โดย : อ.นพ.ชนินทร์ ลีวานันท์
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟุ
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

การนวด 
เป็นสิ่งแรกที่มนุษย์เรารู้จักนำมาใช้ในการบำบัดรักษาอาการปวด ต่อมาภายหลังพบว่าการนวดยังมีประโยชน์ในการรักษาโรคอื่นบางโรคได้ เป็นการรักษาร่วม ตลอดจนการนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ Hippocrates ผู้เป็นบิดาแห่งการแพทย์แผนใหม่ยังเห็นความสำคัญและกล่าวไว้ว่าแพทย์ทุกคน

ควรมีความรู้เรื่องการนวด การแพทย์ที่ผ่านมาเรายึดถือตะวันตกเป็นแม่แบบ ปัจจุบันกระแสนิยมไทยกำลังได้รับการส่งเสริม การนวดแผนไทยหรือนวดไทยแผนโบราณจึงได้รับการฟื้นฟูจนกลับมาเป็นที่นิยมของทั้งชาวไทยและต่างชาติ และยังเป็นที่นิยมอย่างมากในสปา ซึ่งสปาที่มีชื่อเสียงมักจะต้องมีบริการนวดอยู่ด้วยไม่อย่างใดอย่างหนึ่ง และหนึ่งในนั้นก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเป็นนวดแผนไทย

การนวดคืออะไร

Graham ค.ศ.1884 ได้ให้คำจำกัดความของการนวด (massage) ว่าหมายถึงกระบวนการต่างๆที่กระทำโดยมือ เช่น friction, kneading, rolling, and percussion บนเนื้อเยื่อด้านนอกของร่างกายด้วยวิธีการต่างๆกัน เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษา ประคับประคอง หรือสุขอนามัย การนวดอาจมีความหมายว่า “การใช้มืออย่างมีสติและสัมปชัญญะ เพื่อกระทำบนร่างกายโดยมีวัตถุประสงค์ในการบำบัด” ในปี 1990 การนวดได้รับความนิยมสูงเป็นอันดับ 3 ในอเมริการองจากเทคนิคการผ่อนคลาย และไคโรแพรคเตอร์ สำหรับในประเทศไทยแม้จะยังไม่มีการเก็บข้อมูล แต่จากประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังของผู้เขียน ประมาณว่ามากกว่า 60% ของผู้ป่วยจะต้องได้รับบริการการนวดมาแล้วไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง

ประวัติการนวด

ประวัติศาสตร์การนวดนั้นมีมายาวนาน หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับการนวดพบในทวีปเอเชียนี่เอง คือที่ประเทศจีนเมื่อประมาณ 4500 ปีมาแล้ว ต่อมาญี่ปุ่นได้นำแบบอย่างวิธีการนวดมาจากจีนเมื่อประมาณ 600 ปีก่อนคริสตศักราช การแพทย์ระบบอายุรเวทของอินเดียย้อนหลังไปอย่างน้อย 500 ปีก่อนคริสตศักราชก็กล่าวถึงการดูแลสุขภาพด้วยการนวดไว้เช่นเดียวกัน ในกรีซโบราณ Hippocretes (450-377 ปีก่อนคริสตศักราช) และ Aristotle (384-322 ปีก่อนคริสตศักราช) ก็กล่าวถึงการนวดในข้อเขียนของท่านว่ามีหลายข้อบ่งชี้ ในยุคนั้นมีสถานที่ที่นิยมใช้ออกกำลังกาย นวด และอาบน้ำอยู่ร่วมกันด้วย ต่อมาในอาณาจักรโรมัน (27 ปีก่อนคริสตศักราช – ค.ศ.476) ก็ยังคงมีสถานที่เช่นนั้นอยู่ซึ่งก็เป็นคำที่ใช้มาจนปัจจุบันนี้คือ ยิมเนเซียมนั่นเอง ข้อเขียนเกี่ยวกับกรีกและโรมัน ซึ่งรวมถึงการนวดด้วย ได้ถูกกล่าวถึงอีกครั้งในยุโรปในยุคเรเนซองค์ ช่วงทศวรรษที่ 14-17 และต่อมาได้รับความสนใจในแง่ของการรักษาในประเทศต่างๆ ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน และสวีเดน จึงทำให้คำต่างๆเกี่ยวกับการนวดพื้นฐานเป็นภาษาฝรั่งเศส เช่น effurage, petrissage เป็นต้น การนวดได้รับความนิยมอย่างมากในสวีเดนจนกระทั่งมีโรงเรียนที่เปิดสอนการนวดเพื่อการบำบัด คือ The Royal Institute of Gymnastics ในกรุงสต็อกโฮม ปี 1813 และทำให้การนวดแบบ Swedish แพร่หลายไปทั้งยุโรป และอเมริกาตราบจนทุกวันนี้ สำหรับการนวดแผนไทยนับเป็นภูมิปัญญาของชาวไทยที่สืบทอดกันมาช้านาน เชื่อว่าเริ่มต้นจากความสัมพันธ์สายใยภายในครอบครัวที่ช่วยเหลือกันเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย ฟกช้ำ ด้วยการสัมผัสจับต้อง หรือกดจุดบริเวณที่มีอาการ เช่น สามีภรรยานวดให้กัน ลูกนวดให้บิดามารดา หลานนวดให้ปู่ย่าตายาย จนเกิดความชำนาญและช่วยเหลือเพื่อนบ้านต่อไป ในที่สุดก็เกิดเป็นอาชีพหมอนวดขึ้น หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยที่พบเก่าแก่ที่สุดคือศิลาจารึกสมัยสุโขทัย ช่วงที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชครองราชย์ โดยขุดพบที่ป่ามะม่วง ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การแพทย์แผนไทยเจริญรุ่งเรืองมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนวดแผนไทย มีการแบ่งกรมหมอนวดเป็นฝ่ายซ้าย-ขวา โดยปรากฏในทำเนียบศักดินาข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนที่ตราขึ้นในปี พ.ศ.1998 และจากจดหมายเหตุของราชฑูต ลา ลู แบร์ ประเทศฝรั่งเศส ครั้นมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้ปั้นรูปฤาษีดัดตนจนครบ 80 ท่า และจารึกวิชาการนวดไทยลงบนแผ่นหินอ่อน 60 ภาพ ประดับบนผนังศาลารายและบนเสาภายในวัดโพธิ์ กรมหมอนวดยังคงมีหลักฐานพบได้จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้หมอยาและหมอนวดถวายการรักษา และมีหมอนวดถวายงานทุกครั้งที่เสด็จประภาส บทบาทของหมอนวดได้หมดจากราชสำนักในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามาในสังคมไทย แต่หมอนวดชาวบ้านก็ยังคงมีอยู่ตราบถึงปัจจุบัน

วิธีการนวดพื้นฐาน

การจำแนกวิธีพื้นฐานของการนวดที่นิยมที่สุด คือใช้ระบบ Swedish โดยแบ่งเป็น 4 วิธี ได้แก่

1. Effleurage or stroking massage คือการใช้มือไล้บนผิวหนังอาจลงน้ำหนักเบา หรือแรงก็ได้ซึ่งจะให้ผลแตกต่างกัน การลงน้ำหนักแรงต่อเนื่องเป็นแนวยาวจะให้ผลทางกลศาสตร์ระดับลึก โดยออกแรงไล่จากส่วนปลายเข้าหาส่วนกลางของแขนขา หลัง และคอ แต่จากส่วนกลางออกไปส่วนปลายมักใช้แรงเบาๆ หรือไม่ลงน้ำหนักเลย วิธีการนี้จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนกลับของหลอดเลือดดำ หรือทางเดินน้ำเหลือง มักใช้ในกรณี การฟกช้ำของข้อต่อ และกล้ามเนื้อ การบวมจากปัญหาการไหลเวียนเลือดหลังผ่าตัด โรคระบบหลอดเลือดส่วนปลาย หรือ reflex sympathetic dysthrophy ถ้าลงน้ำหนักเบาในทิศทางใดๆซึ่งกระทำได้ทั่วทั้งร่างกายจะเป็นการกระตุ้น reflex และเกิดผลทางด้านจิตใจทำให้รู้สึกผ่อนคลาย โดยถ้าใช้จังหวะเร็วจะเป็นการกระตุ้น จังหวะช้าจะเป็นการผ่อนคลาย

2. Petrissage or compression massage คือการบีบเนื้อเยื่ออ่อนบนร่างกายโดยอาศัยแรงบีบระหว่าง 2 มือ หรือมือเดียวกดลงบนส่วนต่างๆ มีประโยชน์ในการช่วยเคลื่อนย้ายของเหลว และเนื้อเยื่อที่ยึดแน่น หรือสลายพังผืดของเนื้อเยื่อ และกล้ามเนื้อ โดยมีรูปแบบต่างๆกัน ได้แก่ Kneading คือ การใช้ฝ่ามือ หรือส่วนของมือกดและคลึงเป็นวงกลม Picking up คือ การกดบีบแล้วจึงจับเนื้อเยื่อดึงขึ้น ปล่อยแล้วทำใหม่ในตำแหน่งถัดไป Wringing คือ picking up แล้วจับเนื้อเยื่อขยับไปมาก่อนจึงปล่อย ซึ่งทำให้เกิดแรงเสียดทาน หรือแรงตึงอยู่ภายในเนื้อเยื่อนั้น Rolling คือ การหยิบผิวหนัง หรือรวมถึงกล้ามเนื้อด้วย ให้อยู่ระหว่าง 4 นิ้วมือกับนิ้วโป้ง แล้วไล่ม้วนส่วนเนื้อเยื่อที่หยิบขึ้นมานั้นก่อนจะปล่อย Shaking คือ การหยิบเนื้อเยื่อขึ้นมาแบบ rolling แต่ใช้วิธีการสั่นอย่างแรงไปมาแทน

3. Friction massage คือการส่งแรงเคลื่อนไหวแบบวงกลม หรือแนวขวางผ่านทางปลายนิ้ว ซึ่งมักใช้นิ้วโป้ง หรือส้นมือลงบนเนื้อเยื่อ ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ผิวเพียงเล็กที่รับแรงนั้นแต่ละครั้ง ทำให้แรงสามารถทะลุจากผิวตื้นลงไปสู่ระดับลึกได้ดี เช่น กล้ามเนื้อ เอ็น หรือพังผืดต่างๆ การออกแรงให้ถึงระดับลึกอาจรู้สึกไม่สบาย และทำให้ช้ำได้บ้าง แต่ได้ผลดีในการรักษาเอ็นอักเสบ พังผืดอักเสบ และ trigger point ของกล้ามเนื้อ

4. Tapotement or percussion massage คือการใช้มือตบ หรือลงแรงบนเนื้อเยื่อเป็นจังหวะ โดยมีรูปแบบต่างๆกัน ได้แก่ Clapping or cupping คือ การทำมือเป็นอุ้งแล้วตีลงบนร่างกาย อาจมีผ้าขนหนูหนุนไว้ก่อนตีก็ได้ ยิ่งทำมือเป็นอุ้งมากแรงสั่นสะเทือนจะลงระดับลึกกว่าทำมือแบนๆซึ่งแรงจะกระตุ้นอยู่เพียงบริเวณผิว Hacking คือ การใช้สันมือด้านนิ้วก้อยสับลงบนร่างกายมักใช้จังหวะความถี่ในช่วง 2-6 Hz ซึ่งช่วยกระตุ้นในระดับตื้น Vibrations คือ การใช้ฝ่ามือวางบนร่างกายแล้วออกแรงสั่นในทิศทางขึ้นลงด้วยความเร็ว Beating and pounding คือ กำมือหลวมๆแล้วทุบบนร่างกาย โดย beating จะหันฝ่ามือลง ขณะที่ pounding ใช้สันมือด้านนิ้วก้อยทุบ Tapping คือ การใช้ปลายนิ้วทั้ง 4 เคาะ มักกระทำบนใบหน้าซึ่งเป็นบริเวณที่บอบบาง ซึ่งเกิดผลทางด้านจิตใจมากกว่าผลทางกายภาพ

การนวดแผนไทยเพื่อการรักษา

การนวดแผนไทยเป็นเอกลักษณ์และเป็นจุดขายให้ต่างชาติต้องมาใช้บริการ ช่วยนำรายได้เข้าประเทศ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องรู้และเข้าใจ จนสามารถอธิบายได้เป็นอย่างดี ถึงความแตกต่าง และประโยชน์ของการนวดแบบไทยซึ่งพบว่าเทคนิคการนวดแผนไทยมรมากกว่าเทคนิคของการนวดตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น แต่ยังมีการยืดกล้ามเนื้อ (Stretching) ดึงข้อต่อ (Traction) และที่สำคัญคือมีการปรับดครงสร้างกล้ามเนื้อตามแนวกระดูกสันหลัง (Spinal manipulation) ซึ่งโดยส่วนใหญ่นวดแผนไทยจะแบ่งได้ 2 แบบ ได้แก่

1. การนวดแบบเชลยศักดิ์ มีจุดกำเนิดมาจากการนวดเพื่อช่วยเหลือกันเองในครอบครัวของชาวบ้านทั่วไป ดังนั้นหมอนวดจึงใช้อวัยวะอื่นในการนวดนอกจากมือ ได้แก่ ศอก ท่อนแขน ส้นเท้า เป็นต้น ส่วนท่าทางการนวดก็มีได้หลากหลายไม่เพียงแต่บีบหรือกด (compression or friction massage)13 จุดที่ปวดเมื่อยอย่างเดียว ยังมีการยืดกล้ามเนื้อ (stretching) โดยเฉพาะท่ายืดกล้ามเนื้อบ่า (upper trapezius) ที่ผู้มารับบริการมีอาการปวดอยู่บ่อยมาก การดัดกระดูกสันหลัง (spinal manipulation) โดยเฉพาะตำแหน่งของกระดูกสันหลังระดับเอว (lumbar vertebrae) ซึ่งมีอยู่หลายจังหวะทั้งท่านอนหงาย นอนตะแคง และนั่ง และดัดกระดูกสันหลังระดับอก (thoracic vertebrae) ในท่านั่งและหมอนวดใช้เข่าตนเองยันกลางหลังบริเวณสะบัก ซึ่งถ้าผู้มารับบริการไม่มีปัญหากระดูกสันหลังที่อาจเกิดอันตราย และหมอนวดมีความชำนาญเพียงพอ หลังจากนวดแล้วผู้มารับบริการจะรู้สึกสบายขึ้นทันที แต่ผู้ที่มารับบริการนวดที่มีประวัติโรคประจำตัวบางอย่างควรได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ก่อนนวดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดอันตรายได้ เช่น กระดูกสันหลังที่มีปัญหาอยู่แล้วเคลื่อนไปกดเส้นประสาททำให้เกิดอาการชา หรืออ่อนแรงหลังนวด เป็นต้น

2. การนวดแบบราชสำนัก หรือการนวดอายุรเวท (แพทย์แผนไทยประยุกต์) เป็นการนวดที่ใช้ในพระราชวัง ดังนั้นท่าต่างๆจึงต้องสุภาพ และมักนวดโดยใช้นิ้วมือกดลงบนร่างกาย (friction massage) เท่านั้น เพื่อควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป และไม่ให้เป็นที่ล่วงเกินต่อพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ โดยมีข้อปฏิบัติในการนวดที่ค่อนข้างเคร่งครัด เช่น หมอนวดต้องเดินเข่าเข้าหาผู้รับบริการเมื่อเข้าใกล้ไม่น้อยกว่า 4 ศอกจนห่างจากผู้รับบริการ 1 ศอกจึงนั่งพับเพียบ มีองศามาตราส่วนของการนวดที่ไม่ประชิดตัวมาก และจะหน้ามองตรงไม่ก้มหายใจรดผู้รับบริการ แต่ไม่เงยหน้ามากจนเป็นการไม่เคารพ

ปัจจุบันการนวดแผนไทยแบบเชลยศักดิ์เป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากมีการถ่ายทอดอย่างต่อเนื่องกันตามชุมชน ในขณะที่แบบราชสำนักมักหวงวิชา มีการถ่ายทอดกันเฉพาะในครอบครัว นอกจากนี้ผู้รับบริการจะรู้สึกว่าการนวดแบบเชลยศักดิ์มีแรงมากระทำบนร่างกายได้มากกว่า และมีลีลาท่าทางมากกว่าการนวดแบบราชสำนัก อย่างไรก็ตามเอกลักษณ์ของการนวดไทยทั้ง 2 แบบก็ยังคงความเป็นไทย กล่าวคือ ความสุภาพอ่อนโยน ก่อนนวดและหลังนวดหมอนวดจะต้องยกมือพนมเพื่อไหว้ครู และเพื่อขออภัยหากท่านวดบางท่าไม่เหมาะสม ผู้รับบริการสวมเสื้อผ้าสบาย ไม่มีการให้ถอดเสื้อผ้า และมารยาทของหมอนวดขณะที่ทำการนวดก็ต้องนวดด้วยความสำรวม

ข้อแตกต่าง

ราชสำนัก

เชลยศักดิ์

1.กิริยามารยาท เรียยร้อยมาก เดินเข่าเข้าหาผู้รับบริการ ไม่หายใจรดผู้รับบริการหรือเงยหน้ามาก จนเป็นที่ไม่เคารพ เป็นกันเองกับผู้รับบริการมากกว่า บางคราวจึงอาจดูไม่สำรมมากนัก
2.การเริ่มนวด มักเริ่มนวดตั้งแต่หลังเท้าขึ้นไป เริ่มนวดที่ฝ่าเท้า
3.อวัยวะที่ใช้นวด เฉพาะมือ นิ้วหัวแม่มือ และปลายนิ้วอื่นๆ ใช้ได้ทั้มือ ศอก ท่อนแขน เข่า ส้นเท้า
4.ท่าทางของแขน ต้องเหยียดตรงเสมอ ตรงหรืองอศอกก็ได้
5.การลงน้ำหนัก ใช้การกดเท่านั้น มีทั้งกดและนวดคลึง
6.ท่าของผู้รับบริการ มีท่านั่ง นอนหงาย และนอนตะแคงเท่านั้น ไม่มีท่านอนคว่ำเลย ตามแบบราชสำนัก แต่มีท่านอนคว่ำด้วย
7.การดัด ไม่ใช้ มีการดัด ดึง ข้อต่อ หลังด้วย
8.ความรู้ทางกายวิภาค มีความรู้อย่างดีพอสมควร อาจไม่มีความรู้ดีพอ แต่ปัจจุบันหลักสูตรที่สอนตามสถาบันต่างๆ ได้สอดแทรกเพิ่มเติม

ประโยชน์ของการนวด

1. การนวดเพื่อสุขภาพ หรือการนวดเพื่อผ่อนคลาย ผู้ที่มารับบริการนวดนั้น ส่วนหนึ่งเป็นคนปกติทีไม่มีโรคใดๆชัดเจน เพียงแต่มีอาการเมื่อยล้าเป็นธรรมดาเนื่องจากเดินทางไกล ทำงานหนัก หรืออยู่ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งนานๆ จึงมาขอรับบริการนวดเพื่อผ่อนคลายเท่านั้น หลังจากนวดแล้วผู้รับบริการจะรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย แจ่มใสและกระฉับกระเฉงขึ้น

2. การนวดเพื่อการรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพ ผลจากการนวดที่ใช้ในการบรรเทาอาการ หรือรักษาโรคได้นั้น เกิดจากปฎิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อการนวดดังนี้คือ ผลทางกลศาสตร์ (Mechanical effects) เป็นผลที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือที่สุด สามารถเข้าใจได้ง่าย และวัดผลได้จริง การนวดทำให้มีการเคลื่อนไหวของใยกล้ามเนื้อ ช่วยยืดเนื้อเยื่อที่ยึดติดกันอยู่ให้ลดความตึงตัวลง ทำให้คลายจุดปวดเมื่อยได้เป็นอย่างดี และยังช่วยบีบไล่หลอดเลือด และท่อน้ำเหลือง ทำให้การไหลเวียนของโลหิตและน้ำเหลืองดีขึ้น พาเลือดใหม่ไปไล่ของเสียออกจากบริเวณที่มีปัญหา การกดเบาๆบริเวณผิวหนังจะเพิ่มการไหลเวียนของเลือดเฉพาะที่นั้น แต่ถ้านวดลงแรงมากขึ้นจะไปเพิ่มการไหลของเลือดดำโดยเฉพาะในระดับตื้น และส่งผลสืบเนื่องไปเพิ่มการไหลเวียนของเลือดแดงต่อไป ส่วนการไหลของน้ำเหลืองพบว่าการนวดเพิ่มการไหลของน้ำเหลืองได้ 7-10 เท่า การนวดระดับลึกยังส่งผลต่อพังผืดและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอีกด้วย จึงสามารถแก้ไขการจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อ ข้อยึดติดที่ไม่รุนแรง และแผลเป็นได้ ผลทางระบบประสาทและรีเฟล็ก (Neural reflex effects)เป็นการกระตุ้นที่ peripheral receptor เกิดปฏิกิริยาโดยตรงของบริเวณที่ถูกนวด ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว และยังส่งกระแสประสาทไปตามเส้นประสาทขนาดใหญ่ (beta nerve fiber) ไปยังประสาทไขสันหลัง และสมอง ซึ่งสามารถยับยั้งอาการปวดได้ ซึ่งความปวดจะส่งกระแสประสาทวิ่งไปตามเส้นประสาทขนาดเล็ก ผลเช่นนี้อธิบายตามทฤษฎีการควบคุมประตูรับความรู้สึก (Melzack and Wall’s gate control theory) การนวดสามารถเพิ่มความทนทานต่ออาการปวดได้ดีขึ้น ดังนั้นแม้ว่าอาการปวดยังมีระดับคงเดิมก็จะไม่ปวดเหมือนเดิมแล้วเพราะมีความทนทานมากขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้การนวดอาจกระตุ้นให้มีการหลั่ง endorphins ช่วยให้ผู้รับบริการรู้สบายได้อีกทางหนึ่ง มีรายงานว่าการนวดสามารถลดอาการปวดได้โดยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารลดปวดชนิดหนึ่งชื่อ enkephalins ผลทางจิตใจ (Psychological effects) การนวดในบรรยากาศที่สบายในสปาทำให้รู้สึกผ่อนคลายและสบาย ลดความวิตกกังวล ลดความตึงเครียดของจิตใจ และส่งผลกลับไปช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคได้อีก ซึ่งเป็นผลร่วมกันของจิตใจระบบประสาทและภูมิต้านทานโรค (psyconeuroimmunilogy) นอกจากนี้การนวดยังช่วยให้หลับดีขึ้นอีกด้วย

คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานและกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาการแพทย์แผนไทย ประเภทนวดไทย ได้กำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาการแพทย์แผนไทย ประเภทนวดไทยไว้ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับ 1 สามารถนวดผ่อนคลาย และรู้ข้อควรระวังและข้อห้ามในการนวด ระดับ 2 สามารถนวดผ่อนคลาย นวดเท้าเพื่อสุขภาพ และบรรเทาอาการปวดโดยทั่วไปได้ 10 โรค และรู้ข้อควรระวังและข้อห้ามในการนวด ซึ่งโรคทั่วไป 10 โรคก็คืออาการปวดศีรษะ และปวดระบบกล้ามเนื้อข้อต่อกระดูกตามส่วนต่างๆของร่างกาย ระดับ 3สามารถนวดรักษาโรค และสามารถวินิจฉัยโรคตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย รู้ข้อควรระวังและข้อห้ามในการนวด โดยแบ่งความรุนแรงและความสามารถในการรักษาออกเป็น 3 กลุ่มโรค คือ ก. กลุ่มที่รักษาแล้วหายขาด คือกลุ่มโรคที่การนวดไทยสามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่วนใหญ่ ได้แก่ โรคทางระบบกล้ามเนื้อกระดูก เช่น myofascial pain syndrome, frozen shoulder, neck sprain, back sprain ข. กลุ่มที่รักษาเพื่อบรรเทาอาการ คือกลุ่มโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพ หรือทำให้อาการทุเลาลงได้ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น ปวดข้อต่างๆเรื้อรัง (โดยปกติการนวดจะเน้นไปยังอวัยวะรอบๆข้อ ซึ่งในการปวดข้อเรื้อรังอวัยวะเหล่านี้มักจะมีปัญหาที่เป็นสาเหตุร่วมของอาการปวด) สมรรถภาพทางเพศชายหย่อน เป็นต้น ค. กลุ่มที่นวดเพื่อป้องกันหรือแก้ไขโรคแทรกซ้อน คือโรคที่ค่อนข้างรุนแรง อาการมาก โอกาสดีขึ้นมีน้อย แต่มักจะเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นตามมาอีก กลุ่มโรคนี้ ได้แก่ Parkinson’s disease, hemiparesis / hemiplegia, paraparesis/paraplegia, cerebral palsy การนวดทำให้อาการเกร็งลดลง และการดัดดึงช่วยป้องกันข้อติด

ข้อห้าม/ข้อควรระวังสำหรับการนวดทั่วไป

ข้อห้ามต่างๆ ผู้นวดต้องทราบอย่างขึ้นใจเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย หรือผลแทรกซ้อนอันไม่พึงปรารถนา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเรามักห้ามนวดเฉพาะบริเวณที่จะเกิดอันตรายเท่านั้น ที่พึงระลึกไว้เสมอด้วยคือการนวดส่วนใหญ่จะมีการดัดดึงส่วนต่างๆของร่างกายร่วมด้วยโดยเฉพาะการนวดแบบเชลยศักดิ์ จึงควรมีแพทย์ หรือผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดีคัดเลือกผู้ที่จะเข้ารับบริการนวด เพื่อดูทั้งข้อบ่งชี้ และข้อห้าม โดยเฉพาะข้อห้าม/ข้อควรระวังดังต่อไปนี้ ซึ่งถ้าทราบก่อนการนวดจะสามารถช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์ได้ 1. การบาดเจ็บหรือเลือดออกที่เพิ่งเป็นใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้มีเลือดออกซ้ำในบริเวณนั้นได้ 2. บริเวณที่มีความผิดปกติของระบบหลอดเลือด เช่น varicosis, thrombosis, ulceration, หรือ artherosclerotic plaque ซึ่งสามารถทำให้มี thrombi ไปยังบริเวณอื่นอันอาจจะก่อให้เกิด pulmonary, cerebral, หรือ peripheral embolic infarcts ได้ 3. ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด ซึ่งรวมถึงการได้รับยา anticoagulant ด้วย การนวดที่รุนแรงอาจทำให้เกิด echymosis หรือ hematoma ได้ 4. บริเวณที่มีรอยโรคบนผิวหนังที่ยังไม่หายสนิทดี จะทำให้แผลแยกได้ และอาจมีการติดต่อของเชื้อโรคผ่านทางน้ำเหลืองมาถึงตัวผู้นวดได้อีกด้วย 5. บริเวณที่มีการติดเชื้อ เพราะอาจจะทำให้มีการแพร่กระจายของเชื้อโรค 6. บริเวณที่มีการอักเสบ ซึ่งการนวดจะทำให้มีการอักเสบมากยิ่งขึ้น ทางแพทย์แผนไทยจะทดสอบโดยเอาปูนแดงทา หากบริเวณใดที่ไม่แห้งมีลักษณะเป็นเงาเยิ้ม แสดงว่าบริเวณนั้นมีการอักเสบ6 7. กระดูกหักที่ยังติดไม่ดี การนวดแรงเกินไปอาจเป็นเหตุให้มีการหักซ้ำได้ 8. บริเวณที่เป็นมะเร็ง เนื่องจากเซลล์มะเร็งอาจจะกระจายไปยังอวัยวะอื่นได้ 9. บริเวณที่เปลี่ยนข้อต่อ ควรทำด้วยความระมัดระวัง และผู้นวดต้องรู้การเคลื่อนไหวในองศาที่จะทำได้เป็นอย่างดี 10. ผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือในการนวด 11. มีไข้มากกว่าหรือเท่ากับ 38.5 องศาเซลเซียส ในขณะที่จะนวด

ข้อห้าม/ข้อควรระวังสำหรับการนวดเชลยศักดิ์

เนื่องจากการนวดเชลยศักดิ์มีท่าทางเฉพาะที่อาจเกิดอันตรายได้ คือมีการดัดกระดูกสันหลัง การลงน้ำหนักโดยใช้แรงค่อนข้างมาก เช่น ใช้ศอก เท้า ช่วยในการนวดดังนั้นนอกจากจึงต้องมีข้อห้ามข้อควรระวังเพิ่มจากที่กล่าวมาข้างต้น ได้แก่ 1. กระดูกพรุนรุนแรง ผู้ป่วยมักมีประวัติล้มแล้วกระดูกหัก หรือต้องกินยารักษากระดูกพรุนอยู่ ถ้านวดแรงเกินไปผู้ป่วยก็มีโอกาสที่กระดูกหักได้ง่ายดาย 2. โรค Multiple myeloma ทำให้กระดูกมีความเปราะบางคล้านกระดูกพรุน 3. การติดเชื้อในกระดูก ทำให้บริเวณนั้นหักง่าย 4. เนื้องอกที่กระดูก 5. โรคทางระบบประสาทโดยเฉพาะไขสันหลังที่ยังมีอาการชัดเจน และแย่ลงเรื่อยๆ 6. เนื้องอกไขสันหลัง 7. เส้นประสาทไขสันหลังถูกกดทับจากสาเหตุต่างๆ เช่น หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ช่องกระดูกสันหลังตีบแคบ กระดูกสันหลังเคลื่อน กระดูกสันหลังหักยุบตัว เป็นต้น เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายซ้ำซ้อนหนักขึ้นไปได้ 8. ข้อต่อหลวม เช่น ผู้ป่วยไธรอยด์ต่ำ หญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้ข้อหลุดหรือเคลื่อนได้ 9. โรคข้อรูมาตอยด์ เพราะผู้ป่วยเหล่านี้ข้อที่มีอาการ จะค่อนข้างแข็ง ขาดความยืดหยุ่น แต่เปราะ ถ้าดัดแรงๆก็อาจหักได้ 10. โรคกระดูกสันหลังแข็งเหมือนลำไม้ไผ่ กระดูกสันหลังจะแข็ง แต่เปราะ จึงหักได้ง่าย 11. ผู้ที่ยังไม่ได้รับการประเมินและตรวจร่างกายอย่างเพียงพอ เพราะบางโรคข้างต้นยังไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยเองก็ไม่รู้ตัว หลายกรณีที่สามารถตรวจเจอได้ก่อนนวด จึงสามารถระมัดระวังได้ขณะทำการนวด 12. ผู้นวดที่ประสบการณ์ยังน้อย ก็ไม่ควรทำการดัดกระดูกสันหลัง

อาการไม่พึงประสงค์หลังนวด

อาการที่ไม่พึงประสงค์ทีเกิดขึ้นหลังนวดสามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ผู้ให้บริการที่ขาดความชำนาญ ไม่ได้รับการอบรมฝึกฝนมาในวิธีการนวดนั้นๆ ไม่ทราบแน่ชัดหรือไม่ได้ซักประวัติว่าผู้รับบริการมีอาการอื่นๆมาก่อนหรือไม่ ไม่ยอมลดน้ำหนักลงแม้ว่าผู้รับบริการจะแจ้งว่าเจ็บเกินทน ก็จะเป็นการเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดผลแทรกซ้อน หรืออาการไม่พึงประสงค์หลังนวด สำหรับสาเหตุจากผู้รับบริการก็มาจากการที่ผู้รับบริการมีความวิตกกังวล ไม่ผ่อนคลายขณะนวด มานวดครั้งแรกและไม่ได้รับการบอกรายละเอียดขั้นตอนการนวดเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมขณะนวด เช่น หากมีอาการเจ็บเกินทน ควรรีบแจ้งผู้ให้บริการทันทีเพื่อลดแรงลง มีโรคหรือความผิดปกติอยู่โดยมิได้แจ้งผู้ให้บริการนวด ผู้รับบริการนั้นก็อาจเกิดอาการมาพึงประสงค์ได้ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับคือ 1. ระดับไม่รุนแรง อาการแทรกซ้อนระดับนี้เป็นอาการที่สามารถหายได้เองใน 2-3 วัน ไม่ต้องการการรักษาทางการแพทย์ที่ยุ่งยากมากนัก ผู้รับบริการสามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ ได้แก่ ก. การถูกกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติมากเกินไป เมื่อนวดบริเวณแนวกระดูสันหลัง อาจมีอาการความดันต่ำลง ขนลุก เหงื่อแตก ซึ่งถ้าเป็นบริเวณคอก็อาจมีอาการ มึนศีรษะ หน้ามืด ศีรษะหวิว ตาลาย ถ้าเป็นบริเวณเอวก็อาจเกิดความผิดปกติของประจำเดือนได้ ข. อาการระบม หรือรู้สึกไม่สบายตามร่างกาย จากกล้ามเนื้ออักเสบเล็กน้อยเพราะลงแรงในการนวดมากเกินไป 2. ระดับปานกลาง ระดับนี้จะมีอาการเกิน 7 วัน แต่ไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล อาจได้รับการรักษาหรือแนะนำบางประการก็สามารถหาย เช่น ระบมจุดนวดเกิน 7 วัน 3. ระดับรุนแรง อาการแทรกซ้อนระดับนี้เป็นเหตุให้ผู้รับบริการเกิดความเจ็บป่วยถึงขั้นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ มีรายงานถึงความพิการจนถึงเสียชีวิต แม้ว่าจะเกิดน้อยเพียง 1 ต่อ 1-1.5 ล้านคนก็ตาม ส่วนมากมักเกิดจากการที่มีการดัดกระดูกสันหลังร่วมด้วย ผลแทรกซ้อนดังกล่าว ได้แก่ อัมพาตจากโรคทางหลอดเลือดสมอง อัมพาตจากการบาดเจ็บไขสันหลัง รากประสาทไขสันหลังส่วนล่าง (แส้ม้า) บาดเจ็บ หัวใจล้มเหลว และแม้แต่เสียชีวิตก็เคยมีรายงานในต่างประเทศ36 ซึ่งมักเกิดจากเทคนิคไม่ถูกต้อง หรือวินิจฉัยผิด

สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดที่พบบ่อยมากที่สุดคือ ปวดหลัง ซึ่งมักเป็นปัญหาเรื้อรัง และไม่ค่อยพึงพอใจกับการรักษาทางแผนปัจจุบัน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่หันมาหาการรักษาในแนว CAM ที่มีการให้บริการส่วนใหญ่ใน medical spa การทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับผลการรักษาความปลอดภัย และค่าใช้จ่ายของการฝังเข็ม นวดเพื่อรักษา และการปรับโครงสร้างร่างกายในผู้ป่วยปวดหลัง โดยคัดเลือกงานวิจัยที่เป็น RCTs เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ปี 1995 โดยพบงานวิจัยที่เกี่ยวกับการฝังเข็ม 20 RCTs นวด 3 RCTs และการปรับโครงสร้างร่างกาย 26 RCTs สรุปว่าการนวดมีหลักฐานน่าเชื่อถือที่สุดถึงประสิทธิผล การปรับโครงสร้างร่างกายให้ผลไม่แตกต่างมากนักกับการรักษาโดยทั่วไป ส่วนการฝังเข็มให้ผลการรักษาไม่ค่อยชัดเจนนัก ในด้านความปลอดภัยพบว่าทั้ง 3 วิธีการรักษาปลอดภัยใกล้เคียงกัน ส่วนในเรื่องค่ารักษาสรุปได้ว่าการนวดช่วยลดค่ารักษาได้ ในขณะที่ฝังเข็ม และการปรับโครงสร้างร่างกายไม่ลด

บทสรุป

การนวดนั้นมีประโยชน์อย่างมากมายดังกล่าวมาแล้วทั้งการผ่อนคลายร่างกาย จิตใจ และรักษาโรค หรือฟื้นฟูสมรรถภาพ แต่ก็มีหลายกรณีที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังนวด ดังนั้นจึงควรให้ผู้รับบริการที่สงสัยว่าอาจเกิดอันตรายจากการนวด ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แผนปัจจุบันก่อน และผู้ให้บริการเองก็ควรเรียนรู้วิธีการคัดกรองผู้รับบริการก่อนนวด เพื่อให้เกิดประโยชน์และปลอดภัยสูงสุด

การนวดแผนไทยเองก็เป็นการนวดหนึ่งที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ที่สำคัญยังเป็นการอนุรักษ์มรดกความเป็นไทยซึ่งมีประวัติมายาวนานและมีลักษณะเด่นเฉพาะตัว สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ และกระแสความนิยมของการหันกลับมาใช้ธรรมชาติบำบัดที่เพิ่มขึ้น ขณะนี้รัฐบาลได้ตอบรับกระแสความต้องการดังกล่าวโดยจัดตั้งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกขึ้น ทำให้การนวดที่เป็นมรดกของเราได้รับการเจียรนัยเป็นเพชรน้ำเอกเม็ดใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข34 และมีการจัดทำมาตรฐานทั้งของผู้ให้บริการนวด สถานประกอบการนวด ตลอดจนสปา เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและยกระดับสู่สากลต่อไป

 


การสัมมนาวิชาการแพทย์ทางเลือก ครั้งที่ 2
เรื่อง “การดูแลผู้ป่วยปวดหลัง ปวดเอวด้วยการแพทย์ผสมผสาน”
วันที่ 23-24 มีนาคม 2549 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ

 

สร้างเมื่อ 28 – มี.ค.- 49

เอกสารที่เกี่ยวข้อง
สไลด์ประกอบการบรรยาย “Thai Traditional Massage for Back Pain” (pdf)
เอกสารประกอบการบรรยาย “Thai Traditional Massage for Back Pain” (pdf)

โมบายแอปพลิเคชัน

 

กรมการแพทย์แผนไทยฯ


สามารถติดต่อเราผ่าน Line

 

ได้แล้ววันนี้

ติดตาม กองการแพทย์ทางเลือก

ผ่านทางโซเชียลมีเดีย​ได้ที่

       


กองการแพทย์ทางเลือก
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
อาคาร 2 ชั้น 6 และชั้น 7 กระทรวงสาธารณสุข
ถนนติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ : 02 591 7007 ต่อ 2607
โทรสาร : 02 149 5637
อีเมล์ : Thaicam2019@gmail.com

5919794
This Month : 20181
Total Users : 1529307
Views Today : 4305
Server Time : 2024-09-20