โดย : พันตำรวจโทหญิงจันทร์จรัส จันทร์จารุพงศ์
โรงพยาบาลตำรวจ
หลักการและเหตุผล
การเจ็บป่วยจากมะเร็งเต้านมและการรักษาโดยเคมีบำบัด ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อองค์ประกอบด้านต่างๆ ตามโครงสร้างของคุณภาพชีวิต ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ จิตวิญญาณ สังคมและสิ่งแวดล้อม หรือความเป็น “ องค์รวม “ ของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีพฤติกรรมใน

การแสวงหาวิธีการดูแลรักษาตนเอง เพื่อที่จะเยียวยารักษาตนเองให้หายจากโรค โดยมีแนวโน้มที่จะหันไปพึ่งความช่วยเหลือของการแพทย์ทางเลือกเสริมร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน วิธีการดูแลรักษาจึงเป็นไปในรูปแบบของการผสมผสานการแพทย์ระบบต่างๆเพื่อเสริมหรือชดเชยส่วนที่ระบบการแพทย์อื่นขาดไปหรือไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะการแพทย์ทางเลือกซึ่งเป็นวิธีการรักษาแบบองค์รวมให้ความสำคัญกับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณและปัจจัยที่สัมพันธ์กับตัวมนุษย์ มีหลักการว่าทุกส่วนของร่างกายล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ถือว่าสุขภาพจะดีได้ต่อเมื่อมีภาวะสมดุลในร่างกาย และระหว่างร่างกายกับจิตใจ ซึ่งในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับเคมีบำบัด พบว่ามีวิธีการแพทย์ทางเลือกมากมายที่ผู้ป่วยจะนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลตนเองเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการให้ครบทุกด้าน การแพทย์ทางเลือกมีอยู่กว่า 100 วิธี เช่น การทำสมาธิ การนวด การกดจุด การฝังเข็ม สมุนไพรบำบัด ธรรมชาติบำบัด โยคะ การฝึกการผ่อนคลาย และวิธีการออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสามารถดูแลตนเองได้อย่างเป็นองค์รวม ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาวิธีการส่งเสริมการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมแก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับเคมีบำบัด เพื่อเป็นทางเลือกที่ถูกต้องและเหมาะสมในการที่จะดูแลสุขภาพของตนเอง เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
วัตถุประสงค์

เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการส่งเสริมการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับเคมีบำบัด
สมมติฐานในการศึกษาวิจัย

ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับเคมีบำบัด หลังได้รับโปรแกรมการส่งเสริมการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม มีความผาสุกด้านร่างกาย ด้านสังคม / ครอบครัว ด้านอารมณ์จิตใจและด้านการปฏิบัติกิจกรรมดีกว่าก่อนทดลอง
วิธีการศึกษา

การศึกษาวิจัยแบบกึ่งทดลอง (Quasi – experimental research) มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาผลของการส่งเสริมการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับเคมีบำบัด
กลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ที่เข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัดแบบที่ให้ร่วมกันหลายชนิด คือ FAC regimen ( 5 – Fluouracil , Doxorubicin ( Adriamycin ) และ Cyclophosphamide ) แบบผู้ป่วยนอก ที่กลุ่มงานเคมีบำบัด สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เลือกโดยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 53 คน เป็นกลุ่มทดลอง 28 คน และกลุ่มควบคุม 25 คน โดยกลุ่มทดลองจะได้รับโปรแกรมการส่งเสริมการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม 3 ครั้ง ซึ่งประกอบด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด การดูแลตนเองหลังจากการรักษา หลักของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม การฝึกสมาธิเบื้องต้น การฝึกหายใจ และการนวดกดจุดคลายเครียดด้วยตนเอง ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับโปรแกรมสุขศึกษาตามปกติ

เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามวัดคุณภาพชีวิต Functional Assessment of Cancer Therapy (FACT) แบ่งเป็น 4 ด้าน คือ ความผาสุกด้านร่างกาย ความผาสุกด้านครอบครัวและสังคม ความผาสุกด้านอารมณ์ และความผาสุกด้านการปฏิบัติกิจกรรม การเก็บรวบรวมข้อมูลกระทำ 2 ครั้ง คือ ก่อนการทดลองและหลังการทดลอง ทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม และทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าเฉลี่ย ค่าสถิติ Wilcoxon signed – ranks test และค่าสถิติที (t – test independent)

ผลการศึกษาพบว่า ภายหลังการได้รับโปรแกรมการส่งเสริมการดูแลสุขภาพแบบ องค์รวม กลุ่มทดลองมีคุณภาพชีวิตทั้งทางด้านร่างกาย ด้านสังคม/ครอบครัว ด้านอารมณ์/จิตใจ และด้านการปฏิบัติกิจกรรม ดีกว่าก่อนการทดลอง และดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยเพื่อการพัฒนา

ควรทำการศึกษาวิจัยผลของโปรแกรมการส่งเสริมการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ในผู้ป่วยที่มีการเจ็บป่วยเรื้อรังอื่น เช่นผู้ป่วยโรคเอดส์ โรคเบาหวาน โรคไต หรือผู้ป่วยฉุกเฉินแต่มีระยะการรักษานานพอสมควร เช่นผู้ป่วยอุบัติเหตุที่นอนพักในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน


 

สร้างเมื่อ 16 – พ.ค.- 49

 เอกสารที่เกี่ยวข้อง
สไลด์ประกอบการนำเสนอผลงานวิชาการ (pdf)
บทคัดย่องานวิจัย (pdf)

โมบายแอปพลิเคชัน

 

กรมการแพทย์แผนไทยฯ


สามารถติดต่อเราผ่าน Line

 

ได้แล้ววันนี้

ติดตาม กองการแพทย์ทางเลือก

ผ่านทางโซเชียลมีเดีย​ได้ที่

       


กองการแพทย์ทางเลือก
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
อาคาร 2 ชั้น 6 และชั้น 7 กระทรวงสาธารณสุข
ถนนติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ : 02 591 7007 ต่อ 2607
โทรสาร : 02 149 5637
อีเมล์ : Thaicam2019@gmail.com

5920308
This Month : 20695
Total Users : 1529821
Views Today : 7413
Server Time : 2024-09-20