โดย : นายแพทย์แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ
อาการปวดหลัง เป็นอาการปวดที่พบบ่อยเป็นอันดับสอง รองจากปวดศีรษะ ใน เวชปฏิบัติทั่วไป อาการปวดหลังก่อให้เกิดภาวะทุพพลภาพในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 45 ปี ได้บ่อยและเป็นเหตุให้รัฐต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายปีละ 2-5 หมื่นล้านดอลล่าต่อปีในอเมริกา ดังนั้นการเรียนรู้วิธีการต่างๆ ในการบำบัด

อาการปวดหลังก็จะทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษา ลดความสิ้นเปลืองเวลา และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้

ข้อเท็จจริงบางประการ

 

1) ร้อยละ 65 – 80 ของประชากรทั่วโลก จะมีอาการปวดหลัง ณ ช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต2) ในอเมริกาประชากรในวัยทำงานร้อยละ 15 – 20 มีอาการปวดหลังในแต่ละปีและในจำนวนนี้ร้อยละ 50 ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล3) ผู้ป่วยปวดหลังร้อยละ 50 จะบรรเทาได้เองหรือโดยการรักษาในระยะเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์4) ผู้ป่วยร้อยละ 90 จะมีอาการดีขึ้นภายใน 8 สัปดาห์ มีเพียงร้อยละ 7 – 10 ที่มีอาการเรื้อรังเกิน 6 เดือน5) อาการปวดหลังส่วนใหญ่ มักสัมพันธ์กับการทำงาน ภาวะจิตใจ เช่น ความเครียด และความกังวล พบร่วมได้บ่อย โดยอาจจะเป็นสาเหตุของการปวดหลังหรือเป็นผลตามมาจากการปวดหลังเรื้อรังก็ได้6) ความอ้วนและการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดอาการปวดหลัง7) ร้อยละ 90 ของอาการปวดหลังเกิดจากความผิดปกติเฉพาะที่ รูปร่าง ความผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูกข้อต่อ เช่น การใช้งานกล้ามเนื้อมากเกินไป การโป่งพองของหมอนรองกระดูกกดเส้นประสาท (Herniated disc)8) ร้อยละ 10 เกิดจากความผิดปกติของโรคทางร่างกาย (Systemic Illness) เช่น การติดเชื้อ มะเร็งที่แพร่กระจายมา กระดูกบาง (Osteoporosis) ซึ่งต้องใช้การรักษาเฉพาะทางโดยการผ่าตัดหรือยารักษาเฉพาะโรค

สาเหตุของการปวดหลัง

คนไข้ที่มีอาการปวดหลังอาจจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ 1 กลุ่มที่มีอาการจำเพาะ พบประมาณร้อยละ 10 ได้แก่ อุบัติเหตุรุนแรงและมีกระดูกหัก เนื้องอก การติดเชื้อ หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ความผิดปกติทางระบบประสาทและการขับถ่าย ขาอ่อนแรงทั้งสองข้าง (Cauda equine compression) กลุ่มนี้จำเป็นต้องรักษาจำเพาะรีบด่วน และส่วนใหญ่ต้องผ่าตัด ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรจะส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทางกลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ไม่มีสาเหตุจำเพาะ ไม่รีบด่วนในการรักษา ผู้ป่วยปวดหลังร้อยละ 90 อยู่ในกลุ่มนี้ อยู่ในพวก Mechanical low back pain, Mmyofascial Syndrome, Fibromyalgia, Tension myalgia, Postural abnormality คนไข้ส่วนใหญ่ร้อยละ 75 – 90 รักษาหายได้โดยการกินยาและออกกำลังกายเล็กน้อยหรือปานกลาง การใช้โยคะบำบัดจะมีประโยชน์ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังหรือเป็นซ้ำบ่อย ๆ ผู้ป่วยเหล่านี้มักมีปัจจัยหลายประการร่วมกัน (Multifactorial) ที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง กล่าวคือ การบริโภคอาหารมากเกินไป ความอ้วน การสูบบุหรี่ การขาดการออกกำลังกาย (Sedentary Life Style) การใช้งานมากเกินไป การเสื่อมไปตามอายุ (Aging) ความเครียด ความวิตกกังวล เป็นต้น (5) โรคในกลุ่มนี้อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า Chronic Degenerative Disease) โดยก่อนอื่นเราจะต้องแยกคนไข้กลุ่มที่มีโรคซึ่งต้องการการรักษาโดยเฉพาะด้วยการผ่าตัดหรือใช้ยา ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมีปัจจัยเสี่ยงทางด้านกายภาพ ดังนี้คือ1) ผู้ป่วยที่มีอายุมากกกว่า 50 ปี หรือน้อยกว่า 20 ปี2) ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังร่วมกับ Constitutional Symptom อื่น ๆ ที่สำคัญคือ น้ำหนักลด มีไข้3) ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังรุนแรงมากโดยเฉพาะเวลากลางคืน ปวดมากขณะพักมีอาการปวดรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีการเคลื่อนไหวของหลังลดลงอย่างมาก (Severe restriction of lumbar flexion)4) ตำแหน่งปวดหลังอยู่ที่กระดูกสันหลังส่วนอก (Thorasic spine) อาจเกิดจากMetastasis5) มี Structural deformity หรือ X – Ray พบว่ามีกระดูกสันหลังยุบและมีการทำลายกระดูก6) มีประวัติเป็นมะเร็งอยู่แล้ว โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม มะเร็งปวด มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งที่ไต มดลูก รังไข่ ต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น7) มีประวัติอุบัติเหตุชัดเจนที่บริเวณหลัง บ่งถึงการมีกระดูกหัก8) มีความผิดปกติของการขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ มีอาการอ่อนแรงของขาทั้งสองข้างชารอบ ๆ ทวารหนัก (Saddle Anesthesia)9) มีปัจจัยเสี่ยต่อการติดเชื้อ เช่น HIV การใช้ยาเสพติดฉีดเข้าเส้น ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

ปัจจัยทั้ง 9 ประการนี้ บ่งชี้ถึงการมีโรคที่ต้องได้รับการสืบค้นและรักษาโดยการผ่าตัดหรือใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะ ซึ่งเราต้องส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางรักษาต่อไปผู้ป่วยปวดหลังส่วนใหญ่ที่เป็นเฉียบพลัน การรักษาโดยให้ยาแก้ปวด และให้พักงานช่วงสั้น 2 – 3 วัน การออกกำลังกายเล็กน้อยหรือปานกลาง ส่วนใหญ่ร้อยละ 75 – 90 จะหายภายใน 5 – 6 สัปดาห์ แต่มีเพียงร้อยละ 30 มักจะไม่กลับมาปวดหลังอีก หนึ่งในสามมักจะเป็นซ้ำในหนึ่งเดือนและร้อยละ 70 – 80 เป็นซ้ำใน 1 ปี

หลักการบำบัดแบบโยคะ

โยคะมีหลักการบำบัดแบบองค์รวม (Holistic) คือครอบคลุมทั้งร่างกายและจิตใจหรือที่เรียกว่า Life Style Modification กล่าวคือ1) อาหาร (Healthy Food)2) การบริหารกายแบบโยคะ (Yogasana)3) การผ่อนคลายทางกาย / จิต (Relaxation)4) พัฒนาสุขภาพทางจิตวิญญาณ (Spiritual Health)

1) อาหาร (Healthy Food)

โยคะจะใช้การรับประทานอาหารแบบมังสวิรัติ งดเนื้อสัตว์แต่รับประทานนมและไข่ (Ovolacto – Vegetarian) ซึ่งจะช่วยรักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกิน สำหรับผู้ที่น้ำหนักเกิน อาหารมังสวิรัติก็จะช่วยลดน้ำหนัก น้ำหนักเกินเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ปวดหลังอาหารไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นอาหารสุขภาพแบบหนึ่ง ซึ่งมีไขมันต่ำ อาหารประเภทผักและปลา ซึ่งมีหลากหลายมาก น้ำพริก ปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ แกงส้ม แกงเลียง ส้มตำ ลดอาหารที่มีกะทิ ทานข้าวซ้อมมือ ทานอาหารทะเลบางครั้ง อาหารไทยที่มีแคลเซียมมาก เช่น น้ำพริกกะปิ ปลาตัวเล็กมีกระดูก กุ้งฝอยทอด ผักสีเขียว เต้าหู้ เป็นต้น จะช่วยให้กระดูกแข็งแรงการรับประทานอาหารแต่พอควร (Moderation in eating) ถือเป็นหลักสำคัญ การรับประทานอาหารแต่พออิ่ม ไม่มากเกินไปเป็นการควบคุมน้ำหนักให้คงที่รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ให้หลากหลาย ระวังอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล ไขมัน เกลือ ไม่ให้มากเกิน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคความดัน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต

2) การบริหารกายแบบโยคะ (Yogasana)

เราใช้กายบริหารท่าต่าง ๆ โดยมีจุดประสงค์ดังนี้คือ2.1) เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (Relaxation of Muscles)2.2) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Muscle Strength)2.3) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและกระดูก (Flexibility)

เรามีหลักการบริหารแก้ปวดหลังโดยใช้ท่าในทิศทางต่าง ๆ 6 ทิศทาง คือ ก้มไปทางด้านหน้า (Forward Bending) หงายไปทางด้านหลัง (Backward Bending) ก้มด้านข้าง (Lateral Bending) และท่าบิดตัว (Twists) (2) ท่าเหล่านี้ (ดูภาพในตอนท้ายเอกสารประกอบการบรรยายตามหมายเลขที่กำกับไว้ในแต่ละท่า) ได้แก่1) ท่าที่ก้มไปข้างหน้า (Forward Bending or Flexion) เช่นท่ามือถึงเท้า (Padhastasana) (3) ท่ากระต่าย (Shashagasana) (14) ท่าแมว (Uttita Kummerasana) (13) ท่าเด็ก (Child Post) (33) ท่าชานุศีรษะ(Janushirasana) (20) ท่ายืดส่วนหลัง (Paschimottanasana) (21)2) ท่าที่ก้มไปด้านหลัง (Backward Bending or Extension) เช่น ท่างู (Bhujangasana) (17) ท่าตั๊กแตน (Salabhasana) (18) ท่าอูฐ (Ushtrasana) (15) ท่าสะพานโค้ง (Setu Bandhasana) (28) ท่าธนู (Dhanurasana) (19)3) ท่าในกลุ่มบิดลำตัว (Twist Pose) ได้แก่ ท่าบิดตัวเท้าเหยียด (Vagrasana) ท่านั่งบิดตัว (Ardha Matsyendrasana (22)4) ท่าก้มด้านข้าง (Lateral Bending) ท่าสามเหลี่ยม (Trigonasana) (2)5) กลุ่มท่านอนหงาย เช่น ท่ายกเท้า (Leg Raising) (8) ท่าพวันมุกตาขับลม (Anti – Gastric Pavanmuktasna) (9) ท่ากลิ้งตัว (Spinal Rocking) (10) ท่าบิดเอว (Lumbar stretch or Jathara Parivartasana)

ท่าต่าง ๆ อาจจะดัดแปลงต่าง ๆ กันไป หรือเพิ่มเติมเล็กน้อยเพื่อให้การฝึกเป็นไปอย่างราบรื่น (Harmony) เมื่อเราได้กลุ่มท่าต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ต่อไปเราก็ต้องออกแบบลำดับท่า (Sequencing Design) เพื่อให้การฝึกเป็นไปอย่างราบรื่น

ในการฝึกหัดท่าบริหารสำหรับคนไข้ปวดหลัง มีข้อควรระวังเพื่อไม่ให้เกิดข้อแทรกซ้อนหรืออาการบาดเจ็บมากขึ้นดังนี้คือ1) ท่าฝึกต้องไม่ใช้ท่ายาก และเวลาฝึกต้องให้ไม่รู้สึกเจ็บมาก เพราะคนไข้เหล่านี้มักจะไม่ค่อยได้ออกกำลังกายมาก่อน กล้ามเนื้อมักจะไม่ค่อยแข็งแรง2) ท่าฝึกต้องไม่เคลื่อนไหวเร็ว และกระตุกซ้ำๆ (Fast and Jerky Movement) เพราะจะทำให้บาดเจ็บมากขึ้น ให้ฝึกช้า ๆ ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือนักบำบัด3) ท่าเหล่านั้นต้องไม่ทำให้กระดูกสันหลังโค้งงอมากเกินไป (Acute Flexion or Extension) ทั้งในท่าก้มและเงย4) การจัดจำนวนท่าต้องไม่มากจนเกินไป ซึ่งขึ้นกับสมรรถภาพทางร่างกายของคนไข้และอายุ การฝึกต้องทีละเล็กน้อย ฝึกมากเกินไปจะมีผลเสียคือปวดหลังมากขึ้น ต้องจำไว้เสมอว่า ของที่ดีถ้ามากเกินไปก็กลายเป็นของไม่ดี (Too much of a good thing is never good)5) การฝึกหัดให้ทำทุกวันให้สม่ำเสมอ ต้องใช้เวลาเป็นเดือน หรือปี และจะไม่ให้ปวดอีกเลยก็ต้องฝึกตลอดชีวิต (Move for Health) ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเพราะการออกกำลังกายเป็นยารักษาโรคที่ดีที่สุด (Exercise is best medicine) และการรักษาโรคที่ดีที่สุดคือทำวิธีการใดก็ได้ไม่ให้เกิดโรคขึ้นมา เมื่อเกิดโรคแล้วจะรักษาให้ดีเหมือนเดิมได้ยาก ต้องใช้เงินมาก เสียเวลา คุณภาพชีวิตจะเสียไป

3) การผ่อนคลายทางกายและจิต (Relaxation)

โยคะเป็นศาสตร์แห่งการผ่อนคลายทางกายและจิตโดยตรง คนไข้ปวดหลังมักจะมีปัจจัยเรื่องของความเครียดเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ความเครียดที่เรื้อรังทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งมากเกินไป(Tense muscle tone) ซึ่งทำให้อาการปวดเรื้อรัง การฝึกความผ่อนคลายกล้ามเนื้อ(Deep Muscle relaxation) จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ผู้ป่วยจะรู้สึกผ่อนคลายเราทำได้โดยให้คนไข้นอนในท่าศพอาสนะ(Savasana) หรือท่าจระเข้ (Makarasana) แล้วผ่อนคลายกล้ามเนื้อทีละส่วนจากศีรษะถึงปลายเท้า นอกจากนี้โยคะยังใช้การฝึกการหายใจ ฝึกสมาธิ การสวดมนต์(Chanting) ทำให้จิตใจผ่อนคลาย

4) การพัฒนาสุขภาพทางจิตวิญญาณ (Spiritual Health)

งานวิจัยทางการแพทย์พบว่าโรคในกลุ่มนี้ (Chronic degenerative diseases) เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหอบหืด โรคปวดหลัง โรคปวดศีรษะ ไมเกรน โรคเครียด โรคลำไส้แปรปรวน เป็นต้น มีสาเหตุส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับอารมณ์ทางด้านลบ ความคิด ความเครียดความกังวลอารมณ์ซึมเศร้า การมองโลกในแง่ร้าย ซึ่งอารมณ์และความคิดในใจมีผลต่อสุขภาพการเกิดโรค การหายของโรคและอัตราตาย9,10,11,12,13,18 องค์การอนามัยโลกเรียกว่าสุขภาพทางจิตวิญญาณ (Spiritual Health) ซึ่งต้องมีการฝึกหัดทางจิตวิญญาณ (Spiritual Practice) ที่จะเข้ามาช่วยให้โรคเหล่านี้หายเร็วขึ้น และไม่เป็นเรื้อรัง ซึ่งโยคะมีวิธีการฝึก คือ การสวดมนต์ การฝึกสมาธิการดำเนินชีวิตตามหลักการเรื่อง ยาม และ นิยาม กล่าวคือยาม ได้แก่ การไม่เบียดเบียนกัน(อหิงสา) ความซื่อตรง(สัตยา) การไม่ลักขโมย (อัสเตยยะ) การไม่ประพฤติผิดทางกาม(พรหมจรรยา) การไม่โลภในการสะสมทรัพย์สมบัติมากเกินไป(อปริคาหะ)นิยาม ได้แก่ การไม่คิดอกุศล(เศาจะ) พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่(สันโตษะ) ความเพียร (ตบะ) การศึกษาวิธีดำเนินชีวิตที่ดีงาม(สาธยาย) และการปฏิบัติตามคำสอนของพระเจ้า (อิศวาระปณิธานา)หลักการฝึกฝนทางจิตวิญญาณเหล่านี้จะทำให้เรามีสุขภาพดี ป้องกันโรคในกลุ่มนี้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เหมือนกับคำสอนทางพระพุทธศาสนา ซึ่งท่านได้แนะนำเอาไว้ว่า คนที่ต้องการจะมีสุขภาพดีและมีอายุยืนถึง 100 ปี จะต้องปฏิบัติธรรมข้อที่เรียกว่า กุศลกรรมบถ 10 (มหาธรรมปาลสูตร ขุททกนิกาย ชาดก และ ขุ. ชา. อ. 5/93/430)

สำหรับงานวิจัยทางการแพทย์ ในการนำเอาการฝึกโยคะและสมาธิมาใช้ในการรักษาโรคปวดหลัง มีดังนี้แพทริก แรนดอฟ (Patrick Randolph) แห่งศูนย์บำบัดอาการปวดแห่งมหาวิทยาลัยเทกซัส เทค (The International Pain Institute at Texas Tech University Health and Science Center) ได้ใช้การฝึกโยคะร่วมกับการเจริญสติแบบพุทธ(Mindful Yoga) บำบัดผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังพบว่าผู้ป่วยอาการดีขึ้นถึงร้อยละ 79ศาสตราจารย์เฮอร์เบอร์ต เบนสัน (Herbert Benson) และคณะ แห่งโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาด ได้ทำการศึกษาโดยใช้การฝึกโยคะและสมาธิแบบที เอ็ม (Trancendental Meditation) ในผู้ป่วยปวดเรื้อรังเช่นปวดหลัง ปวดศีรษะปวดจากโรคระบบประสาท ปวดจากโรคมะเร็ง พบว่า ช่วยให้ผู้ป่วยลดการมาพบแพทย์เพื่อรับยาแก้ปวดได้ร้อยละ 36ศาตราจารย์โจน คาแบค ซิน (Jon Kabat Zinn) และคณะ แห่งโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยแมทซาชูเสท ได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก ปวดบริเวณใบหน้า ที่มีอาการปวดเรื้อรัง 51 ราย ซึ่งรักษาไม่ดีขึ้นตามแบบแพทย์แผนปัจจุบัน โดยใช้การฝึกโยคะร่วมกับการเจริญสติแบบพุทธ (Mindfulness Meditation) เป็นเวลา 10 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยมีอาการปวดดีขึ้นร้อยละ 65งานวิจัยในการใช้โยคะบำบัดมีการศึกษาไว้อย่างมาก ผู้เข้าอบรมอาจจะเข้าไปดูในเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมาย โดยอาจจะเข้าไปใน Google.com แล้วพิมพ์คำว่า Yoga therapy ก็จะมีเว็บไซด์ให้ดูมากมาย เช่น เว็บไซด์ของสมาคมโยคะบำบัดนานาชาติ (www.iayt.org) หรือติดตามจากวารสารโยคะบำบัด (Yoga Therapy journal) ก็จะมีข้อมูลให้ศึกษามากมาย

 


 

เอกสารอ้างอิง

1) อัจฉรา กุลวิสุทธิ์, อาการปวดหลัง, เอกสารประกอบการบรรยาย โครงการการศึกษาต่อเนื่องสำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป, กรุงเทพฯ, คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช, 2543-442) แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ โยคะเพื่อพัฒนาร่างกายและจิตใจ พิมพ์ครั้งที่ 1,กรุงเทพฯ, เอส. ที. พี เพรส, 25423) Rosomoff HL,Rosomoff RS, Low Back Pain : Evaluation and management in the primary care setting, Med Clin North Am 1999; 83; 643-662.4) Borenstein DG, Low Back Pain. In; Klippel JH, Dieppe PA, eds. Practical Rheumatology, MosbyWolfe London 1977; 53-73.5) Deyo RA, Bass JE, Lifestyle and Low Back Pain; the influence of smoking and obesity, Spine 1989; 14: 501 – 506.6) Von Korff M, Deyo RA, Cherkin D, Barlow W, Back pain in primary care; outcomes at one year. Spine 1993; 18; 855 – 62.7) Biering – Sorensen F, A prospective study of low back pain in the general population. I occurrence, recurrence and aetiology, Scand J Rehab 1983; 15; 71 – 80.8) Vicki TH, Minding your pain, Yoga Journal; 2001; 162; 35.9) Bruce ME, Eliot S, “Stress and the individual” Mechanisms leading to Disease, Arch Int Med 1993; 153; 27.10) Sheldon C, Davis AJ et al, Psychological Stress and Susceptibility to the common cold, N Engl J Med 1991; 325; 29.11) Nancy FS, Francois L, et al, Depr5ession Following Myocardial Infarction JAMA; 1993; 270; 15.12) Lisa FB, Linda LS, et al, Emotional Support and Survival after Myocardial Inforction Ann Intern Med 1992; 117; 1003 – 100913) James JS, John SL, et al, Cost Offset From a Psychiatric Consultation – Liaison Intervention with Elderly Hip Fracture Patients Am J Psyc 1991; 148; 8.14) David S, Effect of Psychosocial Treatment on survival of Patient with Metastatic breast cancer, Lancet; 1989.15) Kabat ZJ, Lipworth L, and Burney R, The clinical use of mindfulness meditation regulation of chronic pain. J Behav Med 1985; 8; 163 – 190.16) Kabat ZJ, An outpatient program in Behavioral Medicine for chronic pain patient based on the practice of mindfulness meditation; Theoretical considerations and preliminary results, Gen Hos Psy 1982; 4; 33 – 47.17) Caudill M, R. Schnable et al, Decreased clinical use by Behavioral medicine intervention in chronic pain patients Cli J Pain 1991; 7; 305 – 310.18) Annika Rosengren,Kristina Orth – Gomer et al, Stressful life events, social support, and mortality in man born in 1933 BMJ : 1993 : 307 :1102 – 1105.

 


 

 

การสัมมนาวิชาการแพทย์ทางเลือก ครั้งที่ 2
เรื่อง “การดูแลผู้ป่วยปวดหลัง ปวดเอวด้วยการแพทย์ผสมผสาน”
วันที่ 23-24 มีนาคม 2549 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ

สร้างเมื่อ 30 – มี.ค.- 49

เอกสารที่เกี่ยวข้อง
สไลด์ประกอบการบรรยาย “โยคะกับการดูแลผู้ป่วยปวดหลัง” (pdf)

โมบายแอปพลิเคชัน

 

กรมการแพทย์แผนไทยฯ


สามารถติดต่อเราผ่าน Line

 

ได้แล้ววันนี้

ติดตาม กองการแพทย์ทางเลือก

ผ่านทางโซเชียลมีเดีย​ได้ที่

       


กองการแพทย์ทางเลือก
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
อาคาร 2 ชั้น 6 และชั้น 7 กระทรวงสาธารณสุข
ถนนติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ : 02 591 7007 ต่อ 2607
โทรสาร : 02 149 5637
อีเมล์ : Thaicam2019@gmail.com

5919577
This Month : 19964
Total Users : 1529090
Views Today : 3319
Server Time : 2024-09-20