นพ. นันทศักดิ์  ธรรมานวัตร์,นางกฤษณา  ตรียมณีรัตน์

ความหมายของผู้สูงอายุ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ได้ให้ความหมายไว้ คือ บุคคลที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ความแก่ ย่อมเป็นธรรมดาของทุกชีวิต และแม้ว่าร่างกายของเราในวัยสูงอายุจะเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมมากกว่าเติบ โตก็ตาม แต่ก็พบว่าร่างกายแต่ละคนมีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่เท่ากัน ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง สิ่งสำคัญนั้นคือ พฤติกรรมของเราในการดูแลสุขภาพอย่างไรนั่นเองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในภาพรวม มีดังนี้
1. โครงร่าง
รูปร่าง จะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้แก่ หลังโก่งงอขึ้น หัวเข่าและสะโพกงอเล็กน้อย ทำให้ส่วนสูงลดลง ไหล่จะแคบลง ทรวงอกลึกขึ้น กระดูกบริเวณสะโพกกว้างขึ้น น้ำหนักตัวลดลง เกิดรอยย่นที่ใบหน้า หนังตาตก จมูกกว้างขึ้น หูยาว
กระดูกสันหลัง ของผู้หญิงจะเกิดการโก่งงอได้เร็วกว่าชายประมาณครึ่งหนึ่ง พบมากในสตรีวัยหมดประจำเดือน อายุประมาณ 45 – 55 ปี ฮอร์โมนที่ลดลงไป มีส่วนให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูก และเป็นเหตุให้กระดูกขาท่อนบน และส่วนปลายของกระดูกแขนหักง่าย อีกทั้งเกิดภาวะกระดูกพรุนได้
ผิวหนังบางลง ผิวจะแตกง่าย เหงื่อออกน้อย การดูดซึมสิ่งต่างๆ ทางผิวหนังลดลง การควบคุม อุณหภูมิของร่างกายทำได้ไม่ดี กลิ่นตัวลดลง เส้นผมบนศรีษะลดลง หงอกขาว
กล้ามเนื้อ มีการใช้งานน้อยลงและพบการขาดโปแตสเซียมในกล้ามเนื้อของผู้สูงอายุ ร่วมกับความเสื่อมของโปรตีนในกล้ามเนื้อและการขาดน้ำ ทำให้กำลังการหดตัวสูงสุดของกล้ามเนื้อลดลง ผู้สูงอายุจึงเหนื่อยได้ง่ายและไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรง จึงแนะนำให้ผู้สูงอายุออกกำลังกาย เพื่อช่วยคืนความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมทั้งเพิ่มการกินอาหารที่มีโปแตสเซียมสูง และดื่มน้ำให้มากๆ
2. สมองและระบบประสาท
สมอง มีน้ำหนักลดลง หลงลืมง่ายขึ้น ความสามารถด้านการพูดจะลดลง
ประสาทสัมผัส ปลายประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวด และรับรู้อุณหภูมิ ลดจำนวนลง ทำให้เกิดอาการชาปลายมือปลายเท้า จึงเป็นเหตุให้เกิดแผลได้ง่าย การรับกลิ่นรับรสลดลงไป
ความสามารถในการทรงตัวลดลง มีอาการไม่สมดุลระหว่างที่เดิน จึงต้องเดินกางขาไว้เพื่อกันล้ม มีอาการวิงเวียนศีรษะเมื่อเปลี่ยนท่าทางอิริยาบถ
ประสาทอัตโนมัติและการสั่งการเสื่อมลง ทำให้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ เชื่องช้าลง เคลื่อนไหวช้าลง ตาจะตอบสนองต่อแสงน้อยลง หนาวสั่นได้ง่าย ตัวเย็นได้แม้จะไม่ได้รับความเย็นใดๆ จากภายนอก
3. ต่อมไร้ท่อ
ต่อมใต้สมอง เสื่อมหน้าที่ลง การหลั่งฮอร์โมนจึงลดลง เป็นผลให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย รูปร่างผอมลง ขนในที่ลับบางลง ผู้หญิงจะมีขนาดอวัยวะเพศเล็กลง พื้นผิวช่องคลอดบางลง ในผู้ชาย ความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศลดลง เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
ตับอ่อน ซึ่งมีหน้าที่สร้างอินซูลิน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกายให้อยู่ในสภาพสมดุล จะฝ่อลีบลง ทำให้ระดับน้ำตาลในร่างกายของผู้สูงอายุสูงขึ้นกว่าคนหนุ่มสาว จึงพบโรคเบาหวานได้มากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ
4. หัวใจและหลอดเลือด
หัวใจ มีการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง อัตราการเต้นหัวใจลดลง กำลังสำรองของหัวใจลดลง จึงพบผู้สูงอายุเกิดหัวใจวายได้ง่าย
หลอดเลือด เมื่ออายุมากขึ้นหลอดเลือดแข็งตัวหนาขึ้น ยืดหยุ่นน้อยลง ประกอบกับมีแคลเซียมและไขมันมาเกาะหลอดเลือดมากขึ้น จึงเกิดหลอดเลือดอุดตันได้ง่าย การไหลเวียนเลือดในหลอดเลือดหัวใจก็น้อยลงหัวใจจึงได้รับออกซิเจนน้อยลงไป ร่วมกับการใช้ออกซิเจนของกล้ามเนื้อหัวใจ มีประสิทธิภาพลดลง เราจึงพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในผู้สูงอายุขึ้นได้
5. ระบบหายใจ
เช่นเดียวกับหัวใจและหลอดเลือด คือปอดจะยืดหยุ่นน้อยลง หลอดลมแข็งตัวและมีผังผืดเพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุจึงเกิดความรู้สึกว่าหายใจไม่เพียงพอ ต้องชดเชยด้วยการหายใจให้เร็วขึ้น และหายใจแบบตื้นๆ ซึ่งผู้สูงอายุมักจะมีปอดที่ไม่แข็งแรง การหายใจตื้นๆ นี้มีส่วนทำให้ผู้สูงอายุติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่าย
6. ช่องปากและระบบบดเคี้ยว
ฟัน มีการสึกกร่อนจากการบดเคี้ยว หรือจากการแตกร้าวของฟันที่ใช้งานมานาน หรือจากอุบัติเหตุจากการใช้งาน บริเวณคอฟันและรากฟันผุง่ายจากการดูแลความสะอาดไม่ทั่วถึง
เหงือก มีการอักเสบหรือร่นลงจากการใช้งาน คราบหินปูนที่สะสมในปากเป็นเวลานานทำให้เกิดโรคปริทันต์ หรือโรครำมะนาด ทำให้ฟันเกิดการโยกคลอนได้
ต่อมน้ำลาย เกิดความเสื่อมของเซลล์ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ร่วมกันกับการสูบบุหรี่ หรือโรคบางอย่าง ทำให้การสร้างและหลั่งน้ำลายลดลง ผู้สูงอายุจึงมักมีอาการปากแห้งในช่องปาก
ข้อต่อขากรรไกร และกล้ามเนื้อบดเคี้ยว เสื่อมสภาพหย่อนยานตามวัย เอ็นข้อต่อขากรรไกรหย่อนยานจากการใช้งานมานาน ทำให้ขากรรไกรเคลื่อนที่ไม่ราบรื่น เกิดขากรรไกรค้างขณะที่เคี้ยวอาหารหรือหาวได้
เยื่อเมือกในช่องปาก มีความเสื่อมของเซลล์เหงือก เบ้าฟัน เนื้อเยื่อปริทันต์และส่วนเคลือบรากฟันขาดเลือดมาเลี้ยง และมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อเส้นใย เซลล์ต่างๆ มีความไวลดลง มีการซ่อมแซมน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น
ลิ้นแดงและเลี่ยนจากเซลล์ลดการเผาผลาญอาหาร ประกอบกับความแข็งแรงของเยื่อบุลิ้นลดลง หรือจากการขาดธาตุเหล็กและวิตามินบี 12
7. ทางเดินอาหาร
กระเพาะอาหาร หลั่งน้ำย่อยลดลง ลำไส้เล็กเคลื่อนไหวเพื่อการย่อยและดูดซึมอาหารลดลงทำให้อาหารพวกแป้ง คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินดี และแคลเซียม ถูกดูดซึมไปใช้ลดลง มีเศษอาหารคั่งค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่นานขึ้น แต่ความไวจากการถูกกระตุ้นด้วยอุจจาระกลับช้าลง จึงท้องผูกง่าย
ตับ มีขนาดเล็กลง มีพังผืดเข้ามาแทนที่มากขึ้น เลือดไหลเข้าสู่ตับน้อยลง ความสามารถของตับในการทำลายพิษจึงลดลงไป
8. ทางเดินปัสสาวะ
ไต มีหน่วยกรองลดลง การกรองของเสียและการขับยาทางไตลดลง จึงทำให้ประสิทธิภาพในการกำจัดของเสียออกไปจากร่างกาย (Creatinine Clearance) ลดลงไปด้วย การใช้ยาในผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องปรับลดขนาดการใช้ยา (คือปรับลดปริมาณยาหรือขนาดของยาให้น้อยลงโดยแพทย์นั่นเอง
กระเพาะปัสสาวะ อ่อนกำลังลง และมีความจุลดลง ทำให้ผู้สูงอายุปัสสาวะบ่อยๆ กล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะปัสสาวะและช่องขับถ่ายเสื่อมลง ทำให้กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้
9. ระบบภูมิคุ้มกัน
ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทั้งระบบ ทำงานลดลง ผู้สูงอายุจึงเกิดการติดเชื้อได้ง่ายสิ่งที่สำคัญที่เราควรตระหนักคือ เมื่อเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุแล้ว จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และรวดเร็ว ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทุกสิ่งมีความสัมพันธ์ต่อการรับรู้ของผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านจิตใจ ด้วยการถูกมองว่า ด้อยคุณค่าและความสามารถ ผู้สูงอายุจึงอาจเกิดความเครียดขึ้นได้ ดังนั้นถ้ามีการเตรียมตัวก่อนย่างเข้าสู่วัยสูงอายุก็จะสามารถปรับตัวเข้า สู่ชีวิตในช่วงวัยนี้ได้ดี แต่ถ้าไม่มีการเตรียมตัวก็อาจปรับตัวได้ยาก อาจเกิดความรู้สึกว้าเหว่ เหงา มีอาการหลงลืม วิตกกังวล หรือเกิดอาการซึมเศร้าได้ ในบางครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็รุนแรงจนถึงกับทำให้ร่างกายของผู้สูงอายุ อ่อนแอลง เกิดเป็นความเจ็บป่วยขึ้นได้สาระเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จึงเต็มไปด้วยความรู้ที่ผู้รู้หลาก หลายท่านต่างได้ช่วยกันรวบรวมและคัดสรรไว้อย่างหลากหลาย รวมถึงมุมมองใหม่ๆ ด้านสุขภาพ เพื่อผู้สูงอายุ ผู้ใกล้ชิด ผู้ดูแล รวมไปถึงประชาชนทั่วไปจะได้นำมาเลือกใช้ให้เหมาะสมต่อตนเองในการเตรียมตัว ก่อนย่างเข้าสู่วัยสูงอายุ ด้วยมุ่งหวังให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ โดยมุ่งเน้นว่าการดูแลสุขภาพเป็นงานที่เราจะต้องทำ และมีแง่มุมอีกมากมายที่ประกอบกันขึ้นเป็นองค์รวมของชีวิตและสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น “อาหารคือยา” “ออกกำลังเป็นยาขนานวิเศษ” “จิตสดใส กายแข็งแรง” คำเหล่านี้คงไม่เกินความจริงที่จะก่อให้เกิดสมดุลของชีวิต อันได้แก่สมดุลของกาย ใจ ปัญญา สังคม และสิ่งแวดล้อม อันนำมาซึ่งความหวังของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุไทยต่อไป

เมื่อย่างเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ

โมบายแอปพลิเคชัน

 

กรมการแพทย์แผนไทยฯ


สามารถติดต่อเราผ่าน Line

 

ได้แล้ววันนี้

ติดตาม กองการแพทย์ทางเลือก

ผ่านทางโซเชียลมีเดีย​ได้ที่

       


กองการแพทย์ทางเลือก
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
อาคาร 2 ชั้น 6 และชั้น 7 กระทรวงสาธารณสุข
ถนนติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ : 02 591 7007 ต่อ 2607
โทรสาร : 02 149 5637
อีเมล์ : Thaicam2019@gmail.com

5918677
This Month : 19064
Total Users : 1528190
Views Today : 7537
Server Time : 2024-09-19