บทนำ

ผมมีความตั้งใจมานานแล้วว่าจะนำหลักพุทธธรรมซึ่งได้จากการบวชเรียนมา ไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วย แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ทำสักที เนื่องจากสิ่งที่จะทำไม่ใช่หน้าที่ตามสายงานโดยตรงของผม ในวันที่ 25 กรกฏาคม 2544 ผมได้เล่าให้คุณแก้ว (เพื่อนผู้ติดเชื้อ HIV ผู้เขียน เอดส์ไดอารี่วินาทีชีวิต) ฟังถึงความตั้งใจนี้ และเธอก็ได้บันทึกความตั้งใจครั้งนี้ของผมไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในไดอารี่ของเธอ ทำให้ทุกครั้งที่หวนนึกถึงข้อความในหนังสือ ก็เกิดความรู้สึกว่ายังมีงานที่ยังไม่ได้ทำให้สำเร็จค้างอยู่ แต่ในช่วงที่ผ่านมาผมไม่มีโอกาส และจังหวะที่พัฒนางานสำหรับผู้ป่วย เพราะต้องเร่งพัฒนาชุดการเรียนรู้ “ การพัฒนาจิตแนวพุทธ ” จำนวน 6 ชุดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขขึ้นมาก่อน ทำให้ละเลยงานสำหรับผู้ป่วยซึ่งเป็นความตั้งใจแต่แรกเริ่มไป เวลาที่มีโอกาสคุยกับคุณแก้ว เธอก็มักจะเปรยให้ได้คิดอยู่เสมอๆว่าผู้ป่วยเอดส์เขาไม่ได้มีเวลาอยู่รอหมอนานนักนะ
ช่วงต้นเดือนมกราคม พ.ศ.2545 ผมได้มีโอกาสรู้จักกับพี่ไปยาลใหญ่ มิตรทางไซเบอร์อีกท่านหนึ่งทางเว็บไซด์พันทิพย์ดอทคอม พี่เขาป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด อยู่ในระยะสุดท้าย ผมได้มีโอกาสฝากหนังสือ “ กายหายไข้ ใจหายทุกข์ ” โดยพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)ผ่านคุณแก้วให้ช่วยนำไปให้พี่เขาอ่าน ในขณะนั้นพี่เขามีอาการเหนื่อยหอบค่อนข้างมาก หนังสือแทบจะไม่มีประโยชน์ต่อพี่เขาเลยในสภาพร่างกายเช่นนั้น พี่ไปยาลใหญ่จากไปในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ปีเดียวกัน ผมรู้สึกละอายใจที่ละเลยที่จะสานต่อความคิดเพื่อผู้ป่วยตรงจุดนี้ไป เลยเกิดแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าที่จะเร่งงานที่เคยตั้งใจเอาไว้ให้เสร็จเป็นรูปธรรมขึ้นมา

โชคดีที่ผมมีโอกาสได้นำหลักสูตรที่ประยุกต์ขึ้นมาจากหลายๆแหล่งชิ้นนี้ เรียนปรึกษาพระครรชิต คุณวโร ภิกษุผู้ทรงภูมิรู้รูปหนึ่งในวัดญาณเวศกวัน และได้รับคำปรึกษา ชี้แนะ เพิ่มเติม และเน้นย้ำสาระสำคัญจากพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ทำให้ผมรู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งกับความลึกซึ้งของขุมทรัพย์ทางปัญญาของพระพุทธศาสนาซึ่งมีมานานกว่า 2,500 ปีชิ้นนี้ ความกดดันทั้งหมดในขณะนี้จึงตกมาอยู่กับผมซึ่งต้องทำหน้าที่สื่อสาระสำคัญ ที่พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก และท่านครรชิต ได้เมตตาสละเวลาชี้แนะไว้ ถ่ายทอดสู่ผู้ป่วยทั้งหลาย ดังนั้นหากผลงานชิ้นนี้สามารถก่อให้เกิดประโยชน์แก่ท่านได้บ้างไม่มากก็น้อย ขออานิสงส์ผลบุญที่เกิดขึ้นนี้จงตกแก่พี่ไปยาลใหญ่ ผู้ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจอันแรงกล้า ที่ทำให้มองเห็นความประมาท ละเลยเวลาของตัวผมเอง และขอให้อานิสงส์ผลบุญที่เกิดขึ้น จงตกเป็นของท่านผู้มีส่วนร่วมสนับสนุนทำให้งานชิ้นนี้ สำเร็จลุล่วงไปได้ และสามารถนำไปใช้ก่อให้เกิดประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดทำชุดการเรียนรู้ชุดนี้

สำหรับตัวผมเองก็รู้สึกเป็นกังวลอยู่มากเช่นกัน ที่จะต้องนำเสนอสาระทางพุทธศาสนาในยุคสมัยที่การถ่ายทอดความรู้ เน้นความพอใจของผู้รับความรู้เป็นศูนย์กลาง พุทธศาสนาจะพูดในสิ่งที่เป็นความจริง ซึ่งความเป็นจริงอาจทำให้บางคนชอบใจ หรือไม่ชอบใจก็ได้ แต่ความชอบใจหรือไม่ชอบใจของใครก็ตามที ก็ไม่ได้ทำให้ความจริงเปลี่ยนแปลงไป ความจริงก็ยังคงเป็นความจริง ผมจึงตั้งความปรารถนาไว้ อยากให้ทุกท่านสามารถมองหาประโยชน์จากความจริงนี้ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ มีความสุขใจในการดำเนินชีวิตประจำวันให้ได้มากที่สุด

การนำเสนอในวันนี้อาจจะแตกต่างจากหลักสูตรการฝึกจิตโดยทั่วไปที่มักเน้นเฉพาะด้านการฝึกจิตเพียงอย่างเดียว แต่ชุดการเรียนรู้นี้เป็นการนำเสนอโดยใช้หลักไตรสิกขา คือให้ผู้ฟังมองเห็นความสำคัญแบบองค์รวมทั้งด้านวินัย (ศีล) ซึ่งเป็นบาทฐานของการฝึกจิต (สมาธิ) เพื่อพัฒนาปัญญาให้รู้ เข้าใจโลก และชีวิตตามความเป็นจริง เพื่อให้เกิดการปล่อยวางของจิตใจ
การเรียนรู้ครั้งนี้ผมได้นำเสนอโดยใช้สไลด์ และแผ่นใส เพราะเป็นสื่อการสอนที่ช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดทำ สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง และหากมีการนำหลักสูตรนี้ไปขยายผลต่อในอนาคต ก็จะช่วยให้สามารถลดต้นทุนในการจัดทำสื่อการสอนสำหรับวิทยากรขยายผล และยังสามารถควบคุมคุณภาพของหลักสูตรการสอนให้เผยแพร่เป็นเนื้อหาเดียวกันทั้งประเทศได้ก่อนการฝึกอบรมทุกครั้งผมขอให้พวกเราร่วมกันสวดมนต์อย่างย่อๆ โดยพร้อมเพียงกัน ระลึกบูชาคุณพระรัตนตรัย อันประกอบด้วยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และเพื่อแสดงความเคารพ บูชาครูอาจารย์ที่ช่วยสืบสาน และถ่ายทอดพุทธธรรมมาถึงพวกเราในปัจจุบันนี้

น.พ.ชูฤทธิ์ เต็งไตรสรณ์
สถาบันบำราศนราดูร

บทที่ 1 สมาธิ สติ

1. กาย กับ จิต สัมพันธ์กันเช่นไร ?

ชีวิตคนเราประกอบไปด้วยกาย กับใจ ดังนั้นชีวิตที่ดีย่อมต้องอยู่ในสภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ ร่างกายของเราเมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นย่อมมีเหตุที่มาของโรคนั้นๆ สาเหตุอาจเนื่องมาจากตัวเชื้อโรค สภาพแวดล้อมเป็นพิษ สภาพจิตใจที่สับสน อ่อนแอ ฯลฯ ส่วนจิตใจที่เป็นโรค คือจิตใจที่เป็นทุกข์ หดหู่ หงอยเหงา ว้าเหว่ โศกเศร้า เพราะจิตคุ้นคิดปรุงแต่งก่อทุกข์ไปต่างๆนานา
ร่างกายที่มีทุกข์ จะทำให้ใจเกิดความทุกข์เพิ่มมากขึ้น และใจที่ทุกข์เพิ่มขึ้นนี้ก็จะส่งผลกลับไปทำให้สภาพร่างกายทรุดโทรมลงไปอีก และร่างกายที่ทรุดโทรมลงก็ส่งผลต่อเนื่องให้จิตใจทรุดลงสืบเนื่องต่อไปอีก เมื่อผู้ป่วยเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา นอกจากจะเกิดผลต่อตัวผู้ป่วยเองแล้วยังส่งผลต่อเนื่องทำให้ใจของญาติๆที่อยู่ใกล้ชิดเกิดความทุกข์ตามไปด้วย เมื่อญาติเกิดความทุกข์ใจ ก็มีผลย้อนกลับไปทำให้ใจของผู้ป่วยพลอยทุกข์เพิ่มขึ้นไปอีกเช่นกัน ดังนั้นถ้าหากเราสามารถฝึกใจให้ลดความทุกข์ลงได้ ย่อมจะส่งผลทำให้สภาพร่างกายดีขึ้น เมื่อร่างกายดีขึ้น ก็ส่งผลให้สภาพจิตใจดีขึ้นเช่นกัน
ดังนั้นทั้งตัวผู้ป่วย และตัวญาติเองต่างมีหน้าที่ต้องรักษาใจของตนเองไว้ให้ดี ไม่ให้เกิดความทุกข์ พุทธศาสนาสอนให้ต่างคนต่างมีหน้าที่ต้องรักษาใจของตนเอาไว้ไม่ให้ป่วย ด้วยการฝึกสติ และฝึกสมาธิ เพื่อช่วยพัฒนาปัญญาให้ช่วยมองโลก และชีวิตตามสภาพที่แท้จริงตามที่มันเป็น จะได้ไม่หลงคิดปรุงแต่งให้เกิดทุกข์ใจขึ้นมา
สำหรับตัวผู้ป่วย ต้องแยกให้ได้ว่า การรักษากาย เป็นหน้าที่ร่วมกันทั้งของแพทย์ พยาบาล ตัวผู้ป่วยเอง รวมถึงคนในครอบครัว ชุมชน และสังคม ที่จะต้องช่วยกันดูแลเรื่องทางกายภาพ ส่วนการรักษาจิตใจ เป็นหน้าที่เฉพาะของตัวเราเองที่จะต้องคอยดูแล ต้องพิจารณาให้ได้ว่าถึงแม้ร่างกายของเราจะป่วย แต่ใจของเราไม่จำเป็นต้องป่วยตามกายไปด้วย การที่ใจรู้สึกเป็นทุกข์นั้น นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้โรคทางกายดีขึ้นแล้ว กลับจะทำให้โรคทางกายแย่ลงไปอีก สำหรับญาติผู้ป่วย ต้องแยกให้ได้ว่า เราต้องรักษาใจไม่ให้ทุกข์ตามผู้ป่วยไปด้วย เพราะถึงจะทุกข์ใจไปมากเพียงใด ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคทางกายเร็วขึ้น แต่กลับส่งผลทำให้ผู้ป่วยทุกข์ใจเพิ่มมากขึ้นที่ต้องมาเห็นเราทุกข์ใจ เรามีหน้าที่ช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ป่วย เราก็ทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด ทำได้เท่าไรก็เท่านั้น ถ้าใจเราเบิกบานไม่ทุกข์ กลับจะช่วยให้ผู้ป่วยคลายความกังวลหมดห่วงลงได้อีกทางหนึ่งด้วย

2. สมาธิคืออะไร ?

สมาธิเป็นสมรรถภาพของจิตที่ดีอย่างหนึ่งที่เราทุกคนมีอยู่แล้ว แต่จะมีมากหรือน้อยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วแต่การฝึกฝน และประสบการณ์ที่เราเคยฝึกฝนหรือได้ประสบพบมา สมาธิ คือความมีจิตสงบตั้งมั่นแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่คิดฟุ้งซ่าน บางคนใช้วิธีการต่างๆในการฝึกสมาธิ เช่น การเล่นกีฬา การทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ ตลอดจนถึงการฝึกหัดร้องเพลง เป็นต้น

3. ประโยชน์จากการทำสมาธิ ?

ในประเทศทางตะวันตกปัจจุบันหันมาให้ความสนใจ และทำการศึกษาสมาธิตามแนวทางของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่พบว่า จิตที่เป็นสมาธิทำให้สภาพร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกัน ฮอร์โมนที่มีประโยชน์เพิ่มขึ้น ทำให้โรคหลายๆอย่างมีอาการดีขึ้นเช่น โรคความดันโลหิตสูงเป็นต้น [สามารถหาอ่านรายละเอียดจากเอกสารรวบรวมรายงานวิจัยสมาธิแนวพุทธ โดยนายแพทย์ชูฤทธิ์ เต็งไตรสรณ์ (เอกสารรอตีพิมพ์เผยแพร่)] สมาธิทำให้จิตเกิดความสงบ ผ่องใส รู้สึกผ่อนคลาย และจิตนุ่มนวลเหมาะที่จะนำไปใช้งานพิจารณาความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งภายในใจ และสิ่งที่เกิดภายนอกตัว นอกจากนี้ จิตที่เป็นสมาธิยังเป็นจิตมีพลัง เข้มแข็ง ไม่ถูกกระทบได้ง่าย ปัจจุบันจิตวิทยาตะวันตกหันมาให้ความสนใจในเรื่องสมาธิ และยอมรับการฝึกสมาธิ (Meditation) ในการช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย (Relaxation) ถึงแม้จะมีอุปสรรค์ในการออกแบบการวิจัยเพื่อวัดสภาวะสมาธิซึ่งเป็นนามธรรมด้วยวิธีการทางสถิติ และวิทยาศาสตร์อยู่บ้างก็ตาม

4. สมาธิทางพุทธศาสนาแตกต่างจากสมาธิทั่วๆไปอย่างไร ?

แต่เดิมนับตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีการสะสมผลผลิต จึงเริ่มมีการแบ่งแยกชนชั้นกันขึ้นมา ความทุกข์ ความโลภ เริ่มก่อตัวเพิ่มมากขึ้นในจิตใจมนุษย์ มนุษย์ในยุคนั้นจึงพยายามค้นหาวิธีการต่างๆเพื่อกำจัดความทุกข์ที่มี เกิดการแสวงหาหนทางแตกต่างกันไป การฝึกสมาธิ ตามแนวทางต่างๆ เช่น ฤาษี โยคี ศาสนาพราหมณ์ เชน ตัวพระพุทธองค์เอง ก็ได้ทรงศึกษาตามศาสตร์เหล่านี้มานานกว่า 6 ปี ในช่วงที่ท่านเสด็จออกบรรพชาใหม่ๆ แต่พระองค์พบว่าวิธีต่างๆเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้พ้นจากความทุกข์ไปได้ พระองค์จึงทรงค้นหาด้วยวิธีการของพระองค์เอง และพบว่าการพัฒนาปัญญาให้เกิดความรู้ และเข้าใจความเป็นไปของโลกและชีวิต จนใจสามารถปล่อยวางไม่เกิดความทุกข์แทรกเข้ามาได้ เป็นวิธีกำจัดทุกข์ที่ต้นเหตุ ดังนั้นจิตที่เป็นสมาธิในทางพุทธศาสนานอกจากจะเป็นจิตที่ สงบ ผ่องใส มีพลังแล้ว เรายังสามารถนำสภาวะจิตที่เป็นสมาธินี้ ไปใช้งานพิจารณาสิ่งต่างๆ เช่นพิจารณาความรู้สึกต่างๆที่ปรากฏ พิจารณาดูจิตที่รับรู้ความรู้สึกนั้น และพิจารณาดูความเป็นไป ความถูกต้องเหมาะสมที่แท้จริงว่าเป็นเช่นไร นั้นคือจิตที่เหมาะสมในการใช้ปัญญา
สมาธิ จิตตั้งมั่น มีประโยชน์สัมพันธ์ในการใช้พิจารณาดูสิ่งต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราอ่านหนังสือในรถ ที่วิ่งบนถนนไม่เรียบ เราจะอ่านหนังสือได้ช้ากว่าการอ่านหนังสือบนพื้นนิ่ง ยิ่งเราต้องดูสิ่งที่เล็กมากเท่าไร ความนิ่งยิ่งจำเป็นมากขึ้นเท่านั้น เช่นการดูจุลชีพทางกล้องจุลทัศน์เป็นต้น เราจำเป็นต้องหาตัวยึดสไลด์ที่นิ่งมาก หากขยับนิดหน่อยก็มองไม่เห็นเชื้อโรคแล้ว การดูจิตของเราซึ่งเป็นนามธรรมดูได้ยากยิ่ง จึงจำเป็นต้องฝึกจิตให้นิ่งเพื่อให้สามารถพิจารณาสิ่งต่างๆได้อย่างชัดเจน สมาธิทางพุทธศาสนาเราจะไม่หยุดจมแช่ ติดอยู่เพียงความดื่มด่ำกับปีติ สุข ของสมาธิเท่านั้น

5. สติคืออะไร ?

สติ คือ ความระลึกได้ หมายถึง
1.การควบคุมจิตไว้กับกิจที่ทำหรือเกี่ยวข้องอยู่ ความไม่เผลอ
2.การระลึกได้ถึงสิ่งที่ผ่านเลยไปแล้ว
ตามธรรมดาก็มีเรื่องราวต่างๆเกิดขึ้นในจิตใจเรา และเกิดภายนอกตัวอยู่แล้ว เพียงแต่บางทีเราไม่ทันได้สังเกตเห็น การที่เราระลึกรู้ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเรียกว่าเรามีสติ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีความโกรธเกิดขึ้นบางคนไม่มีสติระลึกรู้ความโกรธ ปล่อยให้ความโกรธครอบงำก่อให้เกิดการกระทำที่น่าสลด เช่นฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ดังที่ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ถ้าเรามีสติระลึกรู้ทันความโกรธได้ ก็จะทำให้จิตมีช่องทางให้ปัญญาเข้ามาพิจารณาถึงเหตุถึงผลก่อนที่จะกระทำการต่างๆลงไป

6. ความแตกต่างระหว่างสติ และ สมาธิ ?

เราอาจฝึกเพื่อแยกความแตกต่างระหว่างสติ และสมาธิ ซึ่งต่างเป็นสมรรถภาพของจิตที่ดีทั้งคู่ซึ่งทำงานสัมผัสใกล้ชิดกันมาก ด้วยการฝึกอย่างง่ายๆ คือ การฝึกปฏิบัติการใช้สติที่ปลายนิ้ว โดยให้ลองหลับตาลงเพื่อลดสิ่งกระทบจากภายนอกที่ผ่านเข้ามาทางตา ถูนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือข้างที่ถนัด เมื่อรับรู้ถึงสัมผัสที่ปลายนิ้วแล้ว ให้จิตจดจ่ออยู่สัมผัสที่ปลายนิ้วเป็นเวลาติดต่อกันนานประมาณ 1 นาที บางท่านอาจจะเผลอเกิดความคิดเรื่องอื่นๆแทรกขึ้นมา ลืมตั้งจิตให้อยู่ที่สัมผัสปลายนิ้ว เมื่อละลึกขึ้นได้ให้นำจิตไประลึกถึงสัมผัสที่ปลายนิ้วดังเดิม จิตที่สามารถตั้งมั่นอยู่ที่สัมผัสที่ปลายนิ้วได้ติดต่อกันตามตั้งใจ เรียกว่า จิตเป็น สมาธิ ความระลึกว่าขณะนี้จิตเราตั้งมั่นอยู่กับสัมผัสปลายนิ้ว หรือขณะที่ระลึกว่าความคิดของเราเกิดฟุ้งซ่านไปแล้ว เรียกว่า สติ วิธีระลึกถึงสัมผัสที่ปลายนิ้วเป็นวิธีที่เราอาจจะใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบการหายใจ เช่น โรคมะเร็งปอด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น
เราอาจจะเปลี่ยนสิ่งที่กำหนดให้จิตจับอยู่เป็นสิ่งอื่นๆได้เช่น สัมผัสของลมหายใจของเราที่ปลายจมูก หรือระลึกถึงสิ่งที่ดีงามต่างๆ เช่น คุณของพระพุทธองค์ พระผู้เป็นเจ้าที่เราศรัทราตามศาสนาของเราพระราชกรณียกิจขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ก็ได้เช่นกัน แต่ในการอบรมครั้งนี้ขอให้ลองเปลี่ยนไปใช้สัมผัสของลมหายใจที่ปลายจมูก ซึ่งวิธีนี้จะค่อยข้างมีประโยชน์หลายอย่างเช่น ลมหายใจเป็นสิ่งที่มีอยู่ติดตัวคู่กับชีวิตของคนเราอยู่แล้ว ไม่ต้องลำบากในการจัดหาหรือพกพาไปไหนๆด้วย และวิธีฝึกโดยใช้ลมหายใจสามารถใช้ในการฝึกสมาธิในระดับสูงๆขึ้นไปเช่น ระดับรูปญาณ และอรูปญาณได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนสิ่งที่กำหนดให้จิตตั้งอยู่ สำหรับผู้ที่ไม่เคยฝึกสมาธิโดยใช้ลมหายใจอาจจะลำบากในการจับสัมผัสของลมหายใจในเบื้องต้น ส่วนผู้ที่เคยฝึกมาก่อนจะรู้สึกว่าการกำหนดลมหายใจเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกกว่าการกำหนดโดยใช้สัมผัสที่ปลายนิ้วเป็นสิ่งกำหนดให้จิตตั้งอยู่ ในขั้นตอนนี้เราอาจกำหนดคำบริกรรมลงไปกำกับจังหวะของการหายใจ เช่น หายใจเข้าบริกรรม พุทธ หรือหายใจออกบริกรรม โธ แต่ในการฝึกครั้งนี้ขอให้ลองบริกรรมโดยการบอกให้จิตรับรู้ว่า กายและจิตเป็นคนละส่วนกัน ถึงแม้กายเราจะเจ็บป่วยอยู่ แต่จิตของเราไม่จำเป็นจะต้องเจ็บป่วยตามกายไปด้วย โดยบริการรมว่า (ถึง)กายป่วย ในขณะหายใจเข้า และบริกรรม ใจไม่ป่วย ขณะหายใจออก
สิ่งที่เกิดขึ้นในจิตจะส่งผลกระทบอาการทางกายได้ เช่น ความกลัว ความกังวลในใจ อาจทำให้เรารู้สึกว่าความเจ็บปวดของเรามากกว่าคนอื่นๆ ดังนั้นในขณะที่เราเกิดความเจ็บปวดทางกายขึ้นมา เมื่อเรารับทานยาตามที่แพทย์จ่ายให้แล้ว เราอาจใช้วิธีการบังคับจิตโดยใช้เทคนิค ฝึกปฏิบัติการใช้สติจับที่ลมหายใจกับจินตนาการ หายใจเข้านำพลังเข้ามา หายใจออกนำความเจ็บปวดออกไป โดยการหลับตา มุ่งความสนใจให้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ลึกๆ ช้าๆ โดย ลองจินตนาการความเจ็บปวดของเรามีปริมาณเป็นความเข้มข้นสีแดง

ขณะหายใจเข้าจินตนาการว่าสูดหายใจเอาพลังสีขาว ใส บริสุทธิ์ เข้ามา ผสมกับความเครียดสีแดงที่มีอยู่

ขณะหายใจออกจินตนาการว่าหายใจเอาความเครียด หรือความเจ็บปวดสีแดงที่มีทิ้งออกไป ปฏิบัติไปสักพักจะรู้สึกความเครียดสีแดง จางลง ปริมาณลดลง และรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ความเจ็บปวดลดปริมาณลง
วิธีการนี้เราอาจจะใช้ในขณะที่เรามีความผิดปกติอยู่ เช่นขณะที่มีความปวดอยู่ ขณะที่มีความเครียดอยู่เป็นต้น สำหรับนักปฎิบัติจะมีประสบการณ์ร่วมกันอย่างหนึ่งคือเมื่อฝึกนั่งสมาธิในตอนแรกๆจะรู้สึกเมื่อยมาก เมื่อฝืนทนไปอีกระยะหนึ่ง ความเมื่อยความเจ็บปวดนั้นจะหายไปทั้งๆที่ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวร่างกายเลย แสดงให้เห็นถึงความเจ็บปวดเป็นสิ่งที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเปลี่ยนแปลงไปได้ สัมพันธ์กับจิตใจโดยไม่ต้องใช้การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพในบางสภาวะเลยก็ได้
สติ คือความระลึกได้ การควบคุมใจไว้กับกิจที่ทำหรือเกี่ยวข้องอยู่ ความไม่เผลอ
สมาธิ คือจิตสงบตั้งมั่นแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่คิดฟุ้งซ่าน
เราอาจเปรียบเทียบนามธรรมเหล่านี้ได้กับลิงที่ถูกเชือกผูกโยงไว้กับหลัก
จิต เสมือน ลิงที่ไม่อยู่นิ่ง มักเผลอคิดนั้นคิดนี้อยู่เรื่อยไป
อารมณ์ เสมือน หลัก (สิ่งที่กำหนดให้แก่จิต เช่นสัมผัสที่ปลายนิ้ว ลมหายใจ)
สติ เสมือน เชือกที่ยึดผูกคอลิงเอาไว้กับหลัก
สมาธิ เสมือน ภาวะสงบนิ่ง อยู่กับหลัก หมดพยศ
เมื่อเราสามารถจับลิงไว้ได้แล้ว เราก็จะสามารถฝึกลิงให้ทำงานได้ต่อไป เช่นเดียวกันกับจิตเมื่อสามารถฝึกให้มีสมาธิ สงบนิ่งได้ตามความต้องการของเรา เราก็สามารถนำ สมาธิจิตนั้นไปใช้งาน ร่วมกับปัจจัยตัวอื่นเช่น ปัญญา ในการพิจารณาสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งภายนอกตัว และภายในตัวเราเองได้เช่นกัน

เราได้เรียนรู้เรื่อง สมาธิ และ สติมาแล้ว ในวิถีปฏิบัติทางพุทธศาสนาซึ่งเรียกกันว่ามรรคมีองค์ 8 ซึ่งแบ่งเป็น 3 หมวดใหญ่ๆ คือหมวดศีล หมวดสมาธิ และหมวดปัญญา ในหมวดปัญญา และศีล จะได้นำเสนอภายหลัง สำหรับหมวดสมาธิซึ่งมี 3 ข้อย่อย สัมมาสติ สัมมาสมาธิ และอีกข้อหนึ่งที่ยังไม่ได้กล่าวถึงเลยคือ สัมมาวายามะ หรือความเพียรชอบ

7. ความเพียรสำคัญอย่างไร ?

ตามปกติคนเราที่ไม่ได้ฝึกฝนจะดำรงชีวิตไม่แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นๆ คือจะเข้าหาสิ่งที่ทำให้เกิดความสุข และหลีกหนีสิ่งที่ก่อให้เกิดความทุกข์ เมื่อเกิดทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามก็ลุกขึ้นดิ้นรนต่อสู้ ชาวตะวันตกที่สภาพแวดล้อมภูมิศาสตร์ไม่เอื้ออำนวยเหมือนทางประเทศในโลกตะวันออก ทำให้คนของเขาต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับธรรมชาติที่คุกคามเขาอยู่ ส่วนในประเทศไทยหรือประเทศตะวันออกซึ่งสิ่งแวดล้อมเป็นใจ ดินน้ำอุดมสมบูรณ์ทำให้คนไทยออกจะเฉื่อยชา ขี้เกียจได้ง่าย การที่จะทำให้คนที่ไม่อยู่ในสภาวะถูกความทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามลุกขึ้นมาเพียรพัฒนาตน ไม่ตกอยู่ในความประมาทนับเป็นเรื่องที่ยากอยู่เหมือนกัน ความเพียรเป็นองค์มรรคข้อหนึ่งที่คอยหนุนองค์มรรคข้ออื่นๆทุกข้อเสมอไป ความเพียรเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ช่วยให้การฝึกปฏิบัติทั้งทางกายและจิตก้าวหน้าขึ้นดังที่ปรากฏในพุทธพจน์ เช่น“ ธรรมนี้ เป็นของสำหรับผู้ปรารภความเพียร มิใช่สำหรับคนเกียจคร้าน ”
“ ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา ความเพียร ท่านทั้งหลายต้องทำเอง ตถาคตทั้งหลายเป็นแต่ผู้บอก(ทาง)ให้ ”
เพียรพยายาม ละและป้องกันจิตที่เป็นอกุศลมิให้เกิดขึ้น (เช่น จิตเศร้าหมอง หดหู่ เป็นต้น)

ความเพียรพยายามช่วยสร้างและพัฒนา จิตที่ดีงาม (กุศล) เช่น สมาธิจิต การเป็นอยู่โดยมีสติ เป็นต้น เมื่อขาดความเพียรการพัฒนาตนก็ไม่อาจก้าวหน้าไปได้ ดังนั้นในการฝึกพัฒนาจิตนอกจากจะต้องฝึก สมาธิ และ สติ ในเบื้องต้นแล้วยังจะต้องฝึกพัฒนาให้มีความเพียรความคู่กันไปด้วย

บทที่ 2 ปัญญา

หลังจากที่ได้เรียนรู้ และฝึกจิตมาแล้ว คือฝึกสมาธิ และฝึกให้มีสติระลึกรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น โดยมีความเพียรเป็นตัวขับเคลื่อนให้การปฏิบัติเจริญก้าวหน้าไปได้ การฝึกจิต หรือฝึกสมาธินี้เป็นการฝึกด้านหนึ่งในสามด้านของไตรสิกขา (ศีล สมาธิ และปัญญา ) ต่อไปจะกล่าวถึงการศึกษาในอีกหมวดหนึ่งคือ “ปัญญา”

8. ปัญญาคืออะไร ?

ปัญญา คือความรู้ทั่ว เข้าใจเหตุผล รับรู้โลกและชีวิตตามที่มันเป็น รู้เท่าทันธรรมดาของสิ่งทั้งหลายว่าเป็นสภาพที่เกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้นมา และเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ ทำให้จิตใจเป็นอิสระไม่ไปยึดติดถือมั่นกับสิ่งใดๆ ปลอดโปร่ง ผ่องใส เป็นอยู่ด้วยปัญญา และบำเพ็ญประโยชน์แก่โลกด้วยเมตตากรุณา
การฝึกการใช้ปัญญาคือการฝึกการใช้ความคิด พิจารณาให้สามารถรู้เท่าทันธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งเกิดจากการปรุงแต่งของปัจจัยต่างๆนั้น เราจึงต้องมาเรียนรู้ว่าองค์ประกอบของชีวิตคนเราคืออะไร สามารถเรียนรู้โลกและชีวิตได้อย่างไร

ชีวิตของคนเรานี้ประกอบด้วยส่วนประกอบ 5 อย่างมารวมกันเรียกว่า ขันธ์ 5

9. ขันธ์ 5 ?

ขันธ์ 5 ซึ่งเป็นองค์ประกอบ 5 อย่างของชีวิตมนุษย์ ได้แก่
รูปขันธ์ หมายถึงส่วนที่เป็น ร่างกาย พฤติกรรม สสาร พลังงาน
เวทนาขันธ์ หมายถึงความรู้สึก เช่น สุข ทุกข์ หรือ ความรู้สึกเฉยๆ
สัญญาขันธ์ หมายถึงการกำหนดหมายเก็บข้อมูล หรือความทรงจำเดิม
สังขารขันธ์ หมายถึงความนึกคิดในใจ ตลอดจนเจตจำนงที่จะทำการต่างๆ
วิญญาณขันธ์ หมายถึงความรับรู้ทางอายตนะทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ)
มนุษย์เราซึ่งประกอบด้วยขันธ์ทั้ง 5 นี้จะติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก และภายในตัวเองโดยใช้ อายตนะ 12อายตนะ 12 ?
การติดต่อสัมพันธ์กับโลกและชีวิตผ่านช่องทางที่เรียกว่า อายตนะ 12 แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
อายตนะภายนอก 6 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งต้องกาย และ อารมณ์ที่เกิดในใจ และ
อายตนะภายใน 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
สิ่งต่างๆเกิดขึ้นเพราะองค์ประกอบต่างๆมาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ไม่ได้มีตัวตนที่แท้ ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัยเท่านั้น ดังนั้นการรับรู้สรรพสิ่งตามความ เป็นจริงจะช่วยให้เกิดความเข้าใจ และจิตสามารถปล่อยวาง ไม่หลงไปตามการปรุงแต่งของความคิดก่อให้เกิด สุขทุกข์
อายตนะภายนอก และอายตนะภายในจะติดต่อสัมพันธ์กันตามช่องทางเฉพาะ เช่น รูปจะรับรู้ผ่านทางตา เสียงจะรับรู้ผ่านทางหู อารมณ์ที่เกิดในใจก็จะรับรู้โดยใช้ใจ เป็นต้น เราไม่สามารถรับเสียงด้วยตาฉันใด เราก็ไม่สามารถรับรู้สมาธิโดยใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้ฉันนั้น ดันนั้นในปัจจุบันวิทยาศาสตร์ทางจิต ได้พยายามขยายขอบเขตเข้าไปศึกษาจิตใจ ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นนามธรรม โดยใช้วิธีการเดิมๆ คือ การวัดที่มองเห็นได้ด้วยตา ฟังได้ด้วยหู วัดกลิ่น วัดรส หรือสัมผัสทางกายภาพ ด้วยวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยปัจจุบันในการเข้าถึงความจริงของจิต

10. การรับรู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง ?

ขอยกตัวอย่างเรื่องสมศรี และสมสมร สองพี่น้องไปเดินเล่นด้วยกันในทุ่งกว้าง ในวันที่ท้องฟ้าสดใส สมศรี มองฟ้าแล้วหวนนึกถึงฟ้าในวันที่แฟนของเธอเคยบอกรักเป็นครั้งแรก แล้วเกิดความรู้สึกสุขใจ
รูป (ท้องฟ้า) + ตา + เห็น (ท้องฟ้า) = ผัสสะ + สัญญา (ความทรงจำของท้องฟ้าในวันที่แฟนเคยบอกรัก) + สังขาร (คิดถึงเหตุการณ์ในวันนั้นและคิดนึกปรุงแต่งวาดภาพจินตนาการไปต่างๆ)  เวทนา คือความรู้สึกสุขใจ
ส่วนสมสมร มองท้องฟ้าในเวลาเดียวกันแต่หวนนึกถึงฟ้าในวันที่คนรักบอกเลิก แล้วเกิดความทุกข์ขึ้น
รูป (ท้องฟ้า) + ตา + เห็น (ท้องฟ้า) = ผัสสะ+ สัญญา (ความทรงจำของท้องฟ้าในวันที่แฟนเคยบอกเลิก) + สังขาร (คิดถึงเหตุการณ์ในวันนั้นและคิดนึกปรุงแต่งวาดภาพจินตนาการไปต่างๆ)  เวทนา คือความรู้สึกทุกข์ใจ
ทั้งๆที่เป็นฟ้าในเวลาเดียวกัน เห็นเหมือนกัน แต่เพราะมีสัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ ที่ต่างกันก่อให้เกิด เวทนาขันธ์ที่แตกต่างกันไป
โรคที่เป็นอยู่ล้วนมีสาเหตุที่มาทั้งสิ้น เมื่อจะรักษาก็ต้องไปรักษาที่สาเหตุ
โรคทางกายการรักษาก็มุ่งรักษาที่ต้นเหตุทางกาย ซึ่งปัจจุบันวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ได้เจริญก้าวหน้า ค้นคว้าในทางลึก และแยกศึกษาเฉพาะด้าน มีวิวัฒนาก้าวหน้าไปมาก โรคทางใจ เช่น ความกลัว ความเศร้า ความวิตกกังวล ก็จะต้องรักษาที่จิตใจของตัวเอง ด้วยตัวเราเองเท่านั้น

จากกิจกรรมดังกล่าว คงจะพอสังเกตุเห็นได้ว่าความทุกข์ของเราก็ไม่ต่างจากสิ่งที่เป็น รูป หรือนามอื่นๆโดยทั่วไป คือมีการเปลี่ยนแปลงไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมภายนอก และปัจจัยภายในตัวเราซึ่งมีความสำคัญมาก ที่มีอิทธิพลต่อการคงอยู่ ตัวมันไม่ได้มีอยู่จริง ซึ่งเป็นไปตามกฎหลัก 3 ข้อที่สำคัญของทางพุทธศาสนาที่เรียกว่า ไตรลักษณ์

11. ไตรลักษณ์ (อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา) ?

ไตรลักษณ์ คือลักษณะสามได้แก่
อนิจจตา คือ ความไม่คงที่ เปลี่ยนแปรสภาพไปเรื่อยๆ เกิดขึ้นและก็สูญไป
ทุกขตา คือ ภาวะที่ถูกบีบคั้น ทำให้คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
อนัตตตา คือ ความไม่มีตัวตนที่แท้จริงเพราะเป็นไปตามเหตุและปัจจัย
ไม่สามารถมีขึ้นมาได้โดยลำพังตัวเอง ต้องสัมพันธ์อยู่กับสิ่งอื่นๆ

12. การใช้ปัญญา (ภาคปฏิบัติการ) ?
สำหรับการนำไปใช้ ผู้ป่วยทั่วๆไปไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ได้ ขอเรียกว่าการใช้ปัญญาในภาคปฏิบัติการ

พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เน้นปัญญา เมื่อมองเห็นสรรพสิ่งรอบๆตัวตามความเป็นจริง และต้องสามารถมองหาประโยชน์จากความเป็นจริงเหล่านั้นให้เป็นด้วย การคิดพิจารณาอย่างแยบคายนี้เรียกว่า โยนิโสมนสิการ ยกตัวอย่างพุทธพจน์ที่ท่านตรัสกล่าวความจริงเอาไว้ว่า “ อาโรคยปรม ลาภา ”ที่แปลเป็นภาษาไทยอย่างแพร่หลายว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ถ้าคนที่ไม่รู้จักพิจารณาอย่างแยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) ได้ฟัง ก็อาจจะหลงระเริงอยู่ในความประมาทคิดไปว่าเรายังไม่มีโรคภัย เราเป็นคนที่โชคดี เลยปล่อยตัวปล่อยใจไม่ระมัดระวังดูแลสุขภาพของตัวเอง ส่วนคนที่ประสบโรคภัยก็จะโศกเศร้า หดหู่ท้อแท้ มัวแต่คิดว่าทำไม่เราถึงได้โชคร้ายอย่างนี้ เราจะต้องแย่แน่ๆ พลอยทำให้โรคทางกายแย่ไปกันใหญ่ ถ้าหากคนที่มีโยนิโสมนสิการได้ฟังประโยคดังกล่าว ถ้าเป็นคนที่มีสุขภาพดีก็จะพยายามดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีเพื่อที่จะได้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนคนที่เจ็บป่วยอยู่ก็สามารถคิดหาประโยชน์จากโรคภัยที่เป็นอยู่ได้ ดังเรื่องในสมัยพุทธกาลมีบันทึกเล่าไว้ว่ามีภิกษุรูปหนึ่งซึ่งถูกเสือกัดกินกำลังจะเสียชีวิต ยังมีสติสามารถใช้ความทุกข์ที่เผชิญอยู่มาพิจารณาจนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้เลย ความจริงแล้วประโยคที่ว่า “ อาโรคยปรม ลาภา ” ท่านไม่ได้หมายความถึงโรคทางกาย ท่านหมายความถึงโรคทางใจดังจะเห็นได้จากประโยคตามมาว่า “ นิพพานํ ปรมํ สุขํ ” นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ดังนั้นสำหรับผู้ป่วยต้องรู้จักคิดพิจารณาอย่างแยบคาย(โยนิโสมนสิการ)ให้เกิดปัญญา มองความเจ็บป่วยเป็นบททดสอบ แบบฝึกหัด หรือเป็นเครื่องฝึกฝนตนเอง ให้มีจิตใจเข้มแข็งอดทน รู้เท่าทันสภาพความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่ ว่าโรคเกิดจากอะไร จะต้องรักษาตัวอย่างไร ทานยาเพื่ออะไร (ถึงยาจะมีรสขมก็ต้องทานเพื่อบำบัดรักษาโรค เพราะเราไม่ได้รับประทานยาเพราะความอร่อย ) รู้ว่ารับประทานอาหารเพื่ออะไร (ถึงอาหารจะมีรสชาดอร่อย แต่หากก่อให้เกิดโทษแก่ร่างกาย ก็ไม่ควรรับประทาน ควรรับประทานแต่อาหารที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย ) รู้ว่าพฤติกรรมใดเป็นผลร้ายต่อสุขภาพ เช่น การนอนดึก เสพสารเสพติด เป็นต้น ซึ่งควรงดเว้น และหมั่นสร้างเสริมพฤติกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพ และทำให้หายจากโรคแทน

การใช้ปัญญาเป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลาในการคิดพิจารณา และฝึกฝนอยู่เสมอๆ สำหรับผู้ป่วยหนักที่ไม่เคยฝึกหรือเตรียมตัวเตรียมใจมาก่อนเลย เมื่อถึงภาวะวิกฤตอาจจะไม่สามารถควบคุมจิตใจได้ จึงมี แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยหนัก ดังนี้

13. วิธีปฏิบัติต่อผู้ป่วยหนัก ?

1. ทางจิต

1.1 ฝึกให้จิตสงบเป็นสมาธิ (สมถกรรมฐาน) หรือ

1.2 ให้มีผู้ชักนำจิตผู้ป่วยให้เกิดจิตใจที่ดีงามเข้ามา เช่น ท่องสัมมาอรหัง(สมมาอรหํ) ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย มีผู้พูดชักนำให้จิตผูกกับบุญกุศลที่ได้กระทำมา
2. ทางปัญญา ให้รู้และเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต เข้าใจกฎไตรลักษณ์ ทำให้จิตปล่อยวาง เป็นอิสระไม่ห่วงกังวล

ขณะนี้เรา ก็จบการเรียนรู้ไปแล้ว 2 หมวด คือหมวดจิต ได้แก่ สติ และสมาธิ ซึ่งจะต้องมีความเพียรปฏิบัติติดต่อกันไปอย่างสม่ำเสมอ และหมวดปัญญา คือการฝึกคิดพิจารณาหาเหตุผลมองตามความเป็นจริง ไม่คิดปรุงแต่งไปตามความชอบใจไม่ชอบใจ ต่อไปเราจะศึกษา ไตรสิกขาหมวดสุดท้ายคือ อธิศีลสิกขา ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการศึกษาทางสมาธิ และ ปัญญา

บทที่ 3 ทาน ศีล

หลักแห่งการทำความดี 3 ประการสำหรับคนทั่วไปที่เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ 3 ประกอบด้วย ทาน ศีล และภาวนา ในส่วนของภาวนาได้แก่การฝึกพัฒนาจิต และพัฒนาปัญญาซึ่งได้กล่าวไปแล้วใน 2 บทแรก ต่อไปจะขอพูดถึงความดีอีก 2 ประการที่เหลือคือ ทาน กับ ศีล

14. ทาน คืออะไร ?

ทาน คือการให้ การเสียสละ การบริจาคให้แก่ผู้อื่น สามารถทำได้ทั้งการแบ่งปันให้เป็นสิ่งของ (อามิสทาน) หรือ การให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน (ธรรมทาน) การทำทานจะช่วยให้จิตใจเอิบอิ่มเมื่อมองเห็นคุณค่าในสิ่งดีๆที่ได้กระทำลงไป ตัดความผูกใจในสิ่งเก่าๆที่ไม่ดี(กรรมเก่า)โดยทำสิ่งดีใหม่ๆขึ้นมา (กรรมใหม่) การให้ทานเป็นการให้ การสละออกไป ไม่ใช่การให้แต่สิ่งของที่ไม่มีประโยชน์กับเราแล้ว ให้เพื่อหวังผลตอบแทนเช่น ทำบุญเพื่อเอาไปหักภาษี ทำทานเพราะหวังจะไปสวรรค์เป็นต้น

15. ศีลคืออะไร

ศีล คือพฤติกรรมกาย วาจา ที่ปฏิบัติในความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง มิให้เป็นโทษแต่ให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อกัน

16. ศีลสำคัญอย่างไรในพระพุทธศาสนา ?

1) เพื่อฝึกพัฒนาชีวิตในขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาในด้านจิตใจและปัญญาต่อไป
2) เพื่อเอื้ออำนวยต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม เมื่อมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันด้วยดีแล้วย่อมเอื้ออำนวยต่อปัจเจกชนที่จะพัฒนาตนให้เข้าถึงสิ่งที่มีคุณค่าสูงขึ้นต่อไปในระดับจิต และปัญญาศีล คือพฤติกรรมหรือความประพฤติที่ดีงาม มีธรรมหมวดหนึ่งที่พระอรรถกถาจารย์ได้ประมวลไว้ ซึ่งสามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดีเรียกว่า ปาริสุทธิศีล หรือความประพฤติ(ดีที่ทำให้เกิดความ)บริสุทธิ์ 4 ประการ ได้แก่

17. ความประพฤติบริสุทธิ์ 4 ประการ ?

1. ปัจจัยสันนิสิตศีล ศีลที่เกี่ยวกับปัจจัยสี่ คือการพิจารณาใช้สอยปัจจัยสี่ด้วยพิจารณาให้เป็นไปตามความหมายที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ ไม่บริโภคด้วยตัณหา เช่น ทานอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายให้สุขภาพดี มีชีวิตผาสุกทำกิจได้สบาย มิใช่เพื่อปรนเปรอหรือสนุกสนานมัวเมา สำหรับผู้ป่วยก็ต้องรู้จักพิจารณาว่าเรากินยา กินอาหารเพื่ออะไรกันแน่ เรากินยาเพื่อไปทำลายเชื้อโรค ถึงแม้ยาจะมีรสขมสักหน่อยก็ต้องหาวิธีกินให้ได้ เรารู้ว่าการรับประทานอาหารเพื่อเสริมสร้างร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ได้ทานเพื่อความเอร็ดอร่อย หรือเพื่อความโก้เก๋ จะได้รู้จักพิจารณาเลือกทานให้ถูกต้อง ไม่ให้เกิดโทษกับตัวเราเอง (รายละเอียดอยู่ในเอกสารประกอบการบรรยายการพัฒนาจิตแนวพุทธ บทที่ 3 “ครอบครัวสุขสันต์”)
ศีลข้อนี้จะสำเร็จได้ด้วย ปัญญา
2. อินทรียสังวรศีล ศีลคือความสำรวมอินทรีย์ ระวังไม่ให้บาปอกุศลธรรม เช่น ความชอบ ชัง ติดใจ หรือขัดใจครอบงำเมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง 6 คือ เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสิ่งกระทบ และใจรู้คิดเรื่องราวต่างๆ เราต้องฝึกให้มีสติอยู่เสมอ ไม่เผลอให้จิตคิดปรุงแต่งให้เกิดความทุกข์เหมือนสมสมร สำหรับผู้ป่วยต้องพยายามมีสติระวังไม่ให้คำพูดที่ไม่เข้าหู สิ่งที่เห็นมากระตุ้นให้จิตปรุงแต่งจนเกิดความทุกข์ใจได้(รายละเอียดอยู่ในเอกสารประกอบการบรรยายการพัฒนาจิตแนวพุทธ บทที่ 3 “ครอบครัวสุขสันต์”)
ศีลข้อนี้สำเร็จได้ด้วย สติ
3. อาชีวปาริสุทธิศีล ศีลคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ ได้แก่การเลี้ยงชีวิตด้วยความชอบธรรมบริสุทธิ์ ไม่ประกอบการแสวงหาในทางที่ผิด ถึงแม้จะเราจะป่วยแต่หากเราสามารถทำงานได้เราก็ต้องขยันทำงาน ทำงานเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น เกื้อกูลต่อสังคม ไม่ใช้คิดแต่จะหาเงินให้ได้มากที่สุดโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อสังคม (รายละเอียดอยู่ในเอกสารประกอบการบรรยายการพัฒนาจิตแนวพุทธ บทที่ 4 “บริหารชีวิตอย่างไรให้เป็นสุขในงาน”)
ศีลข้อนี้สำเร็จได้ด้วย วิริยะ
4. ปาฏิโมกขสังวรศีล ศีลคือความสำรวมในระเบียบข้อบังคับ เว้นข้อห้าม ทำตามข้ออนุญาต ประพฤติเคร่งครัดในการฝึกฝนพัฒนาตนเอง เช่น ทำตามกฎระเบียบของสังคม กฎหมาย ประพฤติตามหลักวินัยของชาวพุทธ (รายละเอียดอยู่ในเอกสารประกอบการบรรยายการพัฒนาจิตแนวพุทธ บทที่ 5 “วินัยชาวพุทธ”)
ศีลข้อนี้สำเร็จด้วย ศรัทธา

18. วินัยชาวพุทธ ?

วินัยชาวพุทธเป็นเรื่องที่กล่าวไว้ใน สิงคาลกสูตร กล่าวถึงเมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ พบชายหนุ่มผมเปียก ผ้าเปียก เมื่อไต่ถามดูได้ความว่า หนุ่มน้อยคนนี้ทำตามคำสั่งของบิดาของเขาก่อนเสียชีวิต ว่าทุกเช้าให้อาบน้ำชำระกาย และไหว้ทิศทั้ง 6 พระพุทธองค์เลยตรัสท้วงว่า ในอริยวินัยเขาไม่ได้อาบน้ำไหว้ทิศเช่นนี้ ท่านจึงได้แสดงธรรมให้ฟังตามลำดับว่า การอาบน้ำ ทางอริยวินัยนั้นหมายถึงการชำระล้างกรรมกิเลส 4 ประการ ไม่ทำชั่วโดยฐานะ 4 ไม่ทำทางแห่งความเสื่อมทรัพย์ 6 ประการ ตลอดจนการไหว้ทิศทั้ง 6 ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติต่อบุคคลรอบข้างดังทิศรอบตัวทั้ง 6 ทิศ พระสูตรเรื่องนี้จึงเปรียบเสมือนหลักการที่เป็นรากฐานชีวิตของชาวพุทธเลยก็ว่าได้ การวางรากฐานชีวิต ชาวพุทธจะต้องดำเนินชีวิตให้ดีงาม และต้องร่วมสร้างสรรค์สังคมให้เจริญมั่นคง ตามกฏ 3 ข้อ

กฎ 1 เว้นความชั่ว 14 ประการ

ก. เว้นกรรมกิเลส (การกระทำที่ทำให้ชีวิตมัวหมอง) 4 คือ

1) ไม่ทำร้ายร่างกายทำลายชีวิต

2) ไม่ลักทรัพย์ละเมิดกรรมสิทธิ์

3) ไม่ประพฤติผิดทางเพศ

4) ไม่พูดเท็จโกหกหลอกลวง
ข. เว้นอคติ (ไม่ความลำเอียง/ประพฤติคลาดธรรม) 4 คือ

1) ไม่ลำเอียงเพราะชอบ

2) ไม่ลำเอียงเพราะชัง

3) ไม่ลำเอียงเพราะขลาด

4) ไม่ลำเอียงเพราะเขลา
ค. เว้นอบายมุข (เว้นช่องทางเสื่อมทรัพย์อับชีวิต) 6 คือ

1) ไม่เสพติดสุรายาเมา

2) ไม่เอาแต่เที่ยวไม่รู้เวลา

3) ไม่จ้องหาแต่รายการบันเทิง

4) ไม่เหลิงไปหาการพนัน

5) ไม่พัวพันมั่วสุมมิตรชั่ว

6) ไม่มัวจมอยู่ในความเกียจคร้าน

กฎ 2 เตรียมทุนชีวิต 2 ด้าน

ด้านแรก เลือกสรรคนที่จะเสวนาโดยหลีกเว้นมิตรเทียม คบหาแต่มิตรแท้ คือ

๏ รู้เท่าทันมิตรเทียม หรือ ศัตรูผู้มาในร่างมิตร 4 ประเภท

1. คนปอกลอก มีแต่คิดจะเอาจากเพื่อนมีลักษณะ 4 ประการ คือ

1) คิดจะเอาแต่ได้อย่างเดียว

2) ยอมเสียน้อย เพื่อหวังจะได้มาก

3) ตัวเองมีภัย จึงมาช่วยเหลือเพื่อน

4) คบเพื่อน เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์
2. คนดีแต่พูด มีลักษณะ 4 ประการ คือ

1) ชอบพูดถึงแต่ของที่หมดไปแล้ว

2) ชอบพูดถึงของที่ยังไม่มี

3) ช่วยเหลือด้วยสิ่งของที่ไม่ค่อยมีประโยชน์

4) เมื่อเพื่อนมีเรื่องเดือดร้อน ปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือ
3. คนหัวประจบ มีลักษณะ 4 ประการ คือ

1) เพื่อนจะทำชั่วก็เออออตาม

2) เพื่อนจะทำดีก็เออออด้วย

3) ต่อหน้าเพื่อน สรรเสริญ

4) ลับหลังเพื่อน นินทา
4. คนชวนฉิบหาย มีลักษณะ 4 ประการ คือ
1) คอยเป็นเพื่อนดื่มเหล้า เสพยา

2) คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน

3) คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการละเล่น

4) คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน

๏ รู้ถึงมิตรแท้ หรือ มิตรด้วยใจจริง 4 ประเภท

1. มิตรอุปการะ มีลักษณะ 4 ประการ คือ

1) เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยตักเตือนห้ามปราม

2) เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยระวังรักษาทรัพย์สินของเพื่อน

3) เมื่อเพื่อนมีภัย เป็นที่พึ่งพิงได้

4) เมื่อเพื่อนเดือดร้อนเรื่องเงิน ช่วยเหลือให้เกินกว่าที่ออกปากขอ
2. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีลักษณะ 4 ประการ คือ

1) ไว้ใจบอกความลับแก่เพื่อนได้

2) ช่วยรักษาความลับของเพื่อน

3) เพื่อนมีภัยอันตรายไม่ทอดทิ้ง

4) แม้ชีวิตก็สละให้เพื่อนได้
3. มิตรแนะนำประโยชน์ มีลักษณะ 4 ประการ คือ

1) เพื่อนจะทำชั่วเสียหาย คอยห้ามปรามไว้

2) แนะนำสนับสนุนให้ตั้งอยู่ในความดี

3) เล่าเรื่องที่เพื่อนยังไม่รู้ให้ฟัง

4) บอกวิธีที่จะทำให้เพื่อนมีความสุข
4. มิตรมีใจรัก มีลักษณะ 4 ประการ คือ

1) เพื่อนมีทุกข์ พลอยไม่สบายใจไปด้วย (ทุกข์ ทุกข์ด้วย)

2) เพื่อนมีสุข พลอยแช่มชื่นยินดีด้วย (สุข สุขด้วย)

3) เขาตำหนิเพื่อน ช่วยออกตัวให้

4) เขาสรรเสริญเพื่อน ช่วยพูดเสริม

ด้านที่ 2 จัดสรรทรัพย์ที่หามาได้ ด้วยสัมมาชีพ ดังนี้
ขั้นที่ 1 ขยันหมั่นทำงานเก็บออมทรัพย์ ดังผึ้งเก็บรวมน้ำหวานและเกสร
ขั้นที่ 2 เมื่อทรัพย์เก็บก่อขึ้นดั่งจอมปลวก พึงวางแผนใช่จ่ายคือ

หนึ่งส่วน เลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว ดูแลคนเกี่ยวข้อง และทำความดี
สองส่วน ใช้ทำหน้าที่การงานประกอบกิจการอาชีพ
หนึ่งส่วน เก็บไว้เป็นหลักประกันชีวิตและกิจการคราวจำเป็น

กฎข้อต่อไปนี้จะกล่าวถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่อยู่รอบๆตัวเรา ให้ถูกต้องเหมาะสม

กฎ 3 รักษาความสัมพันธ์ 6 ทิศ
ปฏิบัติหน้าที่ต่อบุคคลที่ปฏิสัมพันธ์ด้วย ให้ถูกต้องตามฐานะทั้ง 6 คือ

ทิศที่ 1 ในฐานะที่เป็นลูก พึงเคารพบิดามารดา ผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องหน้า ดังนี้

1. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
2. ช่วยทำการงานของท่าน
3. ดำรงวงศ์สกุล
4. ปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
5. หากท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน
บิดามารดาอนุเคราะห์บุตร ตามหลักปฏิบัติดังนี้
1. ห้ามปรามป้องกันจากความชั่ว
2. ดูแลฝึกอบรมให้ตั้งอยู่ในความดี
3. ให้ความรู้ให้การศึกษา
4. เป็นธุระเมื่อลูกจะมีคู่ครอง
5. มอบทรัพย์สมบัติให้เมื่อถึงโอกาส

ทิศที่ 2 ในฐานะศิษย์ พึงแสดงความเคารพนับถือครูอาจารย์ ผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องขวาดังนี้

1. ลุกต้อนรับ แสดงความเคารพ
2. เข้าไปหา เพื่อรับใช้ ปรึกษา ซักถาม รับคำแนะนำ เป็นต้น
3. รู้จักฟังให้เป็น ฟังด้วยดี ฟังให้เกิดปัญญา
4. ช่วยบริการ และปรนนิบัติท่าน
5. ศึกษาวิชาด้วยความเคารพ เอาจริงเอาจังถือเป็นเรื่องที่สำคัญ
อาจารย์อนุเคราะห์ศิษย์ ตามหลักปฏิบัติดังนี้
1. แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี
2. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
3. สอนศิลปวิทยาให้โดยไม่ปิดบัง
4. สนับสนุนส่งเสริมยกย่องความดีงามความสามารถของศิษย์ให้ปรากฏ
5. ฝึกสอนศิษย์ให้ใช้วิชาหาเลี้ยงชีพได้จริงและรู้จักดำเนินชีวิตที่ดีงาม มีความสุขความเจริญ

ทิศที่ 3 ในฐานะที่เป็นสามี พึงให้เกียรติบำรุงภรรยา ผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องหลัง ดังนี้

1. ยกย่องให้เกียรติสมฐานะที่เป็นภรรยา
2. ไม่ดูหมิ่น
3. ไม่นอกใจ
4. มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้าน
5. หาเครื่องแต่งตัว เครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส
ภรรยาอนุเคราะห์สามี ตามหลักปฏิบัติดังนี้
1. ดูแลงานบ้านให้เรียบร้อย
2. สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี
3. ไม่นอกใจ
4. รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้
5. ขยันขันแข็ง ทำการงานทุกอย่าง

ทิศที่ 4 ในฐานะที่เป็นมิตรสหาย พึงปฏิบัติต่อมิตรสหาย ผู้เปรียบเสมือนทิศเบื้องซ้าย ดังนี้

1. เผื่อแผ่แบ่งปัน
2. พูดจามีน้ำใจ
3. ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
4. มีตนเสมอ ร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วย
5. ซื่อสัตย์จริงใจ
มิตรสหายอนุเคราะห์ตอบ ตามหลักปฏิบัติดังนี้
1. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาป้องกัน
2. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน
3. เมื่อเพื่อนมีภัย เป็นที่พึ่งพิงได้
4. ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก
5. นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร

ทิศที่ 5 ในฐานะที่เป็นนายจ้าง พึงบำรุงคนรับใช้และคนงาน ผู้เปรียบเสมือนทิศเบื้องล่างดังนี้

1. จัดงานให้ทำให้เหมาะสมกับกำลัง เพศ วัย ความสามารถ
2. ให้ค่าจ้างรางวัลตามสมควรกับงานและความเป็นอยู่
3. จัดสวัสดิการให้ดี ช่วยรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้ เป็นต้น
4. ได้อะไรพิเศษมา ก็แบ่งปันให้
5. ให้มีวันหยุด และพักผ่อนหย่อนใจ ตามโอกาสอันควร
คนรับใช้และคนงาน แสดงน้ำใจต่อนายดังนี้
1. เริ่มทำงานก่อน
2. เลิกงานทีหลัง
3. เอาแต่ของที่นายให้
4. ทำงานให้เรียบร้อยและดียิ่งๆขึ้น
5. นำความดีของนายงานและกิจการไปเผยแพร่

ทิศที่ 6 ในฐานะที่เป็นชาวพุทธพึงแสดงความเคารพนับถือต่อพระสงฆ์ ผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องบน ดังนี้

1. ปฏิบัติต่อท่านด้วยเมตตา
2. พูดกับท่านด้วยเมตตา
3. คิดกับท่านด้วยเมตตา
4. ต้อนรับท่านด้วยความเต็มใจ
5. อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย 4
พระสงฆ์อนุเคราะห์คฤหัสถ์ ตามหลักปฏิบัติดังนี้1. ห้ามปรามสอนให้เว้นจากความชั่ว
2. แนะนำสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในความดี
3. อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี
4. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ไม่เคยฟัง
5. ชี้แจงอธิบายทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
6. สอนวิธีดำเนินชีวิตให้ประสบความสุขความเจริญ

ข. ช่วยเหลือเกื้อกูลทั่วทุกคน ร่วมสร้างสรรค์ประสานสังคมให้ดีงามมีเอกภาพ ตามหลักสังคหวัตถุ 4 คือ
1) ทาน เผื่อแผ่แบ่งปัน (ช่วยด้วยเงินด้วยของ)
2) ปิยวาจา พูดอย่างรักกัน (ช่วยด้วยถ้อยคำ)
3) อัตถจริยา ทำประโยชน์แก่เขา (ช่วยด้วยกำลังแรงงาน)
4) สมานัตตตา เอาตัวเข้าสมาน (ช่วยด้วยร่วมสร้างสรรค์และแก้ปัญหา)

จุดหมายชีวิต

ก.จุดหมายของชีวิต 3 ขั้น ดำเนินชีวิตให้บรรลุจุดหมาย(อัตถะ) 3 ขั้น คือ

ขั้นที่ 1 ทิฏฐธัมมิกัตถะ จุดหมายขั้นตาเห็น หรือ ประโยชน์ปัจจุบัน

1. มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ไร้โรค อายุยืน

2. มีเงินมีงาน มีอาชีพสุจริต พึ่งตนได้ทางเศรษฐกิจ

3. มีสถานภาพดี เป็นที่ยอมรับนับถือในสังคม

4. มีครอบครัวผาสุก ทำวงศ์ตระกูลให้เป็นที่นับถือ
ขั้นที่ 2 สัมปรายิกัตถะ จุดหมายขั้นเลยตาเห็น หรือ ประโยชน์เบื้องหน้า

1. มีความอบอุ่นซาบซึ้งสุขใจ ไม่อ้างว้างเลื่อนลอย มีหลักยึดเหนี่ยวใจให้เข็มแข็งด้วย ศรัทธา

2. มีความภูมิใจ ในชีวิตสะอาด ที่ได้ประพฤติแต่การอันดีงามด้วยความสุจริต

3. ความอิ่มใจ ในชีวิตมีคุณค่า ที่ได้ทำประโยชน์ตลอดมาด้วยน้ำใจเสียสละ

4. มีความแกล้วกล้ามั่นใจ ที่จะแก้ไขปัญหา นำชีวิตและภารกิจไปได้ด้วยปัญญา

5. มีความโล่งจิตมั่นใจ มีทุนประกันภพใหม่ ด้วยได้ทำไว้แต่กรรมที่ดี
ขั้นที่ 3 ปรมัตถะ จุดหมายสูงสุด หรือ ประโยชน์อย่างยิ่ง

1. ถึงถูกโลกธรรมกระทบ ถึงจะพบความผันผวนปรวนแปร ก็ไม่หวั่นไหว

2. มีใจเกษมศานต์มั่นคง

3. ไม่ถูกความยึดติดถือมั่นบีบคั้นจิต ให้ผิดหวังโศกเศร้า มีจิตโล่งโปร่งเบาเป็นอิสระ

4. สดชื่น เบิกบานใจ ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง ผ่องใส ไร้ทุกข์ มีความสุขที่แท้

5. รู้เท่าทันและทำการตรงตามเหตุปัจจัย ชีวิตหมดจดสดใส เป็นอยู่ด้วยปัญญา
ถ้าบรรลุจุดหมายชีวิตถึงขั้นที่ 2 ขึ้นไป เรียกว่าเป็น “บัณฑิต”

ข.จุดหมาย 3 ด้าน จุดหมาย 3 ระดับข้างต้นนั้น พึงปฎิบัติให้สำเร็จครบทั้ง 3 ด้านคือ

ด้านที่ 1 อัตตัตถะ จุดหมายเพื่อตน หรือ ประโยชน์ตน คือ ประโยชน์ 3 ขั้นข้างต้น ซึ่งพึงทำให้เกิดขึ้น แก่ตนเอง หรือพัฒนาชีวิตของตนให้ลุถึง
ด้านที่ 2 ปรัตถะ จุดหมายเพื่อผู้อื่น หรือ ประโยชน์ผู้อื่น คือ ประโยชน์ 3 ขั้นข้างต้น ซึ่งพึงช่วยเหลือให้ผู้อื่น ให้ได้ถึงด้วยการชักนำสนับสนุนให้เขา พัฒนาชีวิตของตนขึ้นไปตามลำดับ
ด้านที่ 3 อุภยัตถะ จุดหมายร่วมกัน หรือ ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือ ประโยชน์สุขและความดีงามร่วมกันของ ชุมชนหรือสังคม รวมทั้งสภาพแวดล้อม แลปัจจัยต่างๆ ซึ่งพึงช่วยกันสร้างสรรค์บำรุงรักษา เพื่อเกื้อหนุนให้ทั้งตน และผู้อื่นก้าวไปสู่จุดหมาย 3 ขั้นข้างต้น

19. บันทึกสุขภาวะประจำวัน (ข้อ 19 ยังไม่ได้ตรวจสอบปรับแก้ไขตามข้อมูลใหม่)

ตั้งแต่ปีคริสตศักราช 1948 เมื่อองค์การอนามัยโลกได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “สุขภาพ “มีความหมายกว้างขึ้น ครอบคลุมทั้งทางกายภาพ จิตใจ และ สังคม แนวคิดการวัดคุณภาพชีวิตเริ่มได้รับความสำคัญมากยิ่งขึ้น ต่อมาในปี 2541 ที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก เพิ่มคำว่า spiritual well-being เข้ามาในคำจำกัดความของคำว่า “สุขภาพ” ซึ่งเป็นมิติทางด้านนามธรรมที่ลึกซึ้งภายในใจเข้ามาด้วย อย่างไรก็ตามคำว่า spiritual เป็นมิติทางด้านนามธรรมที่ยังมีความหมายคลุมเครือซึ่งผู้ที่นำมาใช้ตีความแตกต่างกันไป ยังไม่สามารถวัดประเมินผลได้อย่างชัดเจน
ผลจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ส่งผลให้มีการจัดทำ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติเพื่อเป็นธรรมนูญด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งได้ให้ความสำคัญของ “สุขภาพ” ตามแนวคิดใหม่นี้โดยให้ปรัชญาของ สุขภาพดี คือ สุขภาวะที่สมบูรณ์และเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุลทั้งมิติทางจิตวิญญาณ (มโนธรรม) ทางสังคม ทางกาย และทางจิต สุขภาพมิได้หมายถึงเฉพาะการไม่พิการและการไม่มีโรคเท่านั้น การมีสุขภาพดีจึงถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตและสังคม สุขภาพจึงควรเป็นทั้งอุดมการณ์และสมบัติของชาติ ขณะนี้(ม.ค. 2546) ร่างพ.ร.บ.ข้างต้นอยู่ในระหว่างขบวนการกลั่นกรองซึ่งน่าจะผ่านขบวนการทางรัฐสภาในไม่ช้านี้ น.พ.อำพล จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการ สปรส.กล่าวว่า อาจมีการปรับแก้เล็กน้อยในบางประเด็น เช่นในมาตรา 3 นิยามของคำว่า ”สุขภาพ” ซึ่งในร่างเขียนไว้ว่า หมายถึง สุขภาวะที่สมบูรณ์ และเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม อย่างสมดุล ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ ประเด็นนี้มีบางหน่วยงานเสนอว่าไม่ควรใช้คำว่า “ทางจิตวิญญาณ” ซึ่งหารือกันแล้ว เห็นควรส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาหาคำที่เหมาะสมเช่น คำว่า “ทางปัญญา” หรือ “ทางการเข้าถึงศาสนธรรม” หรือคำอื่นที่เหมาะสมกว่าแต่ให้มีความหมายถึงมิติทางปัญญาในการเข้าถึงคุณค่าอันสูงส่ง ความดีงาม ความถูกต้อง มาใช้แทน พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีคนไทยนับถือมากว่าร้อยละ 95 มีความผูกพันธ์กับชาวไทยในอดีตตั้งแต่เมื่อยังเป็นอาณาจักรสุวรรณภูมิเมื่อพ.ศ. 218 พัฒนาควบคู่กับสังคมไทยจนอยู่ในวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวไทยมาโดยตลอดจนในสมัยรัชการที่ 6 ได้ยอมรับว่าเป็นศาสนาประจำชาติไทย พุทธศาสนามีหลักการในการพัฒนามนุษย์โดยให้องค์ประกอบแห่งการดำเนินชีวิต 3 ด้านมาประสานหรือบูรณาการกัน องค์ประกอบทั้ง 3 จะต้องพัฒนาไปด้วยกันอย่างพึ่งพาอาศัยกัน ส่งเสริมกัน องค์ประกอบ 3 ด้านนี้พูดง่ายๆคือ พฤติกรรม จิตใจและปัญญา พูดในศัพท์ในพระพุทธศาสนาว่า ศีล สมาธิ ปัญญา หลักการพัฒนาตน 4 ด้านที่เรียกกันว่า ภาวนา 4 ได้แก่
กายภาวนา (Physical development)
ศีลภาวนา (Social development)
จิตภาวนา (Emotional development)
และ ปัญญาภาวนา (Wisdom development)

กายภาวนา : การพัฒนากาย (Physical development)

เป็นการฝึกอบรมกาย การพัฒนาร่างกายให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพทั้งหลายในทางเกื้อกูล เป็นคุณ ไม่เกิดโทษ รู้จักบริโภคปัจจัย 4 (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค)ได้ตรงตามคุณค่าที่แท้จริง ไม่บริโภคตามค่านิยม ความอร่อย หรือโก้หรู ซึ่งอาจส่งผลเสียเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ นอกจากนี้ยังฝึกให้รู้จักใช้อินทรีย์คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจในการติดต่อ หรือใช้สอยอุปกรณ์ เทคโนโลยี และประสบการณ์ต่างๆเพื่อศึกษาเรียนรู้เป็นกิจหลัก ไม่ใช่เสพบริโภคเพียงเพื่อความสนุกสนาน

ศีลภาวนา : การพัฒนาศีล (Social development)

เป็นการฝึกอบรมด้านพฤติกรรม การพัฒนาด้านกายและวาจาให้มีพฤติกรรมทางสังคมไม่เบียดเบียนหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้อื่น มีความสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม เกื้อกูลสร้างสรรค์ ส่งเสริมสันติสุข ด้วยสังคหวัตถุ 4 ( ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตา) ดำเนินอาชีพสุจริต ดำรงตนอยู่ในระเบียบวินัยของสังคม

จิตภาวนา : การพัฒนาจิต (Emotional development)

เป็นการฝึกอบรมด้านจิตใจ การพัฒนาบุคคลให้มีจิตที่สมบูรณ์ประกอบด้วย คุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพจิตที่ดี คุณภาพจิตที่ดีได้แก่จิตที่มีศรัทรา เมตตา กรุณา เอื้ออารี มีมุทิตา ความเคารพ อ่อนน้อม กตัญญูกตเวที เสียสละ มีหิริโอตตัปปะ
สมรรถภาพจิตที่ดี ได้แก่จิตใจเข็มแข็ง มั่นคง เพียรพยายาม อุตสาหะ วิริยะ มีความรับผิดชอบ มีสติ และสมาธิ สุขภาพจิตที่ดีได้แก่การมีจิตใจร่าเริง เบิกบาน สดชื่น อิ่มเอิบ ผ่องใส และสงบสุข

ปัญญาภาวนา : การพัฒนาปัญญา (Wisdom development)

เป็นการฝึกอบรมด้าน การพัฒนาบุคคลให้รู้จักคิด พิจารณา วินิจฉัย แก้ไขปัญหา และดำเนินการต่างๆ ด้วยปัญญา เข้าใจเหตุผล มองทุกสิ่งไปตามเหตุและปัจจัย ไม่มีอคติ ปราศจากการครอบงำของกิเลส เป็นอยู่ โดยรู้เท่าทันธรรมดาของโลกและชีวิต เข้าถึงอิสรภาพ ปลอดทุกข์ปราศจากปัญหา
ดังนั้นคนที่พัฒนาสมบูรณ์ จะต้องพัฒนาครบทั้ง 4 ด้านคือ
1. ภาวิตกาย มีกายที่พัฒนาแล้ว หมายถึงพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น การบริโภคปัจจัย 4 การใช้เทคโนโลยี่และการอยู่กับธรรมชาติแวดล้อมได้ดี
2. ภาวิตศีล มีศีลที่พัฒนาแล้ว คือพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีงามเกื้อกูล
3. ภาวิตจิต มีจิตที่พัฒนาแล้ว ทั้งด้านคุณธรรมความดีงาม สมรรถภาพ และประสิทธิภาพของจิต และภาวะจิตใจที่มีความสุขสดชื่น เบิกบาน
4. ภาวิตปัญญา มีปัญญาที่พัฒนาแล้ว รู้เข้าใจหยั่งเห็นความจริงของโลกและชีวิต จนวางจิตใจมีท่าทีต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี มีดุลยภาพและเป็นอิสระเพื่อให้โครงสร้างของบันทึกประจำวัน ที่กำหนดมีความสอดคล้องกับกรอบแนวคิดของคำว่า “สุขภาพ” ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติและคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก เพื่อพัฒนาแบบประเมินสำหรับผู้ใหญ่ในคนไทย ซึ่งถือว่ามีวุฒิภาวะทางอารมณ์แล้ว จึงได้นิยามความหมายของคำว่า “สุขภาพ” ดังนี้
“ สุขภาพ ” หมายถึง สุขภาวะที่สมบูรณ์ และเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม อย่างสมดุล ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญา (หมายถึงมิติทางปัญญาในการเข้าถึงคุณค่าอันสูงส่ง ความดีงาม ความถูกต้อง ) มี 4 โครงสร้างใหญ่ คือ กาย จิต สังคม และ ปัญญา
“ กายดี ” หมายถึงสามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น การบริโภคปัจจัย 4 การใช้เทคโนโลยี่และการอยู่กับธรรมชาติแวดล้อมได้ดี
“ จิตดี ” หมายถึงมีจิตที่พัฒนาทั้งด้านคุณธรรมความดีงาม สมรรถภาพ และประสิทธิภาพของจิต และภาวะจิตใจที่มีความสุขสดชื่น เบิกบาน
“ สังคมดี ” หมายถึงสามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม อยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์คน อื่นๆด้วยความสัมพันธ์ที่ดีงามเกื้อกูล
“ ปัญญาดี ” หมายถึง รู้เข้าใจหยั่งเห็นความจริงของโลกและชีวิต จนวางจิตใจมีท่าทีต่อชีวิต และสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี มีดุลยภาพและเป็นอิสระ

อาจจะขยายความได้ว่า

กายดี หมายถึง เป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง สามารถทำงานหรือกิจวัตรประจำวันได้ มีทัศนคติที่ดีใส่ใจต่อสุขภาพ ใฝ่เรียนรู้และหมั่นพัฒนาตนสร้างเสริมให้มีสุขภาพดี รู้จักบริโภคปัจจัย 4 (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค) เพื่อคุณค่าของมัน ไม่บริโภคตามค่านิยม ความอร่อย หรือโก้หรู โดยไม่คำนึงถึงผลเสียต่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังรู้จักใช้อินทรีย์ เช่น ตา หู ในทางที่เสริมสร้างการเรียนรู้ และฝึกปรือทักษะที่เกื้อหนุนการดำเนินชีวิตกิจการงาน
จิตดี หมายถึง เป็นผู้ใฝ่พัฒนาจิตใจให้มีจิตที่สมบูรณ์ประกอบด้วย คุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพจิตที่ดี คุณภาพจิตที่ดีได้แก่จิตที่มีความเมตตา กรุณา เอื้ออารี มีมุทิตา ความเคารพ อ่อนน้อม กตัญญูกตเวที สมรรถภาพจิตที่ดี ได้แก่จิตใจเข็มแข็ง มั่นคง เพียรพยายาม อุตสาหะ วิริยะ มีความรับผิดชอบ มีสติ และสมาธิ สุขภาพจิตที่ดีได้แก่การมีจิตใจร่าเริง เบิกบาน สดชื่น อิ่มเอิบ ผ่องใส และสงบสุข มีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจในการดำเนินชีวิตตามความเชื่อในศาสนาของตน (ศรัทธา) มีความอุ่นใจกับความประพฤติที่สุจริต และเสียสละของตน มีความมั่นใจในการแก้ปัญหาและดำเนินชีวิตโดยใช้เหตุและผล(ปัญญา) มีความมั่นใจในภพภูมิหน้าเพราะมั่นใจในการทำแต่ความดีของตน
สังคมดี หมายถึงการมีพฤติกรรมไม่เบียดเบียนหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้อื่น มีความสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม เกื้อกูลสร้างสรรค์ ส่งเสริมสันติสุข (ด้วยสังคหวัตถุ 4 ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตา) ดำเนินอาชีพสุจริต ดำรงตนอยู่ภายใต้ระเบียบวินัยของสังคม
ปัญญาดี หมายถึงรู้จักคิด พิจารณา วินิจฉัย แก้ไขปัญหา และดำเนินการต่างๆ ด้วยปัญญา เข้าใจเหตุผล มองทุกสิ่งไปตามเหตุและปัจจัย ไม่มีอคติ ปราศจากการครอบงำของกิเลส เป็นอยู่ โดยรู้เท่าทันธรรมดาของโลกและชีวิต เข้าถึงอิสรภาพ ปลอดทุกข์ปราศจากปัญหา

20. สรุป

พุทธศาสนาจะมองทุกสรรพสิ่งตามความเป็นจริง และพยายามมองหาประโยชน์ จากความจริงนั้น เน้นการฝึกฝนพัฒนาตัวเองยิ่งๆขึ้นไปร่วมถึงช่วยเหลือคนที่อยู่รอบๆตัว ทั้งครอบครัว รวมไปถึงสังคมด้วยญาติผู้ป่วยเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยในฐานะเป็นมิตร พึงกระทำตัวเป็นมิตรที่ดีต่อกันและกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ตามหลักการปฏิบัติตน “ สังคหวัตถุ 4 ” จะช่วยให้สุขภาพทางใจดีขึ้นทั้ง 2 ฝ่ายข้อปฏิบัติระดับศีลนอกจากจะช่วยจนถึงระดับสังคมส่วนรวมแล้ว ในระดับผู้ป่วยช่วยให้ไม่ต้องไปรับปัจจัยที่ไม่ดีเพิ่ม เช่น การไม่ระวังเรื่องเพศสัมพันธ์อาจทำให้ได้รับเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นได้ การเสพสารเสพติดนอกจากจะเสียเงินเสียทองแล้ว เป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังอาจทำให้ขาดสติ ประมาททำให้ได้รับอุบัติเหตุได้ การเที่ยวกลางคืนเป็นการเสียเวลาและทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมลงได้เช่นกันการปฏิบัติทางพุทธศาสนาจะไม่ปฏิบัติเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง จะต้องฝึกตนปฏิบัติควบคู่กันไป ทั้งทางศีล หรือการปฏิบัติควบคุมกายและวาจา และพัฒนาทางจิต ทั้งสติและสมาธิ เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาปัญญาให้รับรู้โลกและชีวิตตามที่มันเป็นเมื่อจบหลักสูตรการฝึกจิตขั้นพื้นฐานแล้ว เป็นหน้าที่ที่แต่ละคนจะต้องกลับไปฝึกฝนพัฒนาตนเองเพราะผลที่ได้เป็นเรื่องปัจจัตตัง คือรู้ได้จากการฝึกฝนด้วยตนเองเท่านั้น ดังพุทธพจน์ที่กล่าวไว้ว่า “ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ” ตนแลเป็นที่พึ่งของตนหวังไว้ว่าหลักสูตรนี้จะช่วยให้เห็นภาพโดยรวม ของการพัฒนาจิตแนวพุทธในสภาพที่เป็นองค์รวม และหวังว่าวันหนึ่งผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านจะพัฒนาปัญญาสามารถเข้าถึงภาวะที่ความทุกข์ทั้งปวงไม่สามารถก่อตัวขึ้นในจิตของเราได้อีกต่อไป ไม่ว่าร่างกายและโลกภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไรก็ตามดังนั้นจะเห็นได้ว่า การใช้หลักพุทธศาสนาเข้ามาดูแลผู้ป่วย จะไม่ได้มีเพียงให้มี แค่ Positive attitude เท่านั้นแต่เป็น Positive attitude ที่มีพื้นฐานอยู่บนความเป็นจริง ไม่ได้มองผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางที่จะต้องปรับทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาหาผู้ป่วย แต่มองผู้ป่วยว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ไม่ได้มองแค่เพียง Group therapy หรือ Family therapy เท่านั้นแต่เป็นการมองกว้างไปถึงระดับสังคม Social therapy ศาสนาพุทธที่มีมากว่า 2500 ปี เกิดมาในสมัยที่คนแสวงหาความหลุดพ้นจากความทุกข์โดยการฝึกจิตให้สงบนิ่งบ้าง โดยการปฏิบัติกายให้บริสุทธิ์บ้าง พระพุทธองค์ท่านได้ทรงศึกษาตามวิธีดังกล่าวแล้วพบว่ายังไม่สามารถกำจัดทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง ท่านจึงค้นหาจนพบวิธีโดยพระองค์เอง โดยให้ปฏิบัติตามทางสายกลางซึ่งไม่ตึงไม่หย่อนจนเกินไป ต้องพัฒนาปัญญาขึ้นมาเพื่อปลดปล่อยความคิดให้เป็นอิสระ

ประเทศไทยเรานับว่ามีข้อได้เปรียบเพราะเป็นเมืองพุทธ มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมาโดยตลอดมีพุทธวิถีซึมอยู่ในสังคม ถึงแม้ปัจจุบันจะเลือนลางไปบ้างก็ตาม การบำบัดแนวพุทธก็คือการฟื้นวิถีพุทธขึ้นมา พื้นวิถีคิดวิถีปฏิบัติตามแนวพุทธขึ้นมา นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับสาธารณสุขไทยที่จะลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการบำบัดทุกข์ทางใจโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งชิ้นนี้ขึ้นมา และถือเป็นการสืบทอดพุทธศาสนาไปในตัวด้วยครับ

เอกสารอ้างอิง

ภาษาไทย
1. พระเทพเวที(ประยุทธ์ ปยุตโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์.กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2533.
2. พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ 9.กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2543.
3. พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต). พุทธธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 8 กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลง กรณราชวิทยาลัย, 2542.
4. พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต). กายหายไข้ ใจหายทุกข์. กรุงเทพมหานคร: กลุ่มเพื่อนพัฒน์ 5. ผลิตสื่อเพื่อสันติภาพ, 2544. พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต). วินัยชาวพุทธ. กรุงเทพมหานคร: พิมพ์สวย จำกัด, 2543. 6. สมพร เตรียมชัยศรี. การประมวลองค์ความรู้เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ผู้ติดเชื้อ / ผู้ป่วยเอดส์. กรุงเทพมหานคร: เอกสารวิชาการส่งเสริมสุขภาพ.กองโรคเอดส์ กรมควบคุมโรคติดต่อ.โรงพิมพ์การศาสนา, 2543. 7. กรมสุขภาพจิต. คู่มือการจักกิจกรรมกลุ่มหลักสูตรการพัฒนาตนแนวพุทธขั้นพื้นฐาน (สำหรับวิทยากร). กรุงเทพมหานคร: กระทรวงสาธารณสุข, 2545 .

ขอกราบขอบคุณพระเดชพระคุณ พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตโต) และ พระครรชิต คุณวโร ที่ได้เมตตาให้คำปรึกษา และช่วยจัดหาข้อมูลในการจัดทำชุดบรรยาย “ กายหายไข้ ใจหายทุกข์ ” และขอขอบคุณอาจารย์วิระ ครูดนัย น้องการ์ตูนตัวเล็ก คุณหมูแก้ว น้องอู๊ด ทีมทำงานของสถาบันบำราศฯ ชมรมจริยธรรมกระทรวงสาธารณสุข และทีมงานจากกรมสุขภาพจิต และเพื่อนๆอีกหลายๆท่านที่ไม่สามารถเอ่ยนามได้หมด ณ ที่นี่ ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้เกิดชุดการบรรยาย และงานในขวบปีที่ 2 นี้

นายแพทย์ชูฤทธิ์ เต็งไตรสรณ์

โมบายแอปพลิเคชัน

 

กรมการแพทย์แผนไทยฯ


สามารถติดต่อเราผ่าน Line

 

ได้แล้ววันนี้

ติดตาม กองการแพทย์ทางเลือก

ผ่านทางโซเชียลมีเดีย​ได้ที่

       


กองการแพทย์ทางเลือก
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
อาคาร 2 ชั้น 6 และชั้น 7 กระทรวงสาธารณสุข
ถนนติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ : 02 591 7007 ต่อ 2607
โทรสาร : 02 149 5637
อีเมล์ : Thaicam2019@gmail.com

5919980
This Month : 20367
Total Users : 1529493
Views Today : 5104
Server Time : 2024-09-20