นพ. บรรจบ  ชุณหสวัสดิกุล

ทุกวันนี้ ปัญหาสุขภาพของคนไทย ได้เปลี่ยนไปจากเดิมส่วนใหญ่เราขาดโปรตีนและแคลอรี กลายมาเป็นว่าคนไทยกำลังตกอยู่ในยุคโภชนาการล้นเกิน ช่วงระยะ20 กว่าปีมานี้ เราได้เปลี่ยนไปกินอาหารแบบตะวันตกกันมากขึ้น มีคำกล่าวว่า นมวัวเป็นอาหารสมบูรณ์แบบของคนไทย  หลายๆครอบครัวนิยมให้ลูกหลานดื่มนมต่างน้ำ  คนไทยสูงอายุจำนวนไม่น้อย ดื่มนมแล้วทำให้เกิดอาการท้องเฟ้อ เราดื่มนมเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าตัว ควบคู่กับกินเนื้อสัตว์ล้นเกิน กินผักผลไม้น้อยลง  ผลก็คือ คนไทยอ้วน 25-30% ไขมันในเลือดสูง 50% ของประชากรในเมือง เป็นภูมิแพ้  12 ล้านคน และคนไทยตายด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นอันดับแรก ตามด้วยโรคมะเร็งเป็นอันดับที่สอง จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นเพราะวิถีการบริโภคของคนไทยที่เปลี่ยนไป

นมวัว ธรรมชาติออกแบบมาเพื่อให้ลูกวัวเติบโตกลายเป็นวัวตัวโต  น้ำหนักถึง 900 กิโลกรัม ด้วยเวลาสั้นๆ เพียง 2 ปี (แรกเกิดหนัก 40 กิโลกรัม) เพื่อให้วิ่งหนีศัตรูได้ รูปร่างของวัว จึงมีลักษณะ “ตัวใหญ่สมองเล็ก”

 แต่ลูกของคน  จะค่อยๆเติบโตอย่างช้าๆ โดยเน้นการเติบโตของเซลล์เสมอง เพราะธรรมชาติของคนต้องใช้สมองสร้างสรรตัวเองและสังคม ธรรมชาติจึงได้ออกแบบนมแม่มาเพื่อเร่งการเติบโตของสมอง ให้สมองใหญ่  เมื่อหย่านมแม่แล้ว ก็กินอาหารอื่นให้ร่างกายค่อยๆ เติบโตขึ้นตามวัย  ได้ตามธรรมชาติ

           คนไทย โดยชาติพันธุ์ไม่ใช่คนตัวเล็ก  แท้ที่จริงบรรพบุรุษไทยรูปร่างสูงใหญ่ กำยำแข็งแรงมาแต่ไหนแต่ไร ดังหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดย นพ.มัลคอล์ม สมิธ  หมอหลวงในสมัยรัชกาลที่ 4  ได้บันทึกเรื่อง “หมอฝรั่งในสยาม” ตอนหนึ่งว่า  “ชาวสยามไม่ดื่มนมวัวทุกรูปแบบ  การเลี้ยงปศุสัตว์ไม่เป็นที่รู้จักในเอเชียตะวันออก  ชาวจีน  ญี่ปุ่น และอินโดจีน  ไม่เคยแตะต้องนมเลย  ตั่งแต่หย่านม  กระนั้นก็ตาม พละกำลังและความแข็งแรงของร่างกายโดยทั่วไป  ไม่ได้ด้อยกว่าพวกยุโรป”

           และจากรายงานของ ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร  ค้นคว้าหลักฐานทางโบราณคดีที่บ้านเชียงซึ่งอายุกว่า  3,000 ปี โครงกระดูกของบรรพบุรุษไทยที่นั่นสูงถึง  170  เซนติเมตร ถือว่าสูงใหญ่ ทุกโครงกระดูกแข็งแรงไม่มีโรคกระดูกพรุนเลย  ในหลุมยังขุดพบก้างปลา กระดูกสัตว์  และเปลือกหอย  นั่นคืออาหารของคนไทย แต่โบราณ  โดยไม่ต้องพึ่งพานม แม้ในปัจจุบันคนไทยก็ยังมีอัตรากระดูกพรุนน้อยกว่าชาวอเมริกันถึง 9 เท่าตัวทั้งที่เราดื่มนมน้อยกว่า  จึงน่าสนใจว่าเราจะหันกลับมาทบทวนในเรื่องการดื่มนม (วัว) กันอีกครั้งหรือไม่

ประการที่ 1 นมวัวเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วน ไขมันสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด

            นมวัวเป็นผลผลิตซึ่งมาจากสัตว์ จึงมีโคเลสเตอรอล แถมมาด้วยกรดไขมันอิ่มตัว ทั้งๆ ที่เราต่างพยายามหลีกเลี่ยงจากการใช้น้ำมันหมู เพราะมีโคเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งเป็นผลผลิตที่มาจากสัตว์เช่นเดียวกัน

          หลายครั้ง ที่เราพากันเข้าใจผิดว่าตนกำลังดื่ม “นมพร่องไขมัน” จึงน่าจะปลอดภัยจากกลุ่มโรคอ้วน ไขมันสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดดังกล่าว และดีต่อสุขภาพ แท้จริงแล้วเราต้องทราบว่า นมพร่องไขมันไม่ได้แปลว่าไม่มีไขมัน เป็นเพียงลดปริมาณไขมันลงครึ่งหนึ่งเท่านั้น และไขมันที่มีอยู่นั้นก็ยังคงเป็นไขมันอิ่มตัวสูงที่เป็นสาเหตุหลักของกลุ่มโรคดังกล่าวอยู่นั่นเอง

ประการที่ 2 นมวัวเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ และหอบหืด

           งานวิจัยชิ้นแล้วชิ้นเล่า ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ที่มีชื่อเสียง ยืนยันว่านมเพิ่มความเสี่ยงต่อกลุ่มโรคภูมิแพ้ ฮาร์วีย์ ไดมอนด์ ผู้เขียนหนังสือ Fit for Life ซึ่งขายดีติดอันดับ ได้ระบุว่า “หลายสิบปีที่ผ่านมา เด็กที่ผมพบว่าเป็นหูน้ำหนวก ไม่มีสักรายเดียวที่ไม่ดื่มนม หลายคนต้องจบด้วยการผ่าตัด ลองอย่างนี้ดูสิครับ ให้ลูกๆ ของคุณหยุดดื่มนม แรกๆ เด็กๆ อาจจะยังมีน้ำมูก นั่นเป็นเพราะร่างกายฉวยโอกาสนั้นขับพิษ ขับเมือกที่สะสมอยู่ออกไป หลังจากนั้นอาการต่างๆ ก็จะหายไป”

ประการที่ 3 นมวัวเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ท้องเสียเรื้อรัง หรือท้องผูกสลับท้องเสีย

             ศ.นพ.สุขสวัสดิ์ เพ็ญสุวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ ท่านเล่าว่า “ผมเคยทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งในอาสาสมัครที่เป็นพลทหาร โดยให้พวกเขาดื่มนม แล้วส่องกล้องดูเยื่อบุลำไส้ของอาสาสมัครเหล่านี้ ปรากฎผลเป็นที่น่าตกใจว่า อาสาสมัครเหล่านี้ทั้ง 100% มีเยื่อบุลำไส้บวมกันทั้งหมด ซึ่งแสดงถึงภาวะภูมิแพ้ของคนไทยต่อการดื่มนม เพียงแต่คนบางคนแสดงอาการด้วยภาวะท้องเสีย แต่บางคนก็ถ่ายได้เป็นปกติ ทั้งๆ ที่เยื่อบุลำไส้บวมอยู่อย่างนั้น”

ประการที่ 4 นมเป็นอาหารที่ปราศจากเส้นใย แถมแคลอรีสูง ซ้ำเติมโรคเบาหวาน

             ศ.นพ.สุขสวัสดิ์ เพ็ญสุวรรณ รักษาคนไข้มากว่า 40 ปี กล่าวว่า “คนไข้เบาหวานที่มารักษากับผม รายไหนรายนั้น ถ้าไม่เลิกการดื่มนม จะไม่สามารถควบคุมเบาหวานได้เลย ผมต้องสั่งให้เลิกดื่มนม จึงจะควบคุมเบาหวานไว้ได้”

              นม โดยตัวของมันเองเป็นอาหารที่ปราศจากเส้นใย แถมอุดมด้วยไขมันและโปรตีน นมจึงให้แคลอรี(พลังงาน)สูงจากไขมันที่เป็นส่วนประกอบของนมนั่นเอง

ประการที่ 5 นมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วถุงน้ำดี

             ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ระบุไว้ว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา คนไทยดื่มนมมากขึ้น ด้วยการรับวัฒนธรรมจากตะวันตก ผลก็คือคนไทยมีไขมันเลือดสูง และคนไทยก็เป็นนิ่วถุงน้ำดีอย่างมากมายอีกด้วย

ประการที่ 6 นมเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง

             งานวิจัยของคากาวา เขาศึกษาอาหารของคนญี่ปุ่น นับตั้งแต่แพ้สงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาเข้าไปส่งเสริมชีวิตแบบอเมริกัน ด้วยเวลา 25 ปี นับตั้งแต่ ค.ศ.1950 – 1975 เขาพบว่าคนญี่ปุ่นดื่มนมเพิ่มขึ้น 15 เท่า กินเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น 7.5 เท่า ลดการกินข้าวลง 70% ผลก็คือ ผู้หญิงญี่ปุ่นป่วยเป็นมะเร็งปอด เต้านม ลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้นจากเดิม 300% ซึ่งกรณีเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นกับคนไทยในปัจจุบัน

              การประชุมที่จัดโดยกองทุนวิจัยมะเร็งโลก(WCRF) และสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐฯ (AICR) ซึ่งรวบรวมผลวิจัยนับพันๆ ชิ้น แล้วสรุปเมื่อปี ค.ศ.1997 ก็ระบุว่ามีปัจจัยหลายชนิดที่ทำให้คนเราเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็ง รวมทั้งนม และผลิตภัณฑ์นมด้วย

ประการที่ 7 นมไม่ใช่แหล่งโปรตีน ไขมัน และแคลเซี่ยมที่ดีที่สุดเสมอไป

              ไขมันในนม ไม่พึงพิสมัยอยู่แล้ว เพราะเป็นไขมันจากสัตว์ สำหรับโปรตีนในนม แท้จริงแล้ว เมื่อเปรียบเทียบนม 1 แก้ว ให้โปรตีน 8.5 กรัม ซึ่งถ้าเรากินนมถั่วเหลือง 1 แก้ว จะให้โปรตีนใกล้เคียงกันคือ 7 กรัม ถ้ากินน่องไก่ 1 ชิ้น(100 กรัม) จะได้โปรตีน 18.8 กรัม

  ในส่วนของแคลเซี่ยม จากตัวเลขเปรียบเทียบปริมาณแคลเซี่ยมในนมวัว เมื่อเทียบกับปริมาณแคลเซี่ยมในอาหารพื้นถิ่นของชาวตะวันออก จะพบว่านมวัวนั้นกลับมีปริมาณของแคลเซี่ยมน้อยกว่าอาหารอื่นๆ อีกมากทีเดียว ดังตาราง

ตารางเปรียบเทียบปริมาณแคลเซี่ยมในอาหาร กับในนมวัว (มก.ต่อน้ำหนัก 100 กรัม)

ประเภทอาหาร ปริมาณแคลเซี่ยม ประเภทอาหาร ปริมาณแคลเชี่ยม
ปลาร้าผง 2,392 ถั่วแดงหลวง 356
แคยอดอ่อน 395 เต้าหู้ขาวอ่อน 250
กุ้งแห้งตัวเล็ก 2,305 ใบชะพลู 601
ผักกะเฉด 387 ผักคะน้า 245
กะปิเคย 1,565 มะขามฝักสด 429
สะเดายอดอ่อน 354 ถั่วเหลือง 245
งาดำคั่ว 1,452 ปลาไส้ตัน 218
เม็ดบัวดิบ 335 นมวัวสด 118
กุ้งฝอยน้ำจืด 1,339 นมผสมแคมเซี่ยม 160
ถั่วเน่าแห้ง 292

              จะเห็นได้ว่า นมวัว 100 กรัม ให้แคลเซี่ยมเพียง 118 มก. นมผสมแคลเซี่ยมจะให้ 160 มก. แต่ถ้าพิจารณาปริมาณแคลเซี่ยมจากอาหารพื้นถิ่นต่างๆ ของไทย จะพบว่า อาหารพื้นถิ่นเป็นแหล่งแคลเซี่ยมที่ดีและหลากหลายโดยที่เราไม่ต้องพึ่งการดื่มนม เห็นได้ชัดว่า กุ้งแห้ง ปลากรอบ ปลาเล็กปลาน้อย มีแคลเซี่ยมมากกว่านม 13 – 23 เท่า งาดำคั่ว ให้แคลเซี่ยมมากกว่านม 14 เท่า พืชผักต่างๆ ให้แคลเซี่ยมมากกว่านม 3 – 4 เท่า เต้าหู้ มีแคลเซี่ยมมากกว่านม 2 เท่า ดังนั้นกินเต้าหู้ 1 ก้อน ให้แคลเซี่ยมเท่ากับดื่มนม 1 แก้ว

                ดังนั้นแทนที่จะดื่มนมวัว ผู้เขียนขอเสนอให้ดื่มนมถั่วเหลือง โรยกับงาดำคั่ว เราก็จะได้ทั้งโปรตีนและแคลเซียมอย่างเพียบพร้อม

               คนจีนโบราณ  นิยมโม่น้ำนมงาเป็นอาหารบำรุงผู้สูงอายุที่เบื่ออาหาร และอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ถือได้ว่า น้ำนมงาเป็นยาอายุวัฒนะอย่างหนึ่ง  ผู้เขียนจึงขอแนะนำสูตรการทำน้ำนมงา เพื่อเป็นเครื่องดื่มอุดมแคลเซียม  ดังนี้

  1.  คั่วงาดำด้วยไฟอ่อนๆ บีบดูว่าแตก 3 เม็ดใน 5 เม็ดแล้วให้รีบเอาลงจากเตา ไปบดในครกให้เมล็ดแตก
  2. ใช้งาดำ 5 ช้อนโต๊ะ ใส่กับน้ำ  1 แก้ว (250 ซีซี) ปั่นด้วยเครื่องปั่นไฟฟ้า นาน  5 นาที จำนวน 2 รอบ
  3. กรองด้วยผ้าขาวบาง  แล้วคั้น
  4. ต้มน้ำนมงาที่ได้ ปรุงกลิ่นด้วยใบเตยหอม ปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายแดงแล็กน้อย

หมายเหตุ : งาดำ 5 ช้อนโต๊ะ  (70 กรัม) ให้แคลเซียมถึง 1,016 มิลลิกรัม

                อาหารไทยๆ เรามีแคลเซียมสูงกว่าอาหารแบบตะวันตกอยู่แล้ว ถ้าขยันกินอาหารไทยจะไม่ขาดแคลเซียม ดังคำกล่าวที่ว่า  “กินข้าวกล้อง ไม่ต้องกินยา กินถั่วงาปลา ไม่ต้องพึ่งพานม (วัว)”

ดาวน์โหลดเอกสาร

เหตุผล 7 ประการ ที่ผู้สูงอายุไทยควรพิจารณาเรื่องดื่มนม

โมบายแอปพลิเคชัน

 

กรมการแพทย์แผนไทยฯ


สามารถติดต่อเราผ่าน Line

 

ได้แล้ววันนี้

ติดตาม กองการแพทย์ทางเลือก

ผ่านทางโซเชียลมีเดีย​ได้ที่

       


กองการแพทย์ทางเลือก
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
อาคาร 2 ชั้น 6 และชั้น 7 กระทรวงสาธารณสุข
ถนนติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ : 02 591 7007 ต่อ 2607
โทรสาร : 02 149 5637
อีเมล์ : Thaicam2019@gmail.com

5918452
This Month : 18839
Total Users : 1527965
Views Today : 4657
Server Time : 2024-09-19