เอกสารวิชาการสรุป เรื่อง การบำบัดแบบโฮมิโอพาธี (3)

โดย : ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล กองการแพทย์ทางเลือก

บทที่ 3

การบำบัดแบบโฮมีโอพาธี

            การบำบัดแบบโฮมีโอพาธีจัดเป็นศาสตร์การแพทย์พื้นบ้านชนิดหนึ่งของทวีปยุโรป มีอายุมานานกว่า 200 ปี ผู้คิดค้นหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นบิดาแห่งศาสตร์โฮมีโอพาธีแบบดั้งเดิม (Classical Homeopathy) คือ นายแพทย์ซามูเอล ฮาห์เนมานน์ (Samuel Hahnemann or Samuel Christian Hahnemann)

 เกิดที่เมืองเดรสเดน (Dresden) ประเทศเยอรมนี วันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1755 ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมาก เป็นช่วงของการปฏิวัติในฝรั่งเศส สงครามนโปเลียนและการปฏิวัติอุตสาหกรรม ฮาห์เนมานน์เป็นบุตรคนที่ 3 จากบุตรจำนวน 5 คนของครอบครัวที่ยากจนแต่มีความเชื่อและเลื่อมใสในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกอย่างจริงจัง ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากบิดาและมารดาของตนเอง และได้รับทุนการศึกษาจนกระทั่งเข้าศึกษาทางด้านเคมีและการแพทย์ที่เมืองไลป์ซิก(Leipzig) เออร์เลนเกน (Erlangen) เวียนนา (Vienna) และจบเป็นแพทย์ในปี ค.ศ. 1779 จากนั้นปฏิบัติงานเป็นแพทย์อยู่ประมาณ 9 ปี

ในช่วงระยะเวลาที่ทำหน้าที่เป็นแพทย์อยู่นั้น ฮาห์เนมานน์ยังเขียนหนังสือเกี่ยวกับเคมีและการแพทย์ไปด้วย ในระหว่างที่ทำงานด้านหนังสือประกอบกับอาชีพแพทย์ไปด้วยนั้น เขาเริ่มมีความคิดที่ไม่ลงรอยกับการแพทย์แผนปัจจุบันในยุคนั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในเรื่องของการกรีดเลือดออก (Blood – letting) การใช้ยาอันตรายในขนาดที่สูง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลอันไม่พึงประสงค์ตามมามากมาย เป็นต้น ฮาห์เนมานน์จึงหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของความสะอาด การกินอาหารที่ดี อากาศที่บริสุทธิ์และการออกกำลังกายมากขึ้น การทำงานดังกล่าวถูกต่อต้านอย่างหนักจากระบบการแพทย์แผนปัจจุบันในยุคนั้น ดังนั้นฮาห์เนมานน์จึงตัดสินใจละทิ้งอาชีพแพทย์และเปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักแปลหนังสือแทน

ในปี 1790 ขณะที่เขากำลังแปลหนังสือเรื่อง A Treatise on Materia Medica ของ ดร.วิลเลียม คูลเลน (Dr.William Cullen) ฮาห์เนมานน์เริ่มทำการทดลองชิ้นแรกจากเปลือกต้นเปรูเวียน (Peruvian Bark) หรือ ต้นซิงโคนา เนื่องจากในหนังสือของ Cullen กล่าวว่า “ควินิน (สารที่สกัดได้จากต้นซิงโคนา) สามารถรักษาโรคมาลาเรียได้เนื่องจากคุณสมบัติฝาดสมาน (astringent)” จากข้อความนี้เอง ทำให้ฮาห์เนมานน์สงสัยและเริ่มตั้งคำถามเนื่องจากคุณสมบัติฝาดสมานไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับโรคมาลาเรียได้ ดังนั้นเขาจึงเริ่มสังเกตการณ์โดยการกินควินินหลายขนาดด้วยตัวเองและเริ่มบันทึกอาการที่เกิดขึ้น เขาพบว่า ตัวเองมีอาการเหมือนกับเป็นไข้มาลาเรีย ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาไม่ได้เป็นโรคนี้เลย และอาการนี้จะเกิดขึ้นทุกครั้งที่เขากินควินินซ้ำ ถ้าไม่กินควินิน ก็จะไม่มีอาการ ฮาห์เนมานน์ทดลองแบบเดียวกันนี้กับเพื่อนที่สนิทของเขาอีกหลายคนจนได้ผลที่มั่นใจได้ จากนั้น ฮาห์เนมานน์ทำการทดลองกับสารอันตรายอีกหลายชนิดเช่น สารหนู และเบลลาดอนนา (พืชในตระกูลเดียวกับต้นลำโพง) ซึ่งพบว่าให้ผลที่เหมือนกันคือ ถ้าให้สารพิษนั้นแก่คนปกติก็จะเกิดอาการเป็นพิษตามชนิดของสารนั้น และก็สามารถนำสารพิษนั้นไปรักษาคนป่วยที่มีอาการคล้ายกับเป็นพิษนั้นได้ ทั้งนี้การทดลองของเขาทำภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดว่าผู้ที่จะทำหน้าที่พิสูจน์จะต้องไม่กินหรือดื่ม อะไรก็แล้วแต่ที่อาจให้ผลที่สับสนได้ เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีอัลกอฮอล์ เป็นต้น หลังจากผ่านการทดลองมามากมายฮาห์เนมานน์ยังพบอีกว่า ยิ่งสามารถค้นหาอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้เหมือนกับอาการพิษที่เกิดจากสารนั้น ๆ ได้มากเท่าไหร่ การรักษาก็ยิ่งประสบความสำเร็จมากเท่านั้น

ในปี 1796 เขาได้พิมพ์หนังสือชื่อ “A New Principle for Ascertaining the Curative Powers of Drugs and Some Examination of Previous Principles” ในหนังสือกล่าวว่า เราอาจสามารถรักษาโรคเรื้อรังโดยเลียนแบบธรรมชาติได้ โดยการให้สารที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการนั้น ๆ ได้มารักษาโรคนั้น ๆ เอง และเรียกชื่อการบำบัดแบบนี้ว่า โฮมีโอพาธี (Homeopathy) เพื่อให้เกิดความแตกต่างจากการแพทย์กระแสหลัก (Orthodox) ในยุคนั้น ซึ่งฮาห์เนมานน์เรียกการแพทย์กระแสหลักในยุคนั้นว่า อัลโลพาธี (Allopathy) แปลว่า เจ็บป่วยหรือทุกข์ทรมานจากสิ่งที่ตรงกันข้าม (opposite suffering) และโฮมีโอพาธีก็เป็นคำที่มาจากภาษากรีก “Homeo” แปลว่า “เหมือน” (similar) และ “pathos” แปลว่า “เจ็บป่วย หรือทุกข์ทรมาน” (suffering) และในปี ค.ศ.1810 ฮาห์เนมานน์ได้เขียนหลักการบำบัดแบบโฮมีโอพาธี ไว้ในหนังสือชื่อ “The Organon of Rationale Medicine” และ 2 ปีถัดจากนั้นเขาก็ได้เปิดการเรียนการสอนศาสตร์โฮมีโอพาธีในมหาวิทยาลัยไลป์ซิก ประเทศเยอรมนี ฮาห์เนมานน์เสียชีวิตในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1843 ด้วยอายุขัย 88 ปี เขาป่วยตายด้วยโรคหลอดลมอักเสบ ณ เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ในระหว่างศตวรรษที่ 19 ปรัชญา/ทฤษฎีของการบำบัดด้วยศาสตร์โฮมีโอพาธีได้แพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วจากเยอรมนีสู่ประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย เนื่องจากในปี 1831 ได้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาตกโรคในแถบประเทศใจกลางทวีปยุโรป การใช้การบูรตามแบบวิธีโฮมีโอพาธีบำบัดผู้ป่วยที่ติดเชื้ออหิวาตกโรคประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ จากหนังสือ The Complete Homeopathy Handbook ของ มิรานดา คาสโตร (Miranda Castro) กล่าวว่า อัตราการตาย (Mortality rate) ของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแบบโฮมีโอพาธีอยู่ระหว่างร้อยละ 2.4 และ 21.1 ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบันขณะนั้นมีอัตราการตายสูงมากกว่าร้อยละ 50 จากผลดังกล่าวทำให้วิธีการบำบัดดังกล่าวได้รับการยอมรับ มีความนิยมสูงและมีผู้สนใจศึกษาค้นคว้าเพิ่มมากขึ้น

ดร.เฟดเดอร์ริก ควิน (Federick Foster Hervey Quin) เป็นผู้หนึ่งที่มีความสนใจที่จะศึกษาการบำบัดแบบโฮมีโอพาธีและเป็นผู้นำการบำบัดด้วยวิธีนี้เข้าสู่เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปีค.ศ. 1832 และได้ก่อตั้งโรงพยาบาลโฮมีโอพาธีเป็นแห่งแรกขึ้นที่ลอนดอนในปีค.ศ. 1849

ดร.คอนสแตนติน เฮียริ่ง (Constantine Hering) และ ดร.เจมส์ ไทเลอร์ เคนท์ (James Tyler Kent) เป็นผู้นำศาสตร์โฮมีโอพาธีไปสู่อเมริกาในช่วงระหว่างค.ศ. 1820 – 1829 และเป็นผู้พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ของศาสตร์ในเรื่องขององค์ความรู้และตำรับที่ใช้ในการรักษา

ดร.เฮียริ่งนับเป็นบิดาของการบำบัดแบบโฮมีโอพาธีในประเทศสหรัฐอเมริกาและเป็นผู้คิดค้นและพัฒนา “กฎของการบำบัดรักษาหรือกฎของการหายจากโรค” (Law of Cure) 3 ข้อ กล่าวคือ

  1. การบำบัดรักษาจะเกิดขึ้นจากภายในไปสู่ภายนอก (from within outward) โดยเรียงลำดับจาก จิตใจ (mental system) ไปสู่อารมณ์ (emotional system) และไปยังร่างกาย (physical system)
  2. การบำบัดรักษาจะเกิดจากบนไปสู่ล่าง (from above downward) เช่น ผู้ป่วยมีอาการปวดไหล่ ปวดเข่าและข้อเท้า การหายจากอาการปวดจะเริ่มจากไหล่ไปยังเข่าและข้อเท้าจึงจะหายปวด เป็นต้น แต่กฎข้อนี้อาจไม่เคร่งครัดนักหากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นจากภายในสู่ภายนอกได้ อาจไม่จำเป็นต้องสังเกตตามกฎข้อนี้ก็ได้
  3. การบำบัดรักษาจะเกิดไปในทิศทางตรงกันข้ามกับลำดับของอาการที่เกิดขึ้น (in the reverse order of the symptoms) เช่น มีผู้ป่วยคนหนึ่งเป็นไมเกรนมา 20 ปี 5 ปีต่อมาเริ่มมีอาการหน้ามืด อาการรู้สึกหมุน (vertigo) และ 3 ปีหลังมีอาการนอนหลับได้ไม่ดีร่วมด้วย หลังจากที่ได้รับการบำบัดด้วยยาโฮมีโอพาธีที่ถูกต้อง ผู้ป่วยจะต้องรู้สึกปลอดโปร่ง และอาการนอนหลับได้ไม่ดีจะหายก่อน จากนั้นอาการหน้ามืด อาการรู้สึกหมุนจะหายตาม และอาการไมเกรนจะหายเป็นลำดับสุดท้าย

นอกจากนี้ ดร.เฮียริ่งยังเป็นผู้เริ่มต้นพัฒนาตัวยาใหม่ ๆ ที่จะนำมาใช้ในการรักษาโรค ซึ่งปัจจุบันก็คือตัวยาในกลุ่มของไอโซพาธี(มุ่งจะใช้สิ่งเดียวกันมารักษาโรคมากกว่าสิ่งที่เหมือนกัน)

ดร.เคนท์เป็นผู้ค้นพบเพิ่มเติมว่า บุคลิกภาพและลักษณะของคนมีผลต่อความเหมาะสมในการเลือกใช้ยาที่บำบัดด้วย ดังนั้นเขาจึงสรุปว่าการจะสั่งจ่ายยาใด ๆ ให้แก่ผู้ป่วยแต่ละบุคคลจะต้องคำนึงถึงภาวะอารมณ์ ลักษณะบุคลิกภาพ รวมถึงอาการป่วยด้วย ดังนั้นเขาจึงแบ่งลักษณะของคนออกเป็นกลุ่ม ๆ ทั้งหมด 15 กลุ่ม เพื่อให้ง่ายแก่การเข้าใจและบำบัด เรียกว่า “Constitutional types” และ ดร.เคนท์จะมีเอกลักษณ์การสั่งจ่ายยาโฮมีโอพาธีที่มีความแรงสูง ใช้ความแรงที่ระดับ CH และ MM และไม่เคยสั่งจ่ายยาที่ระดับต่ำกว่า 30 CH ซึ่งในปัจจุบันก็ได้รับความนิยมและเผยแพร่ไปทั่วโลก

ในความเป็นจริงนั้น การบำบัดด้วยการนำสิ่งที่ก่อให้เกิดโรคนั้นมารักษาอาการนั้น ๆ เองได้มีการกล่าวไว้เมื่อ 2000 ปีมาแล้ว โดย Hippocrates บิดาแห่งการแพทย์เป็นผู้กล่าวว่า “การรักษานั้นมีได้ 2 แบบคือ การนำสิ่งที่เหมือนกันมารักษากับการรักษาโดยนำสิ่งที่ตรงข้ามกันมารักษาก็ได้” ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ทฤษฎีพื้นฐานที่สำคัญของการบำบัดด้วยโฮมีโอพาธีนั้น มีการกล่าวไว้ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของการแพทย์เลยก็ว่าได้

ปรัชญาพื้นฐานของการบำบัด

เนื่องจากการบำบัดแบบโฮมีโอพาธีเป็นระบบการแพทย์ที่มีแนวคิดของการรักษาผู้ป่วยแตกต่างจากการแพทย์แผนปัจจุบันโดยสิ้นเชิง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจปรัชญาพื้นฐานหรือแนวคิดของการบำบัดดังกล่าวด้วย เพื่อให้เกิดการทำความเข้าใจและวิจารณ์ได้อย่างถูกต้องและลึกซึ้งต่อไป

  1. พลังชีวิต (Vital force, Life force, Chi or Prana)

ศาสตร์โฮมีโอพาธีมีแนวคิดว่า “ร่างกายคนเราทุกคนจะมีพลังชีวิต” ซึ่งทำหน้าที่รักษาสภาวะสุขภาพให้เกิดขึ้นภายในร่างกาย ในภาวะที่ร่างกายและจิตใจสมบูรณ์ พลังชีวิตก็จะสมบูรณ์ด้วย ตราบใดที่ร่างกายยังคงรักษาพลังชีวิตที่สมบูรณ์ไว้ได้ ร่างกายก็จะปกติสุข และอยู่ในสภาวะสุขภาพเป็นหนึ่งเดียว แต่ในภาวะที่พลังชีวิตอ่อนแอหรือมีความบกพร่องก็จะสะท้อนออกมาเป็นความไม่สบายทางร่างกาย เป็นภาวะที่ไม่มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ปรากฏออกมาเป็นความไม่สบายต่าง ๆ การบำบัดแบบโฮมีโอพาธีเป็นการเร่งกระตุ้นให้พลังชีวิตมีการปรับสมดุลใหม่ ทำให้ร่างกายมีการตอบสนองต่ออาการเจ็บป่วยเร็วขึ้น เป็นผลให้กระบวนการเจ็บป่วยตามธรรมชาติมีระยะเวลาที่สั้นลง ซึ่งการหายจากโรคเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของร่างกายเอง

  1. มุมมองในเรื่องของสุขภาพ (Health) โรค (Disease) และ การรักษา (Cure)

สุขภาพและโรคในความหมายของโฮมีโอพาธีนั้นเป็นสภาวะที่แตกต่างกันของร่างกาย สุขภาพเป็นภาวะที่ผ่อนคลาย (Ease) กลมกลืนและเป็นหนึ่งเดียว (Harmony) หมายถึง การที่อวัยวะทุกอวัยวะเต้น และทำงานเป็นจังหวะเดียวกันกับจิตใจและวิญญาณหรืออาจพูดภาษาง่ายๆ ว่าสุขภาพเป็นภาวะที่เราสามารถทำงานและดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ไม่มีความเครียดและความเจ็บปวดทั้งภายนอกและภายในร่างกาย

โรคเป็นภาวะที่มีการรบกวนเกิดขึ้นภายใน ซึ่งอาจจะแสดงออกมาได้หลายรูปแบบทั้งความผิดปกติทางร่างกาย ความผิดปกติในหน้าที่ของอวัยวะนั้น ๆ และความผิดปกติทางจิตใจ อาการของโรค/ ความรู้สึกไม่สบายต่าง ๆ เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความไม่สอดคล้องหรือไม่เป็นหนึ่งเดียวของตัวเรา

การบำบัดรักษาไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การรักษาอาการของโรคเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการฟื้นฟูให้ร่างกายคืนสู่สภาพก่อนที่จะป่วย (Healthy state) ด้วย การช่วยให้อาการของโรคหายแต่เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เรียกว่าเป็นการรักษา แต่อาจซ้ำร้ายเสมือนการเติมน้ำมันลงในกองไฟด้วย ดังนั้นการบำบัดแบบโฮมีโอพาธีจึงมุ่งเน้นไปที่การรักษาตัวบุคคลมากกว่าการรักษาอาการของโรค

ทฤษฎีของการบำบัด

การบำบัดแบบโฮมีโอพาธี(ดั้งเดิม) มีทฤษฎีพื้นฐานอยู่ 4 ข้อ ดังนี้

  1. ต้องมีการพิสูจน์ฤทธิ์หรือพิษของสารที่จะนำมาใช้เป็นยาแบบโฮมีโอพาธีในคนปกติ ก่อนกล่าวคือ ก่อนที่จะพัฒนาสารแต่ละชนิดขึ้นมาเป็นตำรับยาแบบโฮมีโอพาธีนั้นต้องมีการนำไปทดลองในคนปกติที่มีสุขภาพดีก่อนเพื่อให้ทราบถึงอาการหรือพิษที่แน่ชัดที่อาจเกิดขึ้นจากการรับประทานสารนั้น ๆ เข้าไป ยกเว้นในกรณีที่เราทราบพิษที่แน่ชัดของสารนั้น ๆ อยู่แล้ว
  2. การเลือกและการจ่ายยาต้องเป็นไปตามกฎของความเหมือน (Law of Similars)

กฎของความเหมือน (Law of Similars) เป็นหัวใจพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งในการบำบัด ผู้ป่วย กล่าวคือ การบำบัดแบบโฮมีโอพาธีนั้นเป็นการนำเอาพืช สัตว์ หรือแร่ธาตุใด ๆ ที่ก่อให้เกิดอาการนั้น ๆ ในคนธรรมดามารักษาอาการดังกล่าวแก่คนป่วย (like cures like or simila similibus curantur) หรืออาจกล่าวง่าย ๆ แบบภาษาไทยว่า “หนามยอกให้เอาหนามบ่ง”

  1. การให้ยาเพื่อการบำบัดต้องเป็นยาตำรับเดี่ยว (Single Remedy)

ตำรับเดี่ยว (Single Remedy) หมายถึง การบำบัดผู้ป่วยนั้นห้ามให้ยาหลาย ๆ ตำรับ พร้อม ๆ กันเนื่องจากการให้ยาหลาย ๆ ตำรับพร้อมกันอาจก่อโรคหรืออาการใหม่ ๆ ขึ้นได้และเป็นการยากที่จะบอกว่าตำรับยาที่เราให้นั้นตำรับไหนถูกต้องกันแน่ ดังนั้นในการบำบัดแต่ละครั้งจะให้ยาเพียงตำรับเดียวเท่านั้นแต่อาจมีการให้ซ้ำ (หลายขนาด) อีกได้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของตำรับและอาการของโรค ทั้งนี้การเลือกตำรับยามาใช้ต้องเลือกให้มีความคล้ายกับภาพของอาการมากที่สุด

  1. การให้และการเตรียมยาต้องเป็นไปตามกฎขนาดน้อย (Law of Minimum Dose) ในช่วงปีแรกของการค้นพบการบำบัดแบบโฮมีโอพาธีของฮาห์เนมานน์นั้น เนื่องจากวัตถุดิบที่นำมาเตรียมเป็นยาแบบโฮมีโอพาธีนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นสารพิษ ดังนั้นการนำมาใช้จึงต้องมีการทำละลายให้เจือจางเพื่อลดความเป็นพิษของสารลง ปีค.ศ.1798 เป็นครั้งแรกที่ฮาห์เนมานน์เริ่มทำละลายให้สารที่นำมาใช้เจือจางลง จนกระทั่งปีค.ศ.1813 ฮาห์เนมานน์พิมพ์หนังสือเรื่อง “Spirit of Homeopath” ซึ่งเป็นการอธิบายแนวคิดเรื่องของสุขภาพ การรักษาและฤทธิ์ของยาตามหลักการของโฮมีโอพาธี จากนั้นจึงมีการพัฒนาวิธีการทำละลายยาให้เจือจางเรื่อยมาและกลายเป็นกฎขนาดน้อยดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน กล่าวคือ ต้องมีการนำวัตถุดิบที่จะมาเตรียมเป็นยามาทำเป็นสารตั้งต้น (Mother Tincture)ก่อน และจากนั้นจึงนำสารตั้งต้นนั้นมาทำละลายให้เจือจางโดยเรียกกระบวนการนี้ว่า “การเพิ่มความแรง” (Potentisation/Potentization) นั่นคือยิ่งทำให้เจือจางมากเท่าไหร่ความแรงของยาจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น วิธีการเตรียมยาดังแสดงในรูปที่ 3.1 และในการทำให้เจือจางแต่ละครั้งต้องมีการเขย่าร่วมด้วย (ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า shaking vigorously) ซึ่งความเข้มข้นหรือความแรงตามหลักสากลของยาโฮมีโอพาธีจะถูกกำหนดด้วยจำนวนครั้งของการทำให้เจือจาง โดยความแรงที่กำหนดเป็นหลักสากล ที่นิยมใช้มีดังนี้
  2. ที่ความแรง 10 (Decimal-potency or D-potency) เท่า เป็น 1:10 เช่น ยาที่ความแรง D1มีสารตั้งต้นอยู่ 1 ส่วน มีตัวทำละลายอยู่ 9 ส่วนและผ่านการเขย่า 10 ครั้ง ยาที่ความแรง D2 เป็นการนำเอายาที่ความแรง D1 มา 1ส่วน ผสมกับตัวทำละลายอีก 9 ส่วนและผ่านการเขย่า 10 ครั้ง เป็นต้น (ดังรูปที่1) ทำอย่างนี้เรื่อยไปจนได้ความแรงที่ต้องการและจะใช้ตัวเลขที่ความแรงนี้จนกระทั่งถึง D1000
  3. ที่ความแรง 100 (Centestimal-potency or C-potency) เท่า เป็น 1:100 หลักการก็จะเหมือนกันกับที่ความแรง 10 เท่า เช่น ที่ความแรง C1 มีสารตั้งต้น 1 ส่วน มีตัวทำละลายอยู่ 99 ส่วนและผ่านการเขย่า 100 ครั้ง เป็นต้น

ซึ่งถ้าเป็นการทำให้เจือจางตามหลักการของ Korsakoff-Potency หรือ one glass method คือใช้แก้ว/ภาชนะใบเดียวในการเตรียมยา กล่าวคือ จะใช้แก้วใบเดิมทุกครั้งในการทำละลาย จะใช้อักษรย่อว่า K เช่น 10K 30K เป็นต้น แต่ถ้าเป็นการทำให้เจือจางแบบ Centestimal Hahnemanni หรือ CH-potency หรือ multiple-glass method กล่าวคือ ในการเตรียมยาแต่ละครั้งจะใช้แก้วใบใหม่ทุกครั้งในการทำละลายครั้งใหม่ จะใช้อักษรย่อว่า CH เช่น 20CH 30CH เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมี ความแรงแบบ LM -(or –Q-) potency ซึ่งเป็นกฎที่ไม่นิยมใช้นักเพราะเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อน มักจะใช้กับการทำละลายที่มีความแรงตั้งแต่ 1:50000 ขึ้นไป

(Subatomic) ของเซลล์ (พลังงานเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับกายภาพ) ผลดีที่เกิดขึ้นจากการเตรียมยาแบบโฮมีโอพาธีก็คือ ผลข้างเคียงจากยาต่ำมาก ไม่พบรายงานความเป็นพิษของยาดังกล่าว และยาที่จำหน่ายจึงมีราคาถูกเมื่อเทียบกับราคายาปัจจุบัน

ข้อมูลทางวิชาการเพื่อการประเมินองค์ความรู้

กองการแพทย์ทางเลือกมีหลักการทางวิชาการในการประเมินองค์ความรู้ 4 ด้านหลัก กล่าวคือ ด้านความปลอดภัย (Safety) ด้านประสิทธิผล (Efficacy) ด้านความสมประโยชน์ (Cost-Effectiveness) และความน่าเชื่อถือ (Rationale) ดังนี้

  1. ด้านความปลอดภัย

จากหลักการของการบำบัดแบบโฮมีโอพาธี จะเห็นได้ว่ายาในรูปแบบโฮมีโอพาธีนั้นมีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่ำมาก หรืออาจกล่าวได้ว่าไม่มีความเป็นสสารเหลืออยู่อีกแล้ว ดังนั้นจึงไม่พบว่ามีรายงานตรวจวัดความเป็นพิษของยาโฮมีโอพาธีและไม่พบรายงานความเป็นพิษแต่อย่างใดจากการที่รับประทานเข้าไป อย่างไรก็ตามมีการกล่าวถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากยาโฮมีโอพาธีโดย Elizabeth Wright Hubbard, 1986 ว่าอันตรายอาจเกิดขึ้นได้จากการจ่ายยาผิดพลาดหรือจ่ายยาที่ไม่ตรงกับโรคให้แก่ผู้ป่วย สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้ป่วยไม่หายจากโรคอย่างแท้จริงและอาจเกิดอาการอื่น ๆ ขึ้นใหม่ได้ นอกจากนี้จากหนังสือ The complete homeopathy handbook ของ มารินดา คาสโตร กล่าวถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นโดยยกตัวอย่างกรณีของผู้ป่วย 1 รายดังนี้ ผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่ป่วยมีอาการปากอักเสบเนื่องการติดเชื้อรา (Thrush) ไปหาซื้อยาโฮมีโอพาธีเพื่อรักษาโรคดังกล่าว ที่ร้านยาขายยาจ่าย Nux Vomica 30C ให้ผู้ป่วยและบอกให้รับประทานวันละ 3 ครั้ง 2-3 วันแรกพบว่าอาการดีขึ้นและผู้ป่วยหญิงรายนี้ก็รับประทานยาต่อมาเรื่อย ๆ 1 สัปดาห์ผ่านไปไม่พบว่ามีอะไรดีขึ้นและทำท่าเหมือนอาการจะแย่ลง เธอจึงย้อนกลับไปที่ร้านยาอีกครั้ง ร้านยาจ่ายยาตัวเดิมให้และบอกให้รับประทานต่อไป 2 เดือนต่อมาผู้ป่วยมีอาการแย่ลงอย่างเห็นได้ชัดและทรมานมาก แล้วจากนั้นมาจึงมาพบผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ จึงได้รับการรักษาที่ถูกต้องและหายเป็นปกติ ซึ่งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในกรณีนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลที่มาจากการจ่ายยาไม่ตรงกับอาการและให้ยาเป็นระยะเวลาที่นานจนเกินไป

อนึ่งในการเลือกใช้การรักษาแบบโฮมีโอพาธีจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยอันเนื่องมาจากการไม่ได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐานด้วย

  1. ด้านประสิทธิผล

ตามการรวบรวมรายงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของ Guna S.r.l. เมื่อเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2002 กล่าวว่า มีรายงานการวิจัยประมาณ 400 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิผล (Therapeutic Efficacy) ในการบำบัดแบบโฮมีโอพาธีที่ค้นพบจากฐานข้อมูลระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียง (เช่น Medline, Embase, Biosis, the British Library ฯลฯ) และประมาณ 98 ฉบับ เป็นงานวิจัยค้นพบจาก Medline ระหว่างปี 1998 – 2001 แต่ในรายงานการรวบรวมผลการวิจัยฉบับนี้ ได้คัดผลรายงานการวิจัยบางส่วนออกด้วยเหตุผลบางประการทำให้รายงานฉบับนี้รวบรวมผลงานวิจัยทั้งสิ้นประมาณ 200 ฉบับ มี 127 ฉบับที่เป็นการทำวิจัยเปรียบเทียบในคน (Controlled human clinical trials) ใน 127 ฉบับนี้ พบว่า 106 ฉบับเป็นการทำวิจัยยาโฮมีโอพาธีเปรียบเทียบกับยาหลอก และอีก 21 ฉบับเป็นการทำวิจัยเปรียบเทียบยาโฮมีโอพาธีกับยารักษาแบบแผนปัจจุบัน ดังแสดงในรูปที่ 3.2

รูปที่ 3.2 แสดงประสิทธิผลของการบำบัดแบบโฮมีโอพาธีในภาพรวมของการวิจัยในคนจำนวน 127 ฉบับ

ผลการศึกษามีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งกล่าวคือ ใน 106 ฉบับมี 77 ฉบับ (72.6%) แสดงผลว่า ยาโฮมีโอพาธีมีผลการรักษาที่สูงกว่ายาหลอก หรืออาจกล่าวได้ว่ายาโฮมีโอพา-ธีไม่ใช่ยาหลอกนั่นเอง และในรายงาน 21 ฉบับพบว่ามี 21 ฉบับ (100%) แสดงผลว่ายา โฮมีโอพาธีมีผลการรักษาไม่ด้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน ทั้งนี้คำว่าไม่ด้อยกว่าอาจหมายถึงมีผลการรักษาเทียบเท่าหรือสูงกว่ายาแผนปัจจุบันที่เปรียบเทียบ ตัวอย่างรายงานการวิจัยดังแสดงในตารางที่ 3.1

ตารางที่ 3.1 ตัวอย่างสรุปรายงานด้านประสิทธิผลของยาโฮมิโอพาธีจากวารสารต่างประเทศของ Guna S.r.l.

โรค / ความเจ็บป่วย ผู้ทำวิจัย ชื่อการวิจัย วารสารที่ตีพิมพ์ ผลสรุป

การวิจัย

1. โพรงจมูกและตาอักเสบที่เนื่องจากการแพ้

(Allergic rhinitis and oculorhinitis)

Wiesenauer M. et.al. The treatment of pollinosis with Galphima glauca Fortsch Med., 1983, 101:811-814. ยาโฮมิโอพาธีให้ผลการรักษาสูงกว่ายาหลอก
Reily D.T. and Taylor M.A. Potent placebo or potency?

A proposed study model with its initial findings using homeopathically prepared pollens in hayfever.

British Homeopathy Journal., 1985, 74:65-75. ยโฮมิโอพาธีให้ผลการรักษาสูงกว่ายาหลอก
Wesenauer M. et.al. The treatment of pollinosis with Galphima glauca: double blind Clinical trial. Allergologie., 1990, 13: 359-363. ยาโฮมิโอพาธีให้ผลการรักษาสูงกว่ายาหลอก
Taylor M.A. et.al. Randomized controlled trial of homeopathy versus placebo in perenial allergic rhinitis with overview of four trai series. British Medical Journal 2000 August, 19-26: 321 (7259): 471-6. ยาโฮมิโอพาธีให้ผลการรักษาสูงกว่ายาหลอก
Matusiewicz R. The efficacy of Engystol in cases of bronchial asthma treated with corticosteroids. Biologische Medizin., 1995, 5: 242-246. ยาโฮมิโอพาธีให้ผลการรักษาไม่ด้อยกว่ายาแผนปัจจุบันที่เปรียบเทียบ
Weiser M. et.al. A randomized equivalence trial comparing the efficacy and safety of Luffa comp-Heel nasal spray with cromolynsodium spray in the treatment of seasonal allergic rhinitis. Research in Complementary Medicine, 1999/6. ยาโฮมิโอพาธีให้ผลการรักษาไม่ด้อยกว่ายาแผนปัจจุบันที่เปรียบเทียบ
โรค / ความเจ็บป่วย ผู้ทำวิจัย ชื่อการวิจัย วารสารที่ตีพิมพ์ ผลสรุป

การวิจัย

2. โรคข้ออักเสบ

(Rheumatoid arthritis)

Gibson R.G. et.al. Homeopathic therapy in rheumatoid arthritis : evaluation by double-blind clinical therapeutic trial. British Journal of Clinical Phamacology., 1980; 9: 453-459. ยาโฮมิโอพาธีให้ผลการรักษาสูงกว่ายาหลอก
Wiesenauer M. and Gaus W. Demonstration of efficacy of a homeopathic medicine in chronic polyarthritis. Randomised double-blind trial. Akt Rheumatol., 1991, 16: 1-9. ยาโฮมิโอพาธีให้ผลการรักษาสูงกว่ายาหลอก
Maronna U. et.al. Oral treatment of osteoarthritis of the knee with Zeel S tablets. Orthopaedische Praxis., 2000, 5. ยาโฮมิโอพาธีให้ผลการรักษาไม่ด้อยกว่ายาแผนปัจจุบันที่เปรียบเทียบ
Van Haselen R.A. A randomized controlled trial comparing topical piroxicam gel with a homeopathy gel in osteoarthritis of the knee. Rheumatology (Oxford), 2000 July,;39(7): 714-9. ยาโฮมิโอพาธีให้ผลการรักษาไม่ด้อยกว่ายาแผนปัจจุบันที่เปรียบเทียบ
โรค / ความเจ็บป่วย ผู้ทำวิจัย ชื่อการวิจัย สารวารที่ตีพิมพ์ ผลสรุป

การวิจัย

3. การป้องกันอาการแทรกซ้อนที่เกิดจากให้ยาเคมีในการรักษา

(Prevention of complications of chemotherapy)

Oberbaum M. et.al. A randomised, controlled clinical trial of the homeopathic medication Traumeel S in the treatment of chemotherapy induced stomatitis in children undergoing stem cell transplantation. Cancer – August 1, 2001/ Vol 92/ Number 3. ยาโฮมิโอพาธีให้ผลการรักษาไม่ด้อยกว่ายาแผนปัจจุบันที่เปรียบเทียบ
โรค / ความเจ็บป่วย ผู้ทำวิจัย ชื่อการวิจัย วารสารที่ตีพิมพ์ ผลสรุป

การวิจัย

4. แผลที่ผิวหนัง

(Skin Lesion)

Paterson J. Report on Mustard Gas Experiment. J. Am. Inst. Homeopathy, 1944, 37:47-50, 88-92. ยาโฮมิโอธีให้ผลการรักษาสูงกว่ายาหลอก
Balzarini A. et.al. Efficacy of Homeopathic treatment of skin reaction during radiotherapy for breast cancer : a randomised, double-blind clinical trial. British Homeopathy Journal., 2000 Jan;89(1): 8-12. ยาโฮมิโอพาธีให้ผลการรักษาสูงกว่ายาหลอก
โรค / ความเจ็บป่วย ผู้ทำวิจัย ชื่อการวิจัย วารสารที่ตีพิมพ์ ผลสรุป

การวิจัย

5. โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร

(Gastrointestinal apparatus)

Ritter H. Double-blind homeotherapeutic study and the issues involved. Hippokrates, 1966, 12: 472-476. ยาโฮมิโอพาธีให้ผลการรักษาสูงกว่ายาหลอก
Ralfs V.W. and Mossinger P. Asa foetida in treatment of irritable colon: double-blind clinical trial. Dtsch. Med. Wschr., 1979, 104: 140-143. ยาโฮมิโอพาธีให้ผลการรักษาสูงกว่ายาหลอก
Jacobs J. et.al. Treatment of acute childhood diarrhoea. A randomised clinical trial in Nicaragua. Pediatrics, 1994, 93: 719-725. ยาโฮมิโอพาธีให้ผลการรักษาสูงกว่ายาหลอก
Stukalova E.N. Efficacy of homotoxicological treatment in early toxaemia of pregnancy. B.T., 2000, 4 (Ukrainian edition) ยาโฮมิโอพาธีให้ผลการรักษาไม่ด้อยกว่ายาแผนปัจจุบันที่เปรียบเทียบ
โรค / ความเจ็บป่วย ผู้ทำวิจัย ชื่อการวิจัย วารสารที่ตีพิมพ์ ผลสรุป

การวิจัย

6. โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ

(Respiratory apparatus, common cold and ENT)

Lecoq P.L. Therapeutic pdssibilities in the treatment of influenza syndromes. Cah. Biother., 1985, 87: 65-73. ยาโฮมิโอพาธีให้ผลการรักษาสูงกว่ายาหลอก
Casanova P. and Gerard R. Results of three years of randomised multicentric studies with Oscillococinum/ placebo Proposta Omeopatica 3, Anno IV,ottobre 1988 ยาโฮมิโอพาธีให้ผลการรักษาสูงกว่ายาหลอก
Jacobs J. et.al. Homeopathic treatment of acute otitis media in chldren : a preliminary randomised placebo-controlled trial. pediatric Infective Disease Journal., 2001 Feb; 20(2): 177-83. ยาโฮมิโอพาธีให้ผลการรักษาสูงกว่ายาหลอก
Weiser M. and Clasen B.P. Controlled double-blind study of a homeopathic sinusitis medication. Biol. Ther., 1994, 13: 4-11. ยาโฮมิโอพาธีให้ผลการรักษาสูงกว่ายาหลอก
Ferley J.P. et.al. A controlled evaluation of a homeopathic preparation in influenza-like syndromes. British journal of Clinical Pharmacology., 1989; 27: 329-335. ยาโฮมิโอพาธีให้ผลสูงกว่ายาหลอก
Saruggia M. The prevention effect of Oscillococinum in influenza-like syndromes. Results of a multicentric study. Medicina Naturale, 1995/6. ยาโฮมิโอพาธีให้ผลสูงกว่ายาหลอก
Arrighi A. Evaluation of Clinical efficacy in a homotoxicologic protocol for prevention of recurrent respiratory infections in pediatrics. La Medicina Biologica, 2000. 3: 13-21. ยาโฮมิโอพาธีให้ผลการรักษาไม่ด้อยกว่ายาแผนปัจจุบันที่เปรียบเทียบ

นอกจากนี้ จากรายงานเรื่อง The research evidence base for homeopathy: a fresh assessment of the literature ของ RT Mathie ลงตีพิมพ์ในวารสาร Homeopathy (2003) ได้สรุปงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวัดประสิทธิผลของยาโฮมีโอพาธีจำนวน 93 งานวิจัย ตั้งแต่ปี 1975 ถึงธันวาคม ปี 2002 และเลือกมาเฉพาะงานวิจัยที่มีการทำเป็นวิจัยแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งล้วนเป็นงานวิจัยแบบสุ่มและควบคุม (Randomized Control Trial, RCT) ทั้งสิ้น มีทั้งการวัดผลของยาโฮมีโอ-พาธีเปรียบเทียบกับยาหลอกและวัดผลของยาโฮมีโอพาธีเทียบกับยาตัวอื่น เป็นงานวิจัยที่มีการทำในหลายกลุ่มคนและหลายกลุ่มโรค ผลที่ได้ปรากฏว่า มีทั้งหมด 50 งานวิจัยที่รายงานว่ายาโฮมีโอพาธีมีประสิทธิผลดีอย่างน้อย 1 อย่างที่วัดได้ทางคลินิกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อีก 41 งานวิจัยไม่สามารถสรุปผลได้และมีเพียง 2 งานวิจัยเท่านั้นที่สรุปว่า ยาโฮมีโอพาธีมีผลต่ำกว่ายาที่เทียบเคียง และรายงานฉบับนี้จัดลำดับผลทางคลินิกที่ตอบสนองต่อการบำบัดแบบโฮมีโอพาธีได้อย่างดี 8 อย่าง คือ ท้องเสียในเด็ก (childhood diarrhea) โรคประเภทไขข้อ (fibrositis) โรคภูมิแพ้ที่เกิดจากการแพ้ละอองเกสร(hay fever) ไข้หวัด (influenza) อาการปวด (pain, miscellaneous) อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการฉายรังสีหรือการให้เคมีบำบัด (side-effect of radio- or chemotherapy) ข้อเคล็ด (sprains) และการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจตอนบน (upper respiratory tract infection)

จากหนังสือ The Best Alternative Medicine ของ Dr.Kenneth R.Pelletier (2000) ได้กล่าวไว้ถึงการรวบรวมงานวิจัยโดย Dr.Jos Kleijnen และทีมงานซึ่งในกลุ่มผู้ที่รวบรวมรายงานนี้ ไม่มีใครที่เป็นนักบำบัดแบบโฮมีโอพาธีเลย และเป็นการรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิผลของโฮมีโอพาธีจำนวน 107 งานวิจัย โดยงานวิจัยแต่ละชิ้นเป็นการทำการทดลองแบบควบคุม (controlled trial studied) นำมาประมวลแบบ meta-analysis และได้รับการตีพิมพ์ลงวารสาร British Medical Journal ในช่วงปี 1990-1996 จากการรวบรวมในครั้งนี้ให้ผลสรุปดังนี้ งานวิจัย 81 ชิ้น ให้ผลว่ายาโฮมีโอพาธีมีผลทางการรักษา งานวิจัย 24 ชิ้น แสดงว่าโฮมีโอพาธีไม่ให้ผลในการรักษาและ งานวิจัย 2 ชิ้น ไม่สามารถสรุปผลได้ อย่างไรก็ดีผู้รวบรวมรายงานนี้วิจารณ์ว่า งานวิจัยเหล่านี้ยังมีข้อผิดพลาดอยู่ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง แต่งานวิจัยทั้งหมดที่รวบรวมมานี้มีงานวิจัย 22 ชิ้นที่ได้รับการประเมินอย่างมีคุณภาพสูงโดยนักวิจัย ในจำนวนนี้พบว่ามีงานวิจัย 15 ชิ้นที่แสดงว่ายาโฮมีโอพาธีมีประสิทธิผลในการรักษา และอาการแสดงทางคลินิกที่ได้ผลโดยการรักษาด้วยยาโฮมีโอพาธีดังนี้

– งานวิจัย 4 ใน 9 ชิ้น ให้ผลทางการรักษาโรคในระบบหลอดเลือด

– งานวิจัย 13 ใน 19 ชิ้น ให้ผลทางการรักษาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

– งานวิจัย 5 ใน 5 ชิ้น ให้ผลสำเร็จในการรักษาโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากการแพ้ละอองเกสร

– งานวิจัย 5 ใน 7 ชิ้น ให้ผลแสดงว่ามีการกลับมาทำงานของลำไส้ได้เร็วขึ้น หลังจากการผ่าตัดท้อง

– งานวิจัย 4 ใน 6 ชิ้น ให้ผลสำเร็จในการรักษาโรครูมาตอยด์

– งานวิจัย 18 ใน 20 ชิ้น ให้ผลในการรักษาอาการปวดและช้ำ

– งานวิจัย 8 ใน 10 ชิ้น ช่วยในการรักษาทางจิตใจและปัญหาทางจิต (psychological problem)

– งานวิจัย 13 ใน 15 ชิ้น ให้ผลดีในการรักษาโรคอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือ The Best Alternative Medicine ของ Dr.Kenneth R.Pelletier (2000) ยังกล่าวถึง 3 อาการทางคลินิกที่พบรายงานว่าไม่ให้ผลโดยการรักษาด้วยยาโฮมีโอ-พาธี คือ หูดที่ฝ่าเท้า โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) และการใช้ยาแบบโฮมีโอพาธีเพื่อป้องกันการเกิดอาการต่าง ๆ

  1. ด้านความสมประโยชน์ (Cost-Effectiveness)

ในส่วนองค์ความรู้ของการบำบัดแบบโฮมีโอพาธีนั้น ยังไม่พบรายงานการทำวิจัยที่ชัดเจนในด้านความสมประโยชน์ อย่างไรก็ตามยาโฮมีโอพาธีเป็นยาที่ราคาถูกมากเมื่อเทียบกับยาแผนปัจจุบัน เนื่องจากในตำรับยาใช้สารออกฤทธิ์ (active ingredient) ปริมาณต่ำมากมีแต่ปริมาณของตัวทำละลายเป็นหลักและผ่านกระบวนการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และยังไม่มีระบบการจดสิทธิบัตร ดังนั้นอาจไม่มีความจำเป็นต้องทำการทดลองเปรียบเทียบราคาของการรักษาอย่างจริงจัง เพียงแต่ทำการทดลองประสิทธิผลในการรักษาให้เป็นที่ชัดเจนได้ก็เพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตามพบว่ามีทำการวิจัยเปรียบเทียบเรื่องราคาที่ใช้ในการรักษาโรค เช่น โรคข้อเสื่อม การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ฯลฯ

ตัวอย่างเช่น จากผลรายงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของ Maronna U., Weiser M. และ Klein P. ปี 2000 ลงตีพิมพ์ในวารสาร Orthopaedische Praxis เป็นการทดลองแบบ controlled randomizsed and double-blind clinical trial ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกผุจำนวน 104 คน ใช้ยาโฮมีโอพาธี (Zeel-comp.) 53 คน และยาแผนปัจจุบัน (Diclofenac) 51 คน เป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์ จากผลการวิจัยพบว่า การรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกผุที่เข่าขั้นเล็กน้อยถึงปานกลาง (mild to moderate) ด้วยยาโฮมีโอพาธีให้ผลการรักษาไม่แตกต่างจากยาแผนปัจจุบัน (diclofenac) และมีราคาค่าใช้จ่ายของยาโฮมีโอพาธีที่ 44 ยูโร และยาแผนปัจจุบันที่ 86.73 ยูโร อย่างไรก็ตามยังพบว่ามียาบางชนิดที่ยาโฮมีโอพาธีมีราคาสูงกว่า เช่นจากงานวิจัยของ Maiwald L. และคณะ เป็นการทำวิจัยแบบสุ่มและควบคุมเปรียบเทียบผลการรักษาและราคาของยาแอสไพรินและยาโฮมีโอพาธีต่อการรักษาอาการไข้หวัด ผลปรากฏว่า การรักษาโดยใช้ยาโฮมีโอพาธีให้ผลดีกว่าการรักษาด้วยแอสไพริน (แต่ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ) แต่ราคาของการรักษาด้วยยาโฮมีโอพาธีสูงกว่าการรักษาด้วยแอสไพรินกล่าวคือ ยาโฮมีโอพาธีมีราคาค่าใช้จ่ายที่ 12.40 ยูโร ส่วนยาแอสไพรินมีราคาอยู่ที่ 2.45 ยูโร เป็นต้น

แต่โดยภาพรวมแล้วราคาค่าใช้จ่ายของยาโฮมีโอพาธีก็ยังถูกกว่ายาแผนปัจจุบันมากดัง รายงานเรื่อง Efficacy and Cost-effectiveness ของ Dana Ullman (1995) ได้อ้างถึงรายละเอียดผลการสรุปเรื่องราคาค่ายาโฮมีโอพาธีของรัฐบาลฝรั่งเศสไว้ดังนี้ ในปี 1991 รัฐบาลฝรั่งเศสแสดงตัวเลขค่ารักษาของยาโฮมีโอพาธีเปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบันว่ามีความแตกต่างและมีราคาที่ลดลงอย่างชัดเจน กล่าวคือ ราคาค่ารักษาด้วยยาโฮมีโอพาธีต่อแพทย์หนึ่งคน มีราคาถูกกว่าราคาค่ารักษาด้วยยาแผนปัจจุบันต่อแพทย์(ระดับปฐมภูมิ)หนึ่งคนประมาณ 1 เท่าครึ่ง คือ ราคาค่ารักษาของยาโฮมีโอพาธีอยู่ที่ประมาณ 7 ฟรังค์ฝรั่งเศส และราคาค่ารักษาด้วยยาปัจจุบันประมาณ 23 ฟรังค์ฝรั่งเศส และจากตัวเลขการใช้ยาโฮมีโอพาธีในฝรั่งเศส (ขณะนั้น)ประมาณร้อยละ 5 ของยาทั้งหมดที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ แต่ตัวเลขมูลค่าการเบิกจ่ายกลับคิดเป็นมูลค่าเพียงร้อยละ 1.2 ของมูลค่ายาที่เบิกจ่ายทั้งหมด ทั้งนี้เป็นเพราะราคายาที่ถูกมากนั่นเอง และในรายงานเดียวกันนี้ยังกล่าวถึง งานวิจัยที่ทำที่เมืองซีแอทเทิล วอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นการทำวิจัยเปรียบเทียบอัตราการใช้และราคาค่ารักษา (utilization and cost) ของการบำบัดแบบโฮมีโอพาธี ธรรมชาติบำบัด และการฝังเข็ม ผลปรากฏว่าการบำบัดแบบโฮมีโอพาธีเป็นการรักษาที่มีราคาค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด

นอกจากนี้ยังมีรายงานเรื่อง Does homeopathy reduce the cost of conventional drug prescribing? A study of comparative prescribing costs in General Practice ของ Asha Jain ตีพิมพ์ลงวารสาร Homeopathy (2003) รายงานฉบับนี้เป็นงานวิจัยที่เก็บข้อมูลผู้ป่วยจำนวน 100 คน เป็นเวลา 4 ปี และเป็นการเก็บข้อมูลเปรียบเทียบราคายาระหว่างยาโฮมีโอพาธีและยาแผนปัจจุบัน โดยคำนวณออกมาเป็นค่าใช้จ่ายที่ประหยัดไป (saving) โดยเป็นราคายาเฉพาะที่ได้รับการรักษาจากแพทย์ทั่วไป 1 คน และในการคำนวณราคานี้เป็นการคำนวณเฉพาะราคาค่ายาเท่านั้น ผลปรากฏว่า ค่าเฉลี่ยของค่าใช้จ่ายที่ประหยัดไป (จากการใช้ยาโฮมีโอพาธี) คิดเป็น 60.40 ปอนด์(อังกฤษ) ต่อผู้ป่วย 1 คน

  1. ความน่าเชื่อถือ (Rationale)– สถานการณ์การยอมรับในต่างประเทศ ประเทศต้นกำเนิดและการให้การศึกษา

จากรายงานขององค์การอนามัยโลก เรื่อง การทบทวนสถานภาพทางกฎหมายของการแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก/ผสมผสาน ปี 2544 พบว่า ศาสตร์โฮมีโอพาธีเป็นศาสตร์ 1 ใน 5 ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก รวมทั้งมีการนำไปประยุกต์เข้ากับระบบสุขภาพแห่งชาติในหลาย ๆ ประเทศ เช่น อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน เม็กซิโก อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้น

นอกจากนี้ตามรายงานของ Ilana Dannheiser and Penny Edwards 2002 กล่าวว่าการแพร่หลายของศาสตร์โฮมีโอพาธีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อ 20 – 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งความนิยมในการบำบัดแบบโฮมีโอพาธีแพร่กระจายไปพร้อม ๆ กับแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมและคุณค่าของคนที่เพิ่มมากขึ้น

จากรายงานเปรียบเทียบการสำรวจการแพทย์แบบผสมผสานในภาพรวมของ Fisher and Ward ปี 1994 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3.2 ซึ่งจะเห็นได้ว่าการบำบัดแบบโฮมีโอพาธีค่อนข้างได้รับความนิยมอย่างมากในทวีปยุโรป

ตารางที่ 3.2 แสดงผลสำรวจการใช้การแพทย์ทางเลือกของ Fisher and Ward ปี 1994

ประเทศที่สำรวจ % ประชากร

ที่ใช้ประโยชน์

การฝังเข็ม โฮมิโอพาธี ไคโรแพรกติก สมุนไพร
เบลเยี่ยม 31 19 56 19 31
เดนมาร์ค 23 12 28 23 ไม่มีข้อมูล
ฝรั่งเศส 49 21 32 7 12
เยอรมนี 46 ไม่มีข้อมูล ไม่มีข้อมูล ไม่มีข้อมูล ไม่มีข้อมูล
เนเธอร์แลนด์ 20 16 31 ไม่มีข้อมูล ไม่มีข้อมูล
สเปน 25 12 15 48 ไม่มีข้อมูล
อังกฤษ 26 16 16 36 24
อเมริกา 34 3 3 30 9

จากรายงานเรื่อง The Explosion of Homeopathy in Europe (http//www.homeopathicdoctor.com [4/03/03]) กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์ปัจจุบันในฝรั่งเศสพบว่า ประชาชนของประเทศฝรั่งเศสใช้ยาโฮมีโอพาธีร้อยละ40 และแพทย์ประมาณร้อยละ39 สั่งจ่ายยาโฮมีโอพาธีให้แก่คนไข้ นอกจากนี้ยังพบว่าการยอมรับยาโฮมีโอพาธีในรูปแบบการใช้เป็นยารักษาประจำบ้านของประชาชนมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมารักษาโรคไข้หวัด ส่วนแนวโน้มของสถาบันการศึกษาในฝรั่งเศสขณะนี้พบว่า โรงเรียนแพทย์อย่างน้อย 6 แห่งที่ให้การศึกษาเรื่องโฮมีโอพาธี และมีการสอนโฮมีโอพาธีในทุกโรงเรียนเภสัชกรรมและใน 4 แห่งของโรงเรียนสัตวแพทย์

ในขณะที่ในอังกฤษแม้ว่าโฮมีโอพาธีจะไม่ได้รับความนิยมมากอย่างในฝรั่งเศส แต่การบำบัดรูปแบบนี้ก็เป็นที่ยอมรับของระบบสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ และตามรายงานของ British Homeopathic Association ( http//www.trusthomeopathy.org [ 12/02/04] ) กล่าวว่า ยอดขายของยาโฮมีโอพาธีเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 – 20ต่อปี และอัตราการส่งต่อคนไข้ของแพทย์แผนปัจจุบันมายังแพทย์โฮมีโอพาธีภายใต้ระบบสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 1997 ยอดการส่งต่อคนไข้มายังโรงพยาบาล the Royal London Homoeopathic เพียงแห่งเดียวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ31 และจำนวนผู้ต้องการศึกษาและผู้เข้ารับการศึกษาด้านโฮมีโอพาธีจากโรงเรียนที่ได้รับการรับรองมีจำนวนมากขึ้น และมีการขยายคลินิกโฮมีโอพาธีใหม่ภายใต้ระบบสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษเพิ่มขึ้น โดยในปี 2001 มีการสร้างเพิ่มเติมโดยหน่วยงานที่ให้บริการด้านสุขภาพระดับปฐมภูมิอีก 4 แห่ง (British Homeopathic Association Annual Review 2001)

เยอรมนีประเทศแห่งต้นกำเนิด ขณะนี้เองก็มีความต้องการผู้บำบัดทางด้านนี้โดยเฉพาะสูงมากขึ้น และมีการเรียกร้องให้ในโรงเรียนแพทย์มีการจัดสอนวิชานี้เพิ่มเติมตั้งแต่ปี 1993 (The Best Alternative Medicine, 2000) และแพทย์ทุกคนจะต้องผ่านการเข้ารับการอบรมในวิชานี้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีแพทย์ประมาณร้อยละ20 ที่ใช้การบำบัดแบบโฮมีโอพาธีแก่ผู้ป่วยและสามารถเบิกจ่ายจากระบบประกันสุขภาพของประเทศได้หากเป็นการสั่งใช้โดยแพทย์ และบริษัทประกันของเอกชนจะลดเบี้ยประกันให้เป็นพิเศษสำหรับผู้ประกันตนที่เลือกใช้การบำบัดแบบโฮมี-โอพาธีเป็นการบำบัดแบบแรกเมื่อป่วย

จากรายงานเรื่อง Use of alternative medicine by patients with cancer in rural area of Switzerland ของ Rolf A.Streuli โดยเป็นการสำรวจข้อมูลตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 พฤศจิกายน 2544 (ค.ศ. 2001) สัมภาษณ์ผู้ป่วยมะเร็งจำนวน 108 คนที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาล Langethal (district general hospital) ผลปรากฏว่า มีผู้ป่วยจำนวน 42 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 39 ใช้การรักษาแบบทางเลือกนอกเหนือจากการรักษาแบบแผนปัจจุบันมาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยการรักษาทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การบำบัดแบบโฮมีโอพาธี (คิดเป็นร้อยละ 74) และร้อยละ 57ของแพทย์ สนับสนุนให้ผู้ป่วยของตนเองรับการรักษาแบบทางเลือกอย่างต่อเนื่องด้วยเหตุผลที่ว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องทำให้ผู้ป่วยหมดหวัง

จากวารสาร The Time of London พบว่า สก็อตแลนด์ ก็มีอัตราการเติบโตเรื่องโฮมีโอ-พาธีอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยที่จำนวนผู้ใช้ยาโฮมีโอพาธีมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่านับจากปี 1985 ถึง 1990 จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ11 และจากการสัมภาษณ์ผู้ที่ใช้ยาโฮมีโอพาธีชาวสก็อต พบว่า ในปี 1985 ผู้ใช้ยาโฮมีโอพาธีจำนวนร้อยละ23 กล่าวว่าเขามีการพิจารณาอย่างจริงจังที่เลือกใช้การบำบัดแบบนี้ และตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ40 ในปี 1990 และนอกจากนี้จากรายงานของ British Homeopathic Association (http//www.trusthomeopathy.org [12/02/04]) กล่าวว่ามีแพทย์แผนปัจจุบันชาวสก็อตมาเข้ารับการอบรมเรื่องโฮมีโอพาธีจากสถาบันที่ได้รับการรับรองเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 25

จากหนังสือ The Best Alternative Medicine ของ Dr. Kenneth R. Pelletier (2000) รวบรวมรายงานการสำรวจการใช้ การแพทย์ทางเลือกในอเมริกา ไว้ได้อย่างน่าสนใจดังนี้ การแพทย์แผนปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณเตือนว่าถูกรบกวนการบริโภคโดยการแพทย์ทางเลือกในปี 1993 จากรายงานของ Dr.David Eisenberg (มหาวิทยาลัยฮาร์วาด) ว่าอัตราการใช้การแพทย์ทางเลือกของประชาชนชาวอเมริกันเริ่มสูงขึ้นและกำลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ และตามรายงานการสำรวจนี้กล่าวว่า ประชาชนชาวอเมริกันที่เลือกใช้การแพทย์ทางเลือกจะมีแนวโน้มเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูง รายได้ดี และไม่ใช่คนผิวดำ และกลุ่มคนที่ใช้มักจะมีอายุอยู่ในช่วง 25-49 ปี หรือไม่ก็มีอายุมากกว่า 65 ปี และบุคคลเหล่านี้ก็พอใจที่จะจ่ายเงินด้วยตนเอง เพราะหมดหนทางจากการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันและไม่ได้รับบริการอย่างที่คาดหวังจากการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยสรุปผลการสำรวจการเข้าหาผู้ให้บริการด้านแพทย์ทางเลือกดังตารางที่ 3.3

ตารางที่ 3.3 แสดงรายงานการสำรวจเปอร์เซ็นต์ของผู้เข้ามารับบริการจากผู้ให้บริการด้านการแพทย์ทางเลือก

หน่วยงาน/ผู้ทำสำรวจ ปีที่ทำการศึกษา กลุ่มที่สำรวจ วิธีการสำรวจ % ผู้มาพบผู้ให้บริการด้านการแพทย์ทางเลือก
Einsenberg, et. al. 1990 ทั่วไป โทรศัพท์สัมภาษณ์ 10%
The Alternative Group 1994 Portland โทรศัพท์สัมภาษณ์ 35%

(สำรวจ 2 ปี)

Seattle-King Country Dept. of Public Health 1995 King Country, WA สำรวจข้อมูลจากผู้มาพบแพทย์ที่คลินิก 19%

(สำรวจ 1 ปี)

Oxford Health Plans 1995-1996 CT, NT, NJ โทรศัพท์สัมภาษณ์ สมาชิก จำนวน 750 คน 33%

(สำรวจ 2 ปี)

Unified Physicians of Washington 1996 Seattle สำรวจข้อมูลจากผู้มาพบแพทย์ที่คลินิกของมหาวิทยาลัย 56%

(สำรวจ 1 ปี)

Presbyterian Healthcare System 1996 New Maxico โทรศัพท์สัมภาษณ์ 33%

(สำรวจ 1 ปี)

นอกจากนี้ในปี 1997 Dr.Eisenberg ได้ทำการสำรวจข้อมูลการใช้การแพทย์แบบผสมผสาน/การแพทย์ทางเลือกในอเมริกาอีกครั้งพบว่ามียอดเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 33.8 ในปี 1990 เป็นร้อยละ 42.1 ในปี 1997 และยังมีการสำรวจความสนใจของสมาชิกในกลุ่ม Health Maintenance Organization (HMO) ต่อเรื่องการแพทย์แบบผสมผสาน/การแพทย์ทางเลือกไว้ดังตารางที่ 3.4

การบำบัดแบบโฮมีโอพาธีเริ่มเข้าไปเผยแพร่ในอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1820 และโด่งดังที่สุดในโลกอยู่ในอเมริกาในช่วงปี 1900 และหายไปจากอเมริกาในปี 1930 เนื่องจากระบบการเมืองและอิทธิพลของการแพทย์แผนปัจจุบัน และกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งในอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1970 และมีอัตราการขยายตัวสูงมาก ยอดขายยาโฮมีโอพาธีมีอัตราการขยายตัวสูงถึง 1,000 % ในช่วงระหว่างปลายทศวรรษ 1970 ถึงต้นทศวรรษ 1980 ตามรายงานขององค์การอาหารและยา

ตารางที่ 3.4 แสดงรายงานการสำรวจความสนใจของสมาชิกในกลุ่ม Health Maintenance Organization (HMO) ต่อเรื่องการแพทย์แบบผสมผสาน/การแพทย์ทางเลือก

ระดับความสนใจ Chiropractic Naturopathic Acupuncture Midwife
สนใจมาก 30.30% 20.90% 14.00% 18.00%
สนใจ 25.70% 26.40% 25.20% 16.00%
ไม่สนใจ 14.40% 16.10% 15.90% 6.40%
ไม่สนใจเลย 29.60% 36.60% 44.90% 59.60%

ของอเมริกา และตามรายงานของ Washington Post พบว่าจำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน โฮมีโอพาธีเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัวจากปี 1980 เมื่อเทียบกับปี 1982 แต่กระนั้นก็ตามโฮมีโอพาธีก็ไม่ได้รับความนิยมมากนัก(เมื่อเทียบกับการบำบัดในรูปแบบอื่น)ในอเมริกาและจริง ๆ แล้วการรักษาของนักบำบัดแบบธรรมชาติบำบัด (Naturopathic) ในอเมริกาส่วนหนึ่งก็ใช้โฮมีโอพาธีเป็นวิธีบำบัดร่วมอยู่ด้วยจึงพบรายงานตัวเลขเดี่ยวของการใช้โฮมีโอพาธีในอเมริกาได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตามจากรายงานของ Dr.Eisenberg ในปี 1993 รายงานไว้ใน New England Journal of Medicine พบว่ามีประชาชนชาวอเมริกันประมาณ 2.5 ล้านคนใช้ยาโฮมีโอพาธีในปี 1990 และมีผู้ป่วยประมาณ 800,000 คนได้รับการบำบัดแบบโฮมีโอพาธีจากนักบำบัดในปีเดียวกัน และจากรายงานการสำรวจของ Dr.Eisenberg เช่นกันที่รายงานไว้ใน Journal of the American Medical Association ในปี 1997 กล่าวว่า ตัวเลขของผู้ใช้ยาโฮมีโอพาธีสูงขึ้นประมาณ 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 1990 และโฮมีโอพาธีจัดเป็นการแพทย์ทางเลือกที่เติบโตสูงสุดวิธีการหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการแพทย์ทางเลือกรูปแบบอื่น ๆ

โฮมีโอพาธีเป็นการบำบัดที่ได้รับความนิยมสูงมากในอินเดีย รวมทั้งเป็นการแพทย์ทางเลือก 1 ใน 4 ชนิดที่รัฐบาลอินเดียให้การยอมรับ และในปัจจุบันมีจำนวนสถานศึกษาที่ให้การศึกษาเรื่องการบำบัดแบบนี้โดยเฉพาะสูงถึงหลักร้อยแห่ง (เป็นการให้การศึกษาแบบเต็มเวลา ใช้เวลาเรียน 4 ปีครึ่งถึง 6 ปี แล้วแต่สถาบัน) การบำบัดแบบนี้เริ่มแพร่หลายเข้าไปในอินเดียพร้อมกับนักเดินทางชาวฝรั่งเศส ชื่อว่า ดร.จอห์น มาร์ติน โฮนิกเบอร์เกอร์ (Dr. John Martin Honigberger) ครั้งแรกในปี 1810 และครั้งที่สองในปี 1839 และในครั้งที่สองนี่เอง ดร.จอห์น ได้มีโอกาสเข้ารักษาผู้ปกครองแคว้นปัญจาบในยุคนั้น ผลจากการรักษาประสบความสำเร็จและมหาราชาผู้ครองแคว้นมีความพึงพอใจสูงมาก จึงผลักดันให้มีการนำเอาการรักษารูปแบบนี้เข้าไปใช้อย่างแพร่หลาย จากนั้นการบำบัดแบบนี้จึงแพร่หลายเข้าไปในอินเดียและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วเนื่องจากปรัชญาและทฤษฎีของการรักษามีความสอดคล้องกับความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของอินเดียอยู่แล้ว

ในปัจจุบันสถาบันที่เปิดให้การศึกษาเรื่องโฮมีโอพาธีโดยเฉพาะมีมากมายทั้งในทวีป ยุโรป ออสเตรเลีย อเมริกา และอินเดีย โดยทั่ว ๆ ไป หลักสูตรขั้นพื้นฐานจะใช้เวลาเรียนทั้งหมดประมาณ 4 ปี สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่หากจบการศึกษามาจากสาขาแพทย์หรือเภสัชกรรม อาจลดระยะเวลาหลักสูตรได้เหลือประมาณ 2 ปี หลังจากเมื่อจบแล้ว ก็จะได้ประกาศนียบัตรเทียบเท่ากับปริญญาตรี (Diploma) และสามารถเรียนต่อเนื่องไปจนถึงระดับปริญญาเอกได้

นอกจากจะมีการให้การศึกษาในเรื่องการบำบัดแบบโฮมีโอพาธีอย่างแพร่หลายแล้วในบางประเทศยังมีการให้ทุนจากรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการพัฒนางานทางด้านโฮมีโอพาธีภายใน ประเทศด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการก่อตั้งสมาคมที่เกี่ยวข้องกับโฮมีโอพาธีมากมาย เช่น Homeopathic Medical Association ในฮังการี Canadian Medical Association ในแคนาดา ซึ่งมีกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการแพทย์ทางเลือกและมีเรื่องของโฮมีโอพาธีรวมอยู่ เป็นต้น

สถานการณ์ในประเทศไทย

จากการสำรวจข้อมูลในเบื้องต้นเมื่อปีงบประมาณ 2546 ไม่พบว่ามีการเปิดให้บริการทางการแพทย์ด้านโฮมีโอพาธีแบบเดี่ยวในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นการให้บริการแบบผสมผสานร่วมกับการบำบัดทางเลือกแบบอื่น ๆ และเน้นไปในด้านที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคร่วมกับการส่งเสริมสุขภาพ ส่วนผู้ให้คำปรึกษาจะเป็นชาวต่างชาติทั้งหมด ผู้ที่มารับบริการนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและคนไทยที่มีรายได้ในระดับสูง มีการศึกษาดีและผ่านมาจากการบอกปากต่อปาก ไม่มีการโฆษณาผ่านสื่อใด ๆ

แต่จากการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2547 (ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2546 – กุมภาพันธ์ 2547 และ เดือนกรกฎาคม – ตุลาคม 2547) กลับพบว่า การนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาใช้ในกลุ่มประชาชนเริ่มขยายตัวเป็นวงกว้างขึ้นทั้งในรูปแบบของการรักษา และการเสริมความงามโดยการดัดแปลงมาเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปของเครื่องสำอางค์ที่มีความเฉพาะต่อบุคคลมากขึ้น และมีการดูแลเพิ่มเติมเรื่องอาการแพ้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนผิวพรรณ และมีการนำส่งตัวอย่างเนื้อเยื่อที่มีปัญหากลับไปที่เยอรมนีและส่งเป็นยารับประทานในรูปแบบของไอโซพาธี ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งที่นำมาใช้ในการดูแลความงามในร้านกำลังอยู่ในระยะเวลาที่ขอขึ้นทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอยู่

ส่วนในด้านการบำบัดรักษาพบว่า กลุ่มชาวอินเดียที่อยู่ในกรุงเทพฯ มีการนัดหมอโฮมีโอ-พาธีจากประเทศอินเดียมาให้การรักษาเป็นแพทย์ประจำครอบครัวอยู่เป็นนิจ และเริ่มมีประชาชนให้ความสนใจและเรียกหาการบำบัดแบบนี้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มองค์กรเอกชนที่ให้การช่วยเหลือเด็กยากไร้ กำพร้า หรือ บิดามารดาทอดทิ้ง หญิงหม้ายที่ไม่มีที่อยู่อาศัยและไม่มีรายได้ และชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลในชนบทนำการรักษารูปแบบนี้ไปใช้ ผลโดยภาพรวมนั้นผู้รับบริการแสดงความพึงพอใจสูง เนื่องจากยาดังกล่าวให้ประสิทธิผลในการรักษาค่อนข้างสูง มีราคาประหยัดเมื่อเทียบกับการไปโรงพยาบาลและการกลับมาเป็นโรคซ้ำของคนในชุมชนต่ำลง (ชุมชนใช้การรักษารูปแบบนี้มาตั้งแต่ กุมภาพันธ์ 2547)

จากการประมวลผลข้อมูลทางการรักษาโดยการลงไปสังเกตการณ์ในพื้นที่ดังกล่าว ของกองการแพทย์ทางเลือกระหว่างวันที่ 12-23 ตุลาคม 2547 โดยเป็นการให้บริการแบบผู้ป่วยนอกและมีการนัดติดตามผล พบว่ามีผู้ป่วยเข้ารับบริการทั้งสิ้น 157 คน ระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคม 2547 แต่ติดตามผลได้เพียง 43 คน เป็นช่วงกลุ่มอายุ 12-55 ปีเป็นส่วนใหญ่คือ ร้อยละ 62.79 และเป็นหญิงมากกว่าชายคือ หญิงร้อยละ74.42 ชายร้อยละ 25.58 ผลการรักษาพบว่าผู้ป่วยร้อยละ 74.42 (32 คน) แสดงว่ามีอาการป่วยทางคลินิกดีขึ้นอย่างน้อย 1 อย่าง ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่แสดงว่าอาการทางคลินิกดีขึ้นทุกอย่างร้อยละ 48.48 (16 คน) มีผู้ป่วยร้อยละ 18.60 (8 คน) แสดงว่าเหมือนเดิม (ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง) และร้อยละ 4.65 (2 คน) แสดงว่าแย่ลง และร้อยละ 2.33 (1 คน) ไม่สามารถสรุปผลได้ ซึ่งจากการสรุปผลพบว่ากลุ่มอาการที่การรักษาแบบโฮมีโอพาธีตอบสนองได้ดี (มากกว่าร้อยละ 70) คือกลุ่มอาการเฉียบพลัน เช่น น้ำร้อนลวก พิษจากแมลง และความเจ็บป่วยที่นิยามไม่ได้ชัดเจนเช่น หัวหนัก มึน ปวดร้อน ปวดแหลม นอนไม่หลับ ชาและตะคริวบ่อย ๆ เป็นต้น รวมทั้งความเจ็บป่วยที่นิยามได้ชัดเจนบางประเภทเช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจตอนบน กลากเกลื้อน การชัก ปวดหัวบ้านหมุน เป็นต้น อย่างไรก็ดีการเก็บตัวอย่างในครั้งนี้เป็นการสังเกตุการณ์ในระยะสั้น ๆ กลุ่มตัวอย่างจำนวนน้อยเกินไปและไม่ได้มีการวางแผนการเก็บข้อมูลล่วงหน้า ดังนั้นจึงยังไม่ควรนำผลที่ได้ไปอ้างอิงและควรมีการติดตามผลที่รัดกุมและวางแผนการเก็บข้อมูลที่ดีกว่านี้

นอกจากนี้ จากการสรุปข้อมูลยังพบว่ามีการนำยาโฮมีโอพาธีมาใช้ทั้งสิ้น ประมาณ 57 ตำรับ โดยที่ครอบคลุมการรักษาโรคในกลุ่ม โรคระบบทางเดินหายใจ (ติดเชื้อ หอบหืด) อาการแพ้ โรคผิวหนัง (ผื่นคัน เชื้อรา โรคเรื้อน) โรคในระบบทางเดินอาหาร (โรคกระเพาะ ท้องอืด ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ) โรคระบบหลอดเลือด (ความดัน หัวใจ) โรคระบบประสาท (ประสาทหลอน เสียงแว่ว ชัก) Rheumatic pain, Cerebral malaria ฯลฯ ในจำนวนนี้พบว่าเป็นตำรับยาที่เตรียมขึ้นจากแร่ธาตุ 20 ตำรับ เป็นตำรับที่เตรียมขึ้นจากสัตว์ 2 ตำรับ และจากพืช 34 ตำรับซึ่งเป็นพืชที่พบได้ในประเทศไทย 3 ชนิดคือ กูดขน(Lycopodium clavatum) พญามือเหล็ก(Ignatia) และแสลงใจ(Nux Vomica)

ในส่วนสถานให้บริการพบว่ามีสถานบริการเอกชนในกรุงเทพฯ เริ่มนำการบำบัดดังกล่าวเข้าไปใช้ในสถานบริการประมาณ 2-3 แห่ง ผลจากการสัมภาษณ์แพทย์ผู้ดูแลคนไข้พบว่า ผลที่ได้รับจากการรักษาค่อนข้างดี ผู้ป่วยมีความพึงพอใจและการรักษานี้จะทำให้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยยินยอม(มีการสอบถาม/ทำความเข้าใจ ก่อนให้การรักษา) นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลจากสถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งมีจำนวนผู้ป่วยที่ติดตามผลทั้งสิ้น 14 ราย เป็นชายมากกว่าหญิงพบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการทางคลินิกดีขึ้นอย่างน้อย 1 อย่างจำนวน 9 ราย (ร้อยละ 64.29) เหมือนเดิม 4 ราย (ร้อยละ 28.57) และแย่ลง จำนวน 1 ราย (ร้อยละ 7.14) ในจำนวนที่ดีขึ้น 9 รายนั้นพบว่ามีผู้ป่วยจำนวน 4 ราย (ร้อยละ 44.44) มีอาการทางคลินิกดีขึ้นร่วมกับการมีพัฒนาการด้านอื่น ๆ ที่ดีเพิ่มขึ้นด้วย และจำนวน 1 ราย (ร้อยละ 11.12) หายจากอาการที่เป็น

จากการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้ที่มารับบริการการบำบัดแบบนี้โดยตรง (ผู้ป่วย) ก่อนหน้านี้ (จำนวน 5 ราย) พบว่ามีทั้งที่พึงพอใจและไม่พึงพอใจขึ้นอยู่กับผลของการรักษาและราคาค่าปรึกษาที่แตกต่างกันของนักบำบัดต่างประเทศ ทั้งนี้เป็นเพราะองค์ความรู้เรื่องนี้ค่อนข้างใหม่ ไม่ค่อยมีคนรู้จักจึงไม่มีการกำหนดราคาที่แน่นอนขึ้นกับความเชื่อและความอยากรู้อยากเห็นของแต่ละคน โดยสามารถสรุปเหตุผลที่ตัดสินใจเลือกใช้บริการได้ดังนี้ เป็นทางเลือกของการรักษาที่ไม่ต้องใช้สารเคมี รักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันแล้วไม่หาย และอยากลองดู

อย่างไรก็ดีพบว่า การเก็บข้อมูลผล/การประเมินผลของการรักษาโดยการสัมภาษณ์ (เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้ป่วย มิได้ประเมินจากอาการและข้อมูลที่แท้จริง) อาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เนื่องจาก ความเข้าใจในองค์ความรู้ยังมีน้อยทำให้บางครั้งมีการประเมินผิดพลาด เพราะการตอบสนองต่อโรคของการบำบัดแบบนี้แตกต่างจากการแพทย์แผนปัจจุบัน ดังนั้นการจะประเมินผลจำเป็นที่จะต้องอาศัยผู้ที่เข้าใจองค์ความรู้เป็นผู้ประเมิน และความผิดพลาดก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายในกรณีที่ผู้ป่วยไม่อาจสื่อสารได้เอง เช่นผู้ป่วยเป็นเด็กเล็ก (ต้องสอบถามจากผู้ปกครอง) หรือผู้สูงอายุมาก ๆ หรือคนที่มีอาการผิดปกติทางประสาทมาก ๆ

ในกรณีผู้เชี่ยวชาญ/ นักบำบัดแบบโฮมีโอพาธีที่ให้การบำบัดในประเทศไทยที่รักษาผู้ป่วยโดยตรงพบว่าเป็นชาวต่างชาติทั้งหมด อย่างไรก็ดี พบว่ามีนักบำบัดที่เป็นคนไทยได้รับการศึกษามาโดยตรงจากอเมริกาเช่นกัน เคยนำมาใช้และผลิตใช้เองที่ประเทศไทย ปัจจุบันเลิกผลิตแล้วแต่ยังใช้เป็นยาสำหรับครอบครัวอยู่ และยังพบข้อมูลอีกว่าเคยมีการนำยาโฮมีโอพาธีมาใช้ในผู้ป่วยเอดส์ที่ อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้เตรียมครีมเบสให้ แต่เนื่องจากเป็นโครงการที่ผ่านมาหลายปีแล้วและผู้ทำเป็นชาวต่างชาติ จึงไม่สามารถติดตามผลได้

โมบายแอปพลิเคชัน

 

กรมการแพทย์แผนไทยฯ


สามารถติดต่อเราผ่าน Line

 

ได้แล้ววันนี้

ติดตาม กองการแพทย์ทางเลือก

ผ่านทางโซเชียลมีเดีย​ได้ที่

       


กองการแพทย์ทางเลือก
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
อาคาร 2 ชั้น 6 และชั้น 7 กระทรวงสาธารณสุข
ถนนติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ : 02 591 7007 ต่อ 2607
โทรสาร : 02 149 5637
อีเมล์ : Thaicam2019@gmail.com

5919739
This Month : 20126
Total Users : 1529252
Views Today : 4071
Server Time : 2024-09-20