เอกสารวิชาการสรุป เรื่อง การบำบัดแบบโฮมิโอพาธี (1)

โดย : ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล
กองการแพทย์ทางเลือก

บทที่ 1 สถานการณ์ด้านการแพทย์ทางเลือก

         จากรายงานสำรวจความต้องการและอัตราการใช้ประโยชน์จากการแพทย์ทางเลือก / การแพทย์แบบผสมผสานของประชาชนในภาพรวมของโลกพบว่า ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวที่สูงมาก ยกตัวอย่างเช่น จากรายงานของ ดร.ไอเซนเบิร์กและคณะ (มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด) ทำการสำรวจการใช้ประโยชน์การแพทย์ทางเลือกของ

ประชาชนชาวอเมริกันระหว่างปี 1990 และ 1997 พบว่าประชาชนใช้บริการการแพทย์ทางเลือกสูงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47 (629 ล้านครั้ง) และเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้บริการการแพทย์แบบปฐมภูมิในปีเดียวกัน (386 ล้านครั้ง) นอกจากนี้ จากการศึกษาและเก็บรวบรวมสถิติการใช้ประโยชน์การแพทย์ทางเลือก / การแพทย์แบบผสมผสาน ของ National Center for Complementary and Alternative Medicine (National Institution of Health) ปี 2002 (ปีล่าสุด) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติของอเมริกา (National Center for Health Statistics) โดยสำรวจจากประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไปทั้งสิ้นจำนวน 31,044 คน พบว่า ปัจจุบันประชาชนชาวอเมริกันประมาณร้อยละ 62 มีการใช้ประโยชน์จากการแพทย์ทางเลือก / การแพทย์แบบผสมผสาน ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (ดังแผนภูมิที่ 1.1) และตัวเลขเพิ่มเป็นร้อยละ 74.6 เมื่อถามว่าเคยมีการใช้ประโยชน์หรือไม่ และจากการสำรวจพบว่าประชากรที่ใช้ประโยชน์จากการรักษาในรูปแบบนี้เป็นประชากรที่มีการศึกษาสูง (ยกเว้น การสวดมนต์) โดยมีเหตุผลหลัก 5 ประการคือ การแพทย์ทางเลือก / การแพทย์แบบผสมผสานจะช่วยให้การรักษาดีขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน (ร้อยละ 55) น่าสนใจที่จะลองดู (ร้อยละ 50) การรักษาแบบแผนปัจจุบันใช้ไม่ได้ผล (ร้อยละ 28) แพทย์แผนปัจจุบันแนะนำให้ทดลองใช้ (ร้อยละ 26) และยาแผนปัจจุบันราคาแพงเกินไป (ร้อยละ 13)

แผนภูมิที่ 1.1 แสดงอัตราการใช้การแพทย์ทางเลือกของชาวอเมริกันในปี 2545

จากแนวโน้มดังกล่าวนี้เอง ส่งผลกระทบให้เกิดความตื่นตัวและมีการจัดระบบองค์ความรู้ในเรื่องการแพทย์ทางเลือก / การแพทย์แบบผสมผสานอย่างเอาจริงเอาจังในต่างประเทศตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งองค์การกนามัยโลกเองก็ตระหนักเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงมีการกำหนดยุทธศาสตร์ทางด้านนี้ออกมาในแผนปี 2002 – 2005 ว่า จะช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ในการ กำหนดนโยบายระดับชาติเพื่อประเมินและควบคุมการใช้ประโยชน์จากการแพทย์ทางเลือก / การแพทย์แบบผสมผสาน ส่งเสริมการสร้างหลักฐาน (Evidence) ที่น่าเชื่อถือในด้านความปลอดภัย ศักยภาพ และคุณภาพของการรักษาและผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ และจะให้ความมั่นใจว่าจะสามารถมีบริการที่มีคุณภาพ มีราคาที่เข้าถึงได้ให้แก่ประชาชน(รวมสมุนไพรด้วย) รวมทั้งจะส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์(ที่มีหลักฐานอ้างอิงได้จริง) โดยผู้ให้บริการและผู้มารับบริการ และจากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกเองพบว่ามีการแพทย์ทางเลือก 5 เรื่องที่มีการใช้ประโยชน์ในโลกมากที่สุดคือ การแพทย์พื้นบ้านของจีน โฮมีโอพาธี ไคโรแพรกติก อายุรเวทและ ยูนานิ ซึ่งก็เป็นเรื่องการแพทย์ทางเลือกลำดับแรกของการดำเนินงานโดยองค์การอนามัยโลก ณ ขณะนี้เององค์การอนามัยโลกมีเอกสารรับรองอย่างเป็นทางการในการใช้ประโยชน์จากการฝังเข็ม และไคโรแพรกติก ส่วนอีก 3 เรื่องนั้นกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ และจากข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการทราบว่า การบำบัดแบบโฮมีโอพาธีกำลังอยู่ระหว่างการสรุปผลและรอการประกาศอย่างเป็นทางการเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ จากรายงานสุขภาพทางเลือกของ สำนักนโยบายและแผน สาธารณสุข (ตุลาคม 2540) กล่าวว่า กระแสความตื่นตัวเรื่องศาสตร์การแพทย์ทางเลือกในสังคมไทยนั้นเริ่มก่อตัวอย่างเด่นชัดเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2530 โดยเริ่มต้นจากการนำสมุนไพรมาใช้ การรื้อฟื้นภูมิปัญญาการแพทย์แบบพื้นบ้าน ไปจนถึงการแสวงหารูปแบบ/วิธีการรักษาแบบต่าง ๆ จากต่างประเทศมาใช้กันอย่างหลากหลาย จนกระทั่งกระทรวงสาธารณสุขได้มีการก่อตั้งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกขึ้นในปี 2545 ตามกฎกระทรวงการแบ่งส่วนราชการกรมฯ

สถานการณ์การให้บริการในประเทศไทย

จากรายงานการศึกษาของ สำนักนโยบายและแผนสาธารณสุข (ตุลาคม 2540) โดยทำการส่งแบบสอบถามไปยังหน่วยงานกรม กองทางวิชาการในส่วนกลาง และหน่วยงานส่วนภูมิภาคของกระทรวงสาธารณสุขที่คาดว่าเกี่ยวข้อง จำนวน 253 หน่วยงาน เพื่อศึกษาผลการดำเนินงานด้านการแพทย์ทางเลือกจากหน่วยงานต่าง ๆ ดังกล่าว โดยให้นิยามความหมายของสุขภาพทางเลือกว่า เทคนิควิธีการทางการแพทย์อื่น ๆ ที่ไม่เป็นที่รู้จักหรือยอมรับอย่างเป็นทางการโดยบุคลากรทางการแพทย์ในระบบการแพทย์กระแสหลัก หรือการแพทย์แผนปัจจุบัน กล่าวคือไม่ได้มีการสอนในโรงเรียนแพทย์ หรือไม่มีการจัดบริการในโรงพยาบาลหรือสถาบันการแพทย์แผนปัจจุบัน เทคนิคเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีลักษณะ “ไม่กระทำต่อร่างกายอย่างรุนแรง” หรือ “ไม่ใช้เภสัช-ภัณฑ์ที่เป็นสารเคมี” และเป็นศาสตร์สุขภาพทางเลือกที่มาจากสังคมและวัฒนธรรมอื่น สามารถสรุปผลได้ดังตารางที่ 1.1

ตารางที่ 1.1 แสดงผลการสำรวจการให้บริการการแพทย์ทางเลือกปี 2540

ประเภทสถานพยาบาล

จำนวน รพ.ที่ส่งแบบสอบถามไป

(แห่ง)

จำนวน รพ.ที่ตอบแบบสอบถามกลับ

(แห่ง/ร้อยละ)

จำนวน รพ.ที่มีการดำเนินงานการแพทย์ทางเลือก

(แห่ง/ร้อยละ)

1.โรงพยาบาลทั่วไป/ศูนย์

93

53 (56.99%)

13 (13.98%)

2. สสจ.

76

36 (47.37%)

16 (21.05%)

3. กรมการแพทย์

34

13 (38.23%)

9 (26.47%)

4. กรมสุขภาพจิต

19

10 (52.63%)

9 (47.37%)

5. กรมควบคุมโรค

15

9 (66.67%)

5 (33.33%)

6. กรมอนามัย

16

12 (75.00%)

7 (43.75%)

รวม                     

253

133 (52.57%)

59 (23.32%)

หมายเหตุ ไม่รวมการให้บริการการแพทย์แผนไทยในการศึกษา และผู้สรุปนำเสนอข้อมูลภายใต้สมมุติฐานว่าผู้ที่ไม่ตอบแบบสอบถามถือว่าไม่มีการดำเนินงานด้านการแพทย์ทางเลือก

และจากการสำรวจและประเมินสถานการณ์การให้บริการการแพทย์ทางเลือกในโรงพยาบาลและสถานบริการสุขภาพ ปีงบประมาณ 2546 (ต.ค. 45 – ส.ค. 46) ของกองการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒน์ ฯ โดยส่งแบบสอบถามสำรวจและสุ่มเข้าเก็บข้อมูลบางแห่ง แบ่งตามเขต พบว่า จากการส่งแบบสอบถามไปยังสถานพยาบาลทั้งสิ้น 1,092 แห่ง เป็น โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลศูนย์ จำนวน 92 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 720 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 280 แห่ง สรุปผลดังตารางที่ 1.2

ตารางที่ 1.2 แสดงผลการสำรวจสถานการณ์การให้บริการด้านการแพทย์ทางเลือกปี 2546

ประเภทสถานพยาบาล

จำนวน รพ.ที่ส่งแบบสอบถามไป

(แห่ง)

จำนวน รพ.ที่ตอบแบบสอบถามกลับ

(แห่ง/ร้อยละ)

จำนวน รพ.ที่มีการดำเนินงานการแพทย์ทางเลือก

(แห่ง/ร้อยละ)

1. โรงพยาบาลทั่วไป/ศูนย์

92

63 (68.48%)

48 (52.17%)

2. โรงพยาบาลชุมชน

720

202 (28.05%)

59 (8.19%)

3. โรงพยาบาลเอกชน

280

112 (40.00%)

22 (7.85%)

รวม                     

1092

377 (34.52%)

129 (11.81%)

หมายเหตุ ไม่รวมการให้บริการการแพทย์แผนไทยในการศึกษา และผู้สรุปนำเสนอข้อมูลภายใต้สมมุติฐานว่าผู้ที่ไม่ตอบแบบสอบถามถือว่าไม่มีการดำเนินงานด้านการแพทย์ทางเลือก

โดยการแพทย์ทางเลือกที่มีการให้บริการมากที่สุดคือ คลินิกฝังเข็มมีจำนวน 85 แห่ง คิดเป็น 65.89% ของจำนวนโรงพยาบาลที่ให้บริการด้านการแพทย์ทางเลือก (129 แห่ง) ส่วนการให้บริการอื่น ๆ เช่น การทำดุลยภาพบำบัด ชี่กง ดนตรีบำบัดในเด็กออทิสติก การฝึกสมาธิ วารีบำบัด การจัดโปรแกรมอาหารสุขภาพ ฯลฯ

จากผลการศึกษาทั้งสองจะเห็นว่าในช่วงเวลาประมาณ 6 ปี (2540 – 2545) โรงพยาบาลทั่วไป/ศูนย์ มีการดำเนินงานด้านการแพทย์ทางเลือกสูงขึ้นอย่างชัดเจนจาก ร้อยละ 13.98 เป็นร้อยละ 52.17 หรือคิดเพิ่มเป็นประมาณ 3.73 เท่า

การใช้การแพทย์ทางเลือกในประเทศไทย

ศาสตร์การแพทย์ทางเลือกที่ได้รับความนิยมและถูกเลือกมาใช้ในสังคมไทย พบว่ามีการทำวิจัยเชิงสำรวจในภาพกว้างของประชาชนที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 งานวิจัย ดังนี้

1. จากรายงานสุขภาพทางเลือกของ สำนักนโยบายและแผนสาธารณสุข (ตุลาคม 2540) เป็นการสำรวจในภาพกว้างของประชาชน โดยศึกษาจากหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานเอกชนที่มีบทบาทการดำเนินงานด้านการแพทย์ทางเลือกถึงเทคนิคเฉพาะของศาสตร์สุขภาพทางเลือกที่ได้รับความนิยมและถูกเลือกมาใช้มากในกลุ่มเป้าหมายแบ่งได้ 3 อันดับ ดังนี้
อันดับที่ 1 Massage, Exercise, Juice Therapy, Meditation, Relaxation, Yogaอันดับที่ 2 Fasting, Lifestyle change, Natural food, Breathing pattern, Counseling, Music Therapy, Herbalsอันดับที่ 3 Acupuncture, Colon Therapy, Detoxification, Nutritional Therapy, Nutrition supplement, Macrobiotic, Guide imaginary

หมายเหตุ อันดับที่ 1 หมายถึงได้รับความนิยมสูงสุด และอันดับอื่น ๆ ได้รับความนิยมรองลงมาตามลำดับ

2. จากรายงานการวิจัย ของ สมพร เตรียมชัยศรี และคณะ เรื่อง การสำรวจข้อมูลและการดูแลสุขภาพทางเลือกในคนไทย ปี พ.ศ. 2543 เป็นการสำรวจตัวอย่างจำนวน 400 คน ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 357 คน (89.3%) โดยมีลักษณะดังนี้ เป็นหญิง 241 คน (68.3%) ชาย 112 คน ( 31.7%) มีการศึกษาสูงกว่าอุดมศึกษา 268 คน (80%) ต่ำกว่าอุดมศึกษา 65 คน ( 20%) มีวิธีการรักษาโรคดังนี้
– พบแพทย์แผนปัจจุบัน 222 คน คิดเป็น 62.1 %- ใช้แผนโบราณและแผนปัจจุบัน 85 คน คิดเป็น 23.8%- ซื้อยาเอง 16 คน คิดเป็น 5.1 %- ใช้ยาแผนโบราณและยาสมุนไพร 10 คน คิดเป็น 3.2 %- ที่เหลือใช้วิธีอื่น ๆ
จากการศึกษาสรุปได้ว่า ศาสตร์ที่คนไทยรู้จัก ให้ความศรัทธา และมีความนิยมใช้ จำนวน 25 ศาสตร์ ดังนี้ สมุนไพร การนวด สมาธิ/โยคะ การนวดศีรษะ รำมวยจีน/ไทเก็ก พลังรังสีธรรม สมาธิหมุน ชีวจิต พลังจักรวาล/โยเร การฝังเข็ม การฟังดนตรี การสวดมนต์/ภาวนา อบสมุนไพร การใช้เครื่องหอม/ยาดม การใช้วิตามิน/เกลือแร่/อาหารปลอดสารพิษ ดื่มน้ำผัก/ผลไม้ การสวนล้างพิษ การดูหมอ/รดน้ำมนต์ ศิลปะบำบัด การผ่อนคลายแบบBiofeedback การใช้คาถา/เวทมนต์ การเพ่งโดยการใช้แสง สี เสียง การเข้าทรงนั่งทางใน การใช้เก้าอี้แม่เหล็กไฟฟ้า การใช้วิชาธรรมจักร

นอกจากนี้ยังมีการนำศาสตร์การแพทย์ทางเลือกรูปแบบต่าง ๆ ไปใช้ในกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังต่าง ๆ ร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ที่ชัดเจนที่สุดคือ กลุ่มเพื่อนมะเร็งที่มีการนำเอาการแพทย์ทางเลือกทั้งในรูปแบบของอาหารสุขภาพ การนั่งสมาธิ การใช้หินบำบัด ฯลฯ มาใช้ร่วมด้วย

สรุปในภาพรวม

จากรายละเอียดและข้อมูลต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (นับจากปี 2540) เรื่องการแพทย์ทางเลือกมีอัตราการขยายตัวสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ และกำลังเป็นที่สนใจของประชาชนในสังคมเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น กองการแพทย์ทางเลือกจึงควรมีภารกิจเร่งด่วนที่ต้องเร่งจัดการและทำการศึกษาองค์ความรู้ด้านการแพทย์ทางเลือกต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลได้อย่างถูกต้องแก่ประชาชนต่อไป

แม้ว่าเรื่องการบำบัดแบบโฮมีโอพาธีจะไม่ใช่เรื่องที่ติดอันดับจากรายงานการสำรวจการใช้การแพทย์ทางเลือกต่าง ๆ ในประเทศไทย แต่จากการศึกษาและสำรวจสถานการณ์เชิงลึกเรื่อง โฮมีโอพาธีในประเทศไทยระยะ 2 ปีที่มา กลับพบว่า การบำบัดในรูปแบบนี้ ได้ถูกนำมาใช้อยู่บ้างและกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสถานบริการเอกชน ซึ่งจะเห็นข้อมูลได้ในบทที่ 3

โมบายแอปพลิเคชัน

 

กรมการแพทย์แผนไทยฯ


สามารถติดต่อเราผ่าน Line

 

ได้แล้ววันนี้

ติดตาม กองการแพทย์ทางเลือก

ผ่านทางโซเชียลมีเดีย​ได้ที่

       


กองการแพทย์ทางเลือก
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
อาคาร 2 ชั้น 6 และชั้น 7 กระทรวงสาธารณสุข
ถนนติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ : 02 591 7007 ต่อ 2607
โทรสาร : 02 149 5637
อีเมล์ : Thaicam2019@gmail.com

5919801
This Month : 20188
Total Users : 1529314
Views Today : 4324
Server Time : 2024-09-20