติจากป่าอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับยุคสมัยโดยใช้กระบวนการ PAR ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลจากการวิจัยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติป่าห้วยไคร้เพื่อการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน สนับสนุนทุนวิจัยโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ผู้เขียนวิทยานิพนธ์เป็นคนเดียวกันกับหัวหน้าโครงการวิจัยดังกล่าว

ผลการศึกษาพบว่า การรักษาแหล่งน้ำของชุมชนห้วยไคร้ มีผลทำให้ป่าห้วยไคร้มีความอุดมสมบูรณ์ และมีศักยภาพในการผลิตอาหารที่หมุนเวียนสลับผลัดเปลี่ยนตามฤดูกาลได้หลากหลายถึง 296 ชนิด และขึ้นทั่วไปตามระบบนิเวศของอาหารแต่ละชนิดทั้งในลำธารและบนพื้นดินซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มพืช 184 ชนิด กลุ่มสัตว์และแมลง 70 ชนิดและกลุ่มเห็ด 42 ชนิด เป็นอาหารที่พบได้ในช่วงฤดูร้อน 240 ชนิด ช่วงฤดูฝน 267 ชนิดและช่วงฤดูหนาว 246 ชนิด รวมผลผลิตต่อปีเฉพาะ กลุ่มพืชประมาณ 14 ตัน กลุ่มสัตว์และแมลงประมาณ 5 ตัน และกลุ่มเห็ดประมาณ 8 ตัน  โดยชาวบ้านมีความรู้ในการเก็บเกี่ยวอาหารจากป่าอาหารจากป่าที่ยั่งยืนถึง 25 วิธี เช่น ในกลุ่มพืชจะใช้วิธีการเด็ดเอายอด ดอกหรือใบ การขุดเอาหน่อ ในกลุ่มสัตว์และแมลงจะใช้วิธีการใช้แห้วดักการตั้งล่อ การสวมหุ่นและการขุด ส่วนในกลุ่มเห็ดจะใช้วิธีการเขี่ยดินและการถอนดึง มีวิธีแปรรูปและประกอบอาหารไม่น้อยกว่า 20 วิธี ทำให้ชุมชนส่วนใหญ่สามารถใช้อาหารจากป่าโดยเฉลี่ย 2 มื้อต่อวัน รวมทั้งมีองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพด้วยอาหารจากป่าเช่น การใช้รสเปรี้ยวแก้อาการคอแห้งหรือกระหายน้ำ รสฝาดแก้อาการท้องเดิน รสเผ็ดร้อนหรือมีกลิ่นหอมแก้ลมวิงเวียน รสขมดับพิษไข้แก้ร้อนใน และใช้รสหวานบำรุงกำลังตลอดจนการเสริมสร้างและบำรุงสุขภาพ

นอกจากระบบนิเวศตามธรรมชาติที่ทำให้ป่าห้วยไคร้ ได้อาหารสม่ำเสมอตลอดปีแล้ว ยังพบว่าชุมชนมีภูมิปัญญาในการจัดการป่าที่ชาญฉลาด ตามความรู้ ความเชื่อและประสบการณ์ โดยการกำหนดเขตป่าต้นน้ำเป็นเขตสงวนให้แยกจากเขตป่าใช้สอย มีการกำหนดกฎกติกาการใช้ประโยชน์จากป่า มีการกำหนดค่าปรับหรือการว่ากล่าวตักเตือนเมื่อกระทำผิดกติกา การป้องกันไฟป่าการดูแลรักษาระบบนิเวศ และมีแนวทางในการจัดการป่าให้ได้อาหารธรรมชาติจากป่าอย่างสม่ำเสมอและยั่งยืนให้สอดคล้องกับยุคสมัย เช่น มีการปรับปรุงแนวทางการดูแลและเก็บเกี่ยวสาหร่ายให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง การสงวนหย่อมป่าไผ่ไว้เพื่อให้ด้วงไม้ไผ่เจริญเติบโตครบวงจร กลายเป็นแหล่งแพร่กระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ การอนุรักษ์ผึ้งป่าและการเสริมการผลิตน้ำผึ้งป่าการปรับปรุงวิธีการผลิตเห็ดหล่มและเห็ดเผาะและการเพิ่มปริมาณด้วยวิธีธรรมชาติ การเพิ่มประชากรปูแป้ง การประยุกต์การสืบทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับป่าผ่านระบบโรงเรียน ซึ่งการจัดการทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานและองค์ประกอบที่ชุมชนสามารถเข้าใช้ปรโยชน์จากเขตป่าที่กันไว้ใช้สอย และชาวบ้านมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ในการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าทำให้เกิดความเป็นเจ้าของความหวงแหนและเอาใจใส่ปกป้องรักษาป่าด้วยจิตสำนึกและความรับผิดชอบ

การศึกษาครั้งนี้ จึงเท่ากับถอดบทเรียนที่ชาวบ้านได้ทดลองปฏิบัติเป็นผลสำเร็จมาเป็นเวลาร่วม 27 ปี และเป็นแนวทางในการจัดการป่าเพื่อให้ได้อาหารธรรมชาติจากป่าอย่างยั่งยืนแก่ชุมชนอื่นๆ ที่มีลักษณะและเงื่อนไขที่ใกล้เคียงกัน นำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ฟื้นฟูขนบธรรมเนียมวัฒธรรมการกิน การอยู่และสร้างรายได้เพิ่มผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งการศึกษาครั้งนี้มีเวลาน้อยเกินกว่าที่จะศึกษาติดตามผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

ลิงค์ไปยังเว็ปหลัก(เอกสารฉบับเต็ม) : –
บทความสั้น(Text): –
ลิงค์ไปยังเว็ปหลัก(บทความขนาดสั้น) : –
เจ้าของงานวิจัย : มนัชยา มรรคอนันตโชติ

โมบายแอปพลิเคชัน

 

กรมการแพทย์แผนไทยฯ


สามารถติดต่อเราผ่าน Line

 

ได้แล้ววันนี้

ติดตาม กองการแพทย์ทางเลือก

ผ่านทางโซเชียลมีเดีย​ได้ที่

       


กองการแพทย์ทางเลือก
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
อาคาร 2 ชั้น 6 และชั้น 7 กระทรวงสาธารณสุข
ถนนติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ : 02 591 7007 ต่อ 2607
โทรสาร : 02 149 5637
อีเมล์ : Thaicam2019@gmail.com

5921589
This Month : 21976
Total Users : 1531102
Views Today : 4138
Server Time : 2024-09-21