โดย : มานพ ประภาษานนท์
นักกายภาพบำบัด รพ.สรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี
การปรับสมดุลโครงสร้างร่างกายอาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับหลายๆ คนไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพได้อย่างไร แต่การปรับสมดุลโครงสร้างร่างกายนี้เป็นเรื่องสำคัญส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของการมีสุขภาพดี เพราะเป็นพื้นฐานในการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายของเรา

การปรับสมดุลโครงสร้างร่างกายกับการสร้างสุขภาพ

ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นที่อวัยวะเสื่อมคุณภาพ ถ้าสามารถทำให้อวัยวะนั้นแข็งแรงขึ้นได้ การทำงานของอวัยวะจะทำได้ดีขึ้นตามไปด้วย การที่จะทำให้อวัยวะแข็งแรงขึ้นต้องมีการส่งสารอาหารที่จำเป็นและมีการลำเลียงของเสียออกจากอวัยวะไปทิ้งอย่างสะดวก ซึ่งในการนี้ต้องอาศัยเลือดเป็นตัวนำพาไป เลือดจะไหลเวียนได้สะดวกย่อมต้องไหลไปตามหลอดเลือดที่ยืดหยุ่นดีมีประสิทธิภาพสูง หลอดเลือดทั้งหลายล้วนอยู่ภายในเนื้อเยื่อของร่างกาย ถ้าเนื้อเยื่อต่างๆ มีความสามารถบีบตัวได้ดี ก็จะนำพาเลือดให้ไหลเวียนไปได้อย่างปกติ ระบบการไหลเวียนเลือดที่เป็นหัวใจสำคัญจึงต้องพึ่งพาระบบกล้ามเนื้อด้วย กล้ามเนื้อที่ดีมีคุณภาพจะต้องอยู่ในโครงสร้างร่างกายที่ถูกต้องตามแนวปกติ ซึ่งโครงสร้างร่างกายที่สำคัญคือโครงกระดูกที่เป็นแกนของร่างกายนั่นเอง ถ้าทุกอย่างเป็นเช่นนี้สุขภาพของเราจะดีขึ้นได้อย่างเป็นระบบ

แต่เมื่อใดที่โครงสร้างร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระดูกสันหลังมีการเบี่ยงเบนคดโค้งไปจากแนวปกติ กล้ามเนื้อต่างๆจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปด้วย ทำให้การทำงานไม่สะดวกเหมือนเดิม ขณะเดียวกันหลอดเลือดที่อยู่ในกล้ามเนื้อก็จะเปลี่ยนทิศทางไป อาจมีการกดทับหรือยืดหลอดเลือดมากเกินไป ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เป็นผลให้การทำงานส่งกำลังบำรุงและการนำของเสียออกจากอวัยวะที่ไปเลี้ยงนั้นทำได้ไม่เต็มที่ อวัยวะนั้นก็จะเสื่อมคุณภาพไปทีละน้อย นานวันเข้าก็เสื่อมจนเกิดอาการเจ็บป่วยออกมาให้เราเห็นได้

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ทางแก้ไขหรือรักษาให้อวัยวะแข็งแรงขึ้นทางหนึ่งคือ เราต้องจัดโครงสร้างร่างกายให้อยู่ในแนวปกติ หรือป้องกันไม่ให้เกิดการเบี่ยงเบนไปมากขึ้น ซึ่งจะทำได้อย่างง่ายๆด้วยตัวผู้ป่วยเอง แต่ต้องใช้เวลาพอสมควรเช่นเดียวกับการเกิดโรคที่ใช้เวลาคดโค้งมานานก่อนเกิดอาการ การปรับสมดุลโครงสร้างร่างกายจึงมีความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติทันที

สาเหตุของโครงสร้างเบี่ยงเบน

1. กรรมพันธุ์2. อุบัติเหตุ3. การใช้ท่าทางในอิริยาบถต่างๆสาเหตุสำคัญที่พบบ่อยและเป็นปัญหาในผู้ป่วยเบาหวาน คือ การใช้ท่าทางที่ไม่ถูกต้องเป็นประจำ จนทำให้โครงสร้างร่างกายค่อยๆ เบี่ยงเบนไปทีละน้อย สร้างความเสื่อมให้กับตับอ่อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ

วิธีการปรับสมดุลโครงสร้างร่างกาย

1. การนวดเนื้อเยื่อ

โครงสร้างร่างกายที่คดโค้งมานาน เนื้อเยื่อจะมีการติดยึดหดสั้นและยืดยาวเกินไปในเนื้อเยื่อต่างๆ ทั้งร่างกาย แต่เนื้อเยื่อที่อยู่บริเวณใกล้กับกระดูกที่คดนั้นจะมีความสำคัญมาก เพราะมันดึงกระดูกไว้ไม่ให้เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ การจะจัดกระดูกให้เข้าที่เดิมตามปกติจะทำได้ยาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องลดความตึงของเนื้อเยื่อเหล่านั้นเสียก่อน จึงจะสามารถจัดกระดูกปรับสมดุลร่างกายได้ง่ายขึ้น ดังนั้นการนวดจึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะใช้ในการผ่อนคลายลดความตึงของเนื้อเยื่อได้ และควรนวดทั้งตัวเพื่อปรับความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อทั้งหมด เนื่องจากเนื้อเยื่อมีความเกี่ยวพันกันตลอดทั้งร่างกาย ถ้าเนื้อเยื่อถูกทำให้ผ่อนคลายได้ทุกส่วนจะทำให้การปรับสมดุลร่างกายทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. การจัดกระดูกให้อยู่ในแนวปกติ

หลังจากตรวจโครงสร้างร่างกายทราบว่าผู้ป่วยมีส่วนใดที่คดโค้ง การจัดกระดูกและกล้ามเนื้อส่วนที่คดโค้งนั้นให้เข้าสู่แนวปกติจะต้องกระทำ การจัดกระดูกแบบนี้อาจใช้วิธีการดัด ซึ่งมีทั้งการดัดอย่างนุ่มนวลและการดัดอย่างฉับพลัน ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น นักกายภาพบำบัดเป็นผู้กระทำให้ผู้ป่วยจึงจะมีความปลอดภัยและได้ผลดังที่ต้องการ ไม่ควรให้ผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญกระทำการดัด เพราะอาจเกิดอันตรายได้ แต่ถ้าดัดโดยผู้เชี่ยวชาญได้จะช่วยให้การปรับสมดุลโครงสร้างประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น

3. การใช้ท่าบริหารปรับสมดุล

นี่เป็นวิธีที่ปลอดภัยและผู้ป่วยสามารถทำได้ด้วยตนเอง ถือเป็นวิธีสำคัญที่ต้องเน้นให้ผู้ป่วยปฏิบัติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งความต่อเนื่องนี่เองที่จะช่วยให้โครงสร้างร่างกายเริ่มกลับเข้าสู่แนวปกติได้อีกครั้ง การบริหารด้วยท่าบริหารที่ถูกต้องเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนจะช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้น แต่การใช้ท่าบริหารที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดอาการมากขึ้นได้ ดังนั้นการคัดเลือกท่าบริหารสำหรับผู้ป่วยแต่ละคนเป็นเรื่องสำคัญ นักกายภาพบำบัดสามารถช่วยเลือกท่าบริหารที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยได้

วิธีการใช้ท่าบริหารร่างกายนี่ละที่เราสามารถทำได้ด้วยตนเอง และดูจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการจัดกระดูกปรับโครงสร้างร่างกายเสียด้วย เนื่องจากการใช้ท่าบริหารจะเป็นท่าที่ยืดหยุ่นกระดูกและเนื้อเยื่อได้ดีมาก

ขณะที่ทำท่าบริหารเนื้อเยื่อจะถูกยืดออกไปพร้อมกับแนวกระดูกสันหลังถูกปรับให้เข้าที่ ดังนั้นท่าบริหารเพื่อแก้ไขโครงสร้างจะต้องเหมาะสมกับลักษณะการคดของกระดูกสันหลังด้วย อย่าเพียงจำแต่ท่าแล้วเอาไปทำ นอกจากจะไม่ได้ผลอาจเป็นมากขึ้นอีกด้วย

การใช้ท่าบริหารที่ถูกต้องจะช่วยให้เนื้อเยื่อผ่อนคลายได้เร็ว และกระดูกสันหลังมีความยืดหยุ่นคล่องตัวสูงขึ้น การปรับท่าทางจะทำได้ง่าย และเมื่อปรับท่าทางได้ง่ายก็หมายความถึงการจัดตำแหน่งของโครงสร้างร่างกายได้ง่ายขึ้นด้วย

ท่าบริหารเพื่อแก้ไขโครงสร้างที่ผิดปกตินั้นมีความซับซ้อนที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจประเมินให้ อาจปรึกษานักกายภาพบำบัดก็ได้ เขาจะช่วยเลือกท่าบริหารให้เหมาะสมกับการคดของร่างกายเราได้เป็นอย่างดี

ส่วนการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพนั้นเรามีท่าบริหารที่ทำได้ทันที ท่าบริหารที่เน้นไปที่การยืดหยุ่นเนื้อเยื่อ เช่น ฤาษีดัดตน ไทยปราณ หรือท่าโยคะอาสนะ เราทุกคนสามารถนำมาใช้ได้ทันที มีแต่ผลดีไม่มีผลเสียถ้าทำได้อย่างพอเหมาะพอดี

ขอเสนอท่าบริหารเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน รักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างร่างกายให้อยู่ในแนวสมดุลปกติมาฝาก อันนี้เป็นท่าพื้นฐานที่ทำได้ทุกคน ทำได้ทันที ควรแนะนำให้ผู้ป่วยฝึกทำเสมอๆ และนี่คือ 3 ท่าปรับสมดุลร่างกาย

ท่าที่ 1 ยืดกระดูกสันหลังให้ยาวออก

นั่งขัดสมาธิตัวตรง (ตัวไม่แอ่นนะ แค่ตรงอย่างสบายๆเท่านั้น) จากนั้นยื่นมือทั้งสองข้างวางบนพื้นตรงหน้า ก้มตัวลงตรงสะโพก ไถมือไปข้างหน้าจนไปไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตัวแนบลงกับพื้น ศีรษะวางหน้าผากแตะพื้น ยืดคอให้มาก เมื่อถึงจุดที่ตึงที่สุดแล้วให้ค้างอยู่ที่ตำแหน่งนั้น ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย เหมือนว่าเราจะนอนหลับอยู่ในท่านี้ ปล่อยร่างกายให้พักในท่านี้สักครู่หนึ่ง (อาจจะ 30 วินาที แต่ถ้าไม่ไหวก็พอก่อนได้) แล้วจึงค่อยๆยืดตัวขึ้นกลับมานั่งตรงเช่นเดิม

ระหว่างที่ทำท่านี้ ในขณะที่ผ่อนคลายเราจะรู้สึกตึงที่สันหลัง คอ สะโพก ต้นขา เข่า ก็ปล่อยให้ตึงไว้ถูกแล้ว เนื้อเยื่อบริเวณที่ตึงนั้นจะถูกยืดออก ท่านี้ต้องการยืดกระดูกสันหลังให้ยาวออกเป็นหลัก แต่จะมีผลดีในการยืดเนื้อเยื่อส่วนอื่นไปพร้อมกันด้วย

การเริ่มต้นด้วยท่านี้จะง่าย แต่บางคนก็ยังทำไม่ได้ก็ให้ประยุกต์ท่าได้ เช่น ถ้าตึงหัวเข่ามากจนก้มไม่ลง ก็ขยับขยายเข่าออกไปไม่นั่งท่าขัดสมาธิก็ได้ แต่ให้ยืดสันหลังให้มากก็ใช้ได้หรือบางคนจะเริ่มต้นด้วยการนั่งแบบคุกเข่าไหว้พระก่อนก็ได้แล้วจึงยืดตัวออกไป เหล่านี้ปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพ ขอให้รู้ว่าจุดประสงค์หลักต้องการให้กระดูกสันหลังยืดยาวออกมากที่สุดก็ใช้ได้

จากท่านี้เราสามารถเพิ่มการบริหาร โดยการยืดเหยียดมือทั้งสองไปทางด้านข้างให้ลำตัวโค้งมากที่สุด ซึ่งจะช่วยดัดกระดูกสันหลังให้เคลื่อนไปทางด้านข้างทั้งซ้ายและขวา โดยใช้หลักการเดียวกัน

ยังมีอีกท่าหนึ่งที่เริ่มจากท่านี้ แต่แทนที่เราจะยืดตัวออกไปให้ไกลที่สุด ก็ให้เราก้มคอลงคางจรดอก แล้วม้วนกระดูกสันหลังลง เหมือนจะเอากลางศีรษะวางบนพื้น ผ่อนคลายกระดูกสันหลังลงไปเท่าที่จะทำได้ ท่านี้ช่วยเคลื่อนไหวกระดูกสันหลังทุกข้อ ข้อไหนติดแข็งเราจะรู้ได้ทันที ท่านี้ดีเหมือนกัน

ข้อควรจำ ขณะทำการบริหารเหล่านี้ จะต้องไม่มีการเจ็บปวดเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย จะมีแต่ความตึงเท่านั้น ตึงมากที่สุดก่อนถึงปวด ถ้าจะเรียกว่าปวดก็เป็นปวดแบบตึงๆเล็กน้อย ไม่ใช่ปวดแบบบาดเจ็บ แบบนี้ใช้ได้ และการหย่อนคลายกล้ามเนื้อทั้งตัวถือเป็นเคล็ดลับสำคัญต้องทำให้ได้ เพราะถ้ากล้ามเนื้อไม่หย่อนมันจะยืดไม่ได้ดีเท่าที่ควร

ท่าที่ 2 บิดตัวเป็นเกลียว

นั่งขัดสมาธิ ตัวตรง จากนั้นบิดตัวไปทางซ้ายให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเริ่มจากบิดลำตัว บิดไหล่และหมุนคอหันหน้าไปด้านหลัง อาจใช้มือขวาจับที่ต้นขาซ้าย เพื่อส่งแรงไปถึงไหล่ ไหล่จะบิดได้มากขึ้น ขณะเดียวกันมือซ้ายไขว้หลังมาจับต้นขาขวาไว้ ช่วยดึงไหล่ซ้ายให้บิดมากขึ้น แต่ถ้าไขว้มือมาไม่ถึงก็ไม่เป็นไรนะครับ เอาแค่ทำได้มากที่สุดก็พอ ตัวตรงยืดอกตรงไว้ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ยกเว้นออกแรงที่มือดึงไว้ จากนั้นค้างอยู่ในท่านี้สักครู่ (30 วินาทีถ้าทำได้) หายใจสบายๆ แล้วกลับสู่ท่าเดิม ค่อยๆหันคอ บิดไหล่กลับมาอยู่ในท่าเริ่มต้น แล้วบิดตัวไปทางขวา ทำซ้ำเหมือนกัน

ท่านี้ต้องการให้กระดูกสันหลังมีการเคลื่อนที่ในแนวระนาบเป็นการบิดกระดูกสันหลังที่จะทำให้เกิดความยืดหยุ่นดีขึ้น เพราะส่วนมากกระดูกสันหลังจะตึงจากพังผืดและเนื้อเยื่อที่ยึดกระดูกบริเวณนี้มาก การบิดตัวเป็นเกลียวเช่นนี้ช่วยกระตุ้นสันหลังและการไหลเวียนต่างๆได้มาก

หลักการปฏิบัติเช่นเดียวกับท่าแรก ต้องไม่เจ็บปวด ต้องตึงมากที่สุด และผ่อนคลายร่างกายตลอดการทำท่าค้างไว้ สำหรับคนที่ทำไม่ได้สมบูรณ์ก็ประยุกต์ท่าได้เองตามความเหมาะสม ได้แค่ไหนทำแค่นั้น ให้รู้สึกถึงการบิดของกระดูกสันหลังก็ใช้ได้ครับ

ท่าที่ 3 แอ่นสันหลัง

ท่านี้จะเริ่มจากนอนคว่ำ จากนั้นตั้งข้อศอกยันพื้นให้ท้องแขนวางราบกับพื้น มือคว่ำลง หันปลายนิ้วมือออกทางด้านข้างเล็กน้อย ค่อยๆยกศีรษะขึ้น เงยคอไปข้างหลัง ตามองเพดาน ยืดตัวให้สูงที่สุดขณะที่หน้าท้องติดพื้นไว้ ให้ค้างอยู่ในลักษณะนี้ ผ่อนคลายลำตัว หน้าอก และท้องลง โดยที่ศีรษะยังยกสูงเท่าเดิม น้ำหนักตัวตกลงที่แขนทั้งสอง ส่วนอื่นของร่างกายทั้งหมดผ่อนคลาย ค้างไว้สักครู่ ( 30 วินาทีถ้าทำได้) แล้วค่อยๆ ก้มหน้า ลดตัวลงนอนราบเช่นเดิม

ท่านี้ต้องการให้กระดูกสันหลังแอ่นโค้งมาทางด้านหลัง ขณะเดียวกันจะเป็นการยืดเนื้อเยื่อทางด้านหน้าของลำตัว ตั้งแต่คอจนถึงต้นขา ท่านี้คล้ายท่าอาสนะงู แต่ไม่เหมือนกันทีเดียว ต้องการให้เปิดหน้าอกและผ่อนคลายมากๆ

สำหรับคนที่ทำได้ดีแล้ว เพิ่มความยากขึ้นด้วยการใช้มือทั้งสองดันตัวให้สูงขึ้นแทนการใช้ท้องแขน แล้วผ่อนคลายร่างกาย ท่านี้จะช่วยกระตุ้นกระดูกสันหลังส่วนล่างมากกว่าท่าเดิมที่กระตุ้นหลังส่วนบนมากกว่า

การทำท่าบริหารเหล่านี้ ควรทำเป็นชุด ต้องทำทั้ง 3 ท่า เพราะจะกระตุ้นสันหลังได้ครบถ้วนทั้งด้านหน้าด้านหลังด้านข้าง ทำท่าละกี่ครั้งก็ได้แล้วแต่แต่ละบุคคล แต่ควรเริ่มลองดูจากน้อยไปก่อน สักท่าละ 3-5 ครั้งก็พอ แล้วค่อยเพิ่มจำนวนและความถี่เอาเองอีกครั้ง

จะเห็นว่าขั้นตอนการผ่อนคลายเนื้อเยื่อและการจัดกระดูกให้เข้าแนวนั้นต้องทำต่อเนื่องและควบคู่กันไปเสมอ โครงสร้างร่างกายจึงจะปรับเข้าสู่สมดุลเหมือนเช่นเดิมได้ ซึ่งจะใช้เวลาพอสมควรทีเดียว พอสมควรนี้ไม่ใช่เป็นเดือนแต่อาจนานเป็นปีๆ แม้ว่าเราจะขยันทำก็ตาม ยิ่งถ้าทำไม่สม่ำเสมอโอกาสจะเหมือนเดิมมีน้อยมาก แต่ทั้งนี้ก็แล้วความตั้งใจจริงของผู้ป่วยในการฝึกปฏิบัติเป็นสำคัญ ทำมากก็ได้ผลมากทำน้อยก็ได้ผลน้อยเป็นธรรมดา

4. การฝึกใช้ท่าทางที่ถูกต้อง

สาเหตุหลักที่ทำให้โครงสร้างร่างกายเสียสมดุลคือ การใช้โครงสร้างไม่เหมาะสม ดังนั้นจึงต้องแก้ไขที่ต้นเหตุนี้ทันที ผู้ป่วยจะต้องได้รับความรู้เรื่องการใช้ท่าทางในการทำกิจวัตรประจำวัน การปรับเปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ ที่เหมาะสม เมื่อผู้ป่วยรู้หลักการใช้ท่าทางที่เหมาะสมแล้วจะสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตนเองได้ และเมื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้ต่อเนื่องตลอดไป การปรับโครงสร้างร่างกายถึงจะได้ผลอย่างแท้จริง

ข้อบ่งชี้การปรับสมดุลร่างกายสามารถใช้กับผู้ป่วยได้ทุกรายทุกระยะ ข้อควรระวัง1. ผู้ป่วยที่มีสภาพอ่อนแอมาก การปรับสมดุลต้องทำอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ2. ควรจัดท่าบริหารและแนะนำท่าทางให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายเฉพาะบุคคล

การปรับสมดุลโครงสร้างร่างกายสำหรับผู้ป่วยที่จะสามารถทำเองได้อย่างต่อเนื่องยืนนาน คือ การบริหารร่างกายและการปรับปรุงแก้ไขท่าทางในการใช้งาน จะเน้นเรื่องนี้เป็นสำคัญ ส่วนการนวดเนื้อเยื่อและการจัดกระดูกควรทำเมื่อมีบุคลากรพร้อม และช่วยเหลือผู้ป่วยในระยะแรกเท่านั้น


 

การสัมมนาวิชาการแพทย์ทางเลือก ครั้งที่ 2
เรื่อง “การดูแลผู้ป่วยปวดหลัง ปวดเอวด้วยการแพทย์ผสมผสาน”
วันที่ 23-24 มีนาคม 2549 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ

สร้างเมื่อ 27 – มี.ค.- 49

เอกสารที่เกี่ยวข้อง
สไลด์ประกอบการบรรยาย “การปรับสมดุลโครงสร้างร่างกาย” (pdf)
เอกสารประกอบการบรรยาย “การปรับสมดุลโครงสร้างร่างกาย” (pdf)

โมบายแอปพลิเคชัน

 

กรมการแพทย์แผนไทยฯ


สามารถติดต่อเราผ่าน Line

 

ได้แล้ววันนี้

ติดตาม กองการแพทย์ทางเลือก

ผ่านทางโซเชียลมีเดีย​ได้ที่

       


กองการแพทย์ทางเลือก
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
อาคาร 2 ชั้น 6 และชั้น 7 กระทรวงสาธารณสุข
ถนนติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ : 02 591 7007 ต่อ 2607
โทรสาร : 02 149 5637
อีเมล์ : Thaicam2019@gmail.com

5919785
This Month : 20172
Total Users : 1529298
Views Today : 4270
Server Time : 2024-09-20