โดย : คุณอรจิตต์ บำรุงสกุลสวัสดิ์
รองผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะผู้ร่วมอภิปราย :
ดร.พรทิพา พิชา : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
ดร.วัชราภรณ์ อภิวัฒชลางกูล : วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีชลบุรี
คุณจุไรรัตน์ เจริญพงษ์ : กลุ่มอาทรเพื่อนมะเร็ง
อาจารย์อรจิตต์ : 
สวัสดีท่านผู้เข้าชมงานทุกท่านนะคะ รวมทั้งอาจารย์ทางวิทยากร เช้านี้ก็จะเป็นการแนะนำเครือข่ายเพื่อนมะเร็งที่มาร่วมจัดงานวันนี้กับทางกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ท่านจะเห็นนิทรรศการของเพื่อนๆ สมาชิกจากกลุ่มต่างๆ ชมรมต่างๆ และ
ศูนย์มะเร็งจากจังหวัดต่างๆ เกือบทุกจังหวัดที่มาร่วมงาน ก็เป็นการแนะนำด้วยภาพ และเช้านี้บนเวทีนี้ ซึ่งเราจะมีเวลา 1 ชั่วโมงได้พูดถึงตัวเครือข่ายเพื่อนมะเร็งว่ามีใครบ้าง ทำอะไรกันอยู่บ้าง ก็ขออนุญาตเรียนเชิญท่านวิทยากรร่วมพูดคุยกับท่านบนเวที ท่านแรก ดร.พรทิพา พิชา จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ท่านที่สอง ดร.วัชราภรณ์ อภิวัฒชลางกูล จากศูนย์มะเร็งชลบุรี ท่านที่สาม พี่จุไรรัตน์ เจริญพงษ์ จากกลุ่มอาทรเพื่อนมะเร็ง ขอให้ทางท่านวิทยากรแต่ละท่านแนะนำตัวเองค่ะ เรียนเชิญ ดร.พรทิพา เป็นท่านแรกดร.พรทิพา : สวัสดีค่ะ วันนี้มาถึงที่นี้ตั้งแต่เจ็ดโมงครึ่ง เกรงว่าจะหาตึกไม่เจอ ก็เห็นห้องประชุมนี้เป็นห้องที่ใหญ่ที่สุด หมายถึงว่ามีเก้าอี้จัดไว้มากที่สุด ตั้งแต่ได้ร่วมกับกลุ่มอาทรมะเร็งหรือเครือข่ายมะเร็งมา ก็ดีใจที่มีความก้าวหน้าขึ้น ขอแนะนำตัวเองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานวันนี้เป็น 3 ส่วนก็คือ โดยหน้าที่ราชการก็เป็นนักวิจัยทางด้านสารบำบัดมะเร็งทางด้านสมุนไพร และก็เป็นหัวหน้าฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในส่วนของสมาคมโรคมะเร็งก็เป็นกรรมการสมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งก่อตั้งมาเกือบ 30 ปีแล้ว แล้วก็ในส่วนที่ได้รับเกียรติให้มาร่วมงานในกิจกรรมในวันนี้ ก็ได้ช่วยงานของกลุ่มนมะเร็ง ในเครือข่ายเพื่อนมะเร็งนี้ประมาณ 2 ปี แล้วค่ะ ตั้งแต่มีกิจกรรมไปร้องเพลงกันที่สวนลุมพินี มีกิจกรรมที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เมื่อวาเลนไทน์ ปีนี้ แล้วก็มีการบรรยายเกี่ยวกับดูแลสุขภาพ ก็ยินดีมากที่ได้เข้ามาร่วมงานในวันนี้ค่ะ ในส่วนแนะนำตัวขอแค่นี้ก่อนค่ะ

ดร.วัชราภรณ์ : 

นมัสการพระคุณเจ้า ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ดิฉัน วัชราภรณ์ อภิวัฒชลางกูล มาในนามของตัวแทนผู้ป่วยจากศูนย์มะเร็งชลบุรี โดยในหน้าที่การงานแล้วทำหน้าที่เป็นอาจารย์พยาบาล สอนอยู่ที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีชลบุรี ในตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ระดับ 8 แล้วก็ได้เข้ามาช่วยงานกับเครือข่ายเพื่อนมะเร็ง ในฐานะที่เป็นผู้ป่วยรายหนึ่ง แล้วประสบการณ์การเจ็บป่วยของตัวเองบวกกับทางด้านวิชาชีพนั้น จะช่วยให้เรื่องของโรคมะเร็งของเรานั้น อย่างน้อยถึงแม้ว่าคงไม่สามารถที่จะจัดการได้ทั้งหมดในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่เชื่อว่าประสบการณ์ตรงนี้ คงจะช่วยทำความเข้าใจระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการได้มากยิ่งขึ้น

คุณจุไรรัตน์ : 

สวัสดีค่ะ จุไรรัตน์ เจริญพงษ์ เป็นแม่บ้าน รีไทร์ตัวเองมา 20 ปี แล้ว เมื่อ 15 ปีที่แล้วก็มีโอกาสได้พบกับมะเร็งเต้านมของตัวเอง ก็เลยเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งค่อนข้างจะดี เพราะหลังจากที่ป่วยเป็นมะเร็งแล้ว ทำให้เรารู้สึกว่าจะต้องศึกษาว่าสาเหตุของการเป็นมะเร็งนี้มันมาจากอะไร แล้วเราจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อทำงานอันนี้ ดูแลตัวเองมาแล้ว ก็รู้สึกว่าโชคดีที่เราพบว่าเราเป็นมะเร็งขั้นต้น แล้วเริ่มตรวจรักษาติดตามโรคอย่างรวดเร็ว ทำให้เรามีโอกาสได้มานั่งถึงทุกวันนี้ ก็เป็นเวลาประมาณเกือบ 15 ปี แล้ว เพราะฉะนั้นก็อยากจะให้ทุกๆ คน ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องมะเร็ง ว่าถ้าเราตรวจพบในระยะต้นอย่างรวดเร็ว เรามีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ มีความสุขได้อีกต่อไป และเนื่องจากว่าเมื่อเราพบกับโรคมะเร็งมาแล้ว และเราก็มีความสุขแล้ว เราก็เลยอยากจะเผยแพร่ความสุขนี้ให้กับคนอื่นๆ ด้วย ก็เลยชวนน้องๆ ที่เคยมาปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเจ็บป่วย ตั้งเป็นกลุ่มอาทรเพื่อนมะเร็งขึ้น แรกๆ เราก็ดูแลกันในกลุ่มเล็กๆ แล้วต่อมาเราก็ได้จัดงานขึ้น แล้วก็ได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากอาจารย์หลายๆ ท่าน อย่างเช่น ดร.พรรณธิภา ก็ดูแลเป็นกำลังใจ และก็ให้การสนับสนุนกับกลุ่มอาทรเพื่อนมะเร็ง และก็มีอาจารย์อีกหลายท่านจากคณะพยาบาล จากสถาบันต่างๆ อย่างศิริราช หรือที่ไหนก็แล้วแต่ ก็ให้ความร่วมมือกับเราอย่างดีมากๆ เลย เรามีความอบอุ่นใจในฐานะผู้ป่วยค่ะ ขอกล่าวแค่นี้ค่ะ

อาจารย์อรจิตต์ : 

เราก็จะเข้าสู่การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันของกลุ่มเครือข่ายเพื่อนมะเร็ง ขอเรียนเชิญ ดร.วัชราภรร์ พูดก่อน ในส่วนของกิจกรรมที่ทำกับเพื่อนๆ หรือความรู้สึกอยากจะสะท้อนให้เห็น ในส่วนที่เราคลุกคลีกันมาแล้ว มีอะไรอยากจะบอกกล่าวกัน คนละประมาณ 10 นาทีนะค่ะ เรียนเชิญ ดร.วัชราภรณ์ค่ะ

ดร.วัชราภรณ์ : 

ขอบพระคุณค่ะ ในลักษณะเรื่องราวของตัวเอง ก็อยากจะเรียนว่าในชีวิตของคนเราจริงๆ แล้ว เราผ่านชีวิตร้อนหนาวมามากมายหลายสิ่งหลายอย่างเลยทีเดียว และก็เชื่อว่าในวันเวลาที่ผ่านไป แต่ละคนก็จะมีประสบการณ์ชีวิตก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นในวันนี้ก็อยากจะเรียนถึงประสบการณ์การเจ็บป่วยของตัวเอง การที่เป็นตัวตนขึ้นมาในทุกวันนี้ คนเรานี้มีประสบการณ์เยอะแยะมากมาย แต่ในวันนี้จะเล่าสู่กันฟังในลักษณะของสิ่งที่ตัวเองได้เจอในระยะเวลาที่สั้นๆ ตรงนี้ว่า ตัวเองนั้นโดยฐานะการงาน เป็นอาจารย์พยาบาล ก็ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องโรคมะเร็งอยู่แล้ว โดยพานักศึกษาฝึกงานในโรงพยาบาลขึ้นไปดูคนไข้ จนกระทั่งมาวันหนึ่งก็พบว่าคุณพ่อก็มีปัญหาในเรื่องของโรคมะเร็ง แล้วก็ได้มีโอกาสได้ดูแลท่านเพียง 3 เดือนเท่านั้น ท่านก็ได้เสียชีวิตลงหลังจากที่ท่านได้เสียชีวิตไปไม่นาน สิ่งเหล่านี้ก็เกิดกับตัวเองก็คือการเป็นผู้ป่วยมะเร็ง โดยที่วันหนึ่งเราก็พบว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น หาไปหามาเราก็พบว่า เรามีเพื่อนคนหนึ่งชื่อมะเร็งอย่างแน่นอน นับตั้งแต่วันนั้นเราก็มีการดูแลตัวเอง และวิชาชีพที่เราทำอยู่เสมอก็คืออาจารย์พยาบาลก็คงยังต้องทำอยู่ เพราะฉะนั้นทั้งในสามมิติตรงนี้ที่ตัวเองมายืนอยู่ ทั้งในฐานะตัวผู้ป่วยเอง ทั้งเป็นญาติผู้ป่วยและในฐานะเป็นผู้ให้บริการ เข้าใจว่าในเรื่องของความต้องการของผู้ป่วยมะเร็งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล เป็นญาติ หรือตัวผู้ป่วยเอง ก็คือต้องการหาย และมีชีวิตอยู่ในสังคมเท่าที่เราสามารถที่จะทำได้ ทีนี้เราจะทำได้อย่างไรในเมื้อเจอแล้วแน่นอนนะค่ะ หนีไปไหนก็หนีไม่พ้น สิ่งที่ตัวเองพยายามพูดถึงก็คือ การดูแล สิ่งที่มันเกิดขึ้นกับเราจะทำอย่างไร ก็เริ่มต้องการ ถามตัวเองว่ารับได้ไหม นี่คือเพื่อนเรานะ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นเพื่อนดูแลอย่างไรที่จะให้เพื่อนเราอยู่กับเราได้อย่างมีความสุขมากที่สุด เพราะฉะนั้นการดูแลตัวเองจึงได้เริ่มตันขึ้นทั้งในแง่ของการรักษา เริ่มจากการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน แล้วหันมาใช้ในเรื่องของแพทย์ทางเลือก หันมาดูแลในเรื่องของสุขภาพจิต หันมาดูแลในเรื่องของการออกกำลังกาย และหันมาดูแลสิ่งแวดล้อมรอบข้างหลายๆ อย่างเลยทีเดียว แต่เราจะดูแลตัวเองเพียงลำพัง คงไม่ได้โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เราอ่อนแอ เพราะฉะนั้นผู้ที่สำคัญอีกท่านหนึ่งที่จะต้องยืนเคียงข้าง แล้วก็ช่วยเหลือเกื้อกูล ประคับประคอง เมื่อเราไม่สามารถจะยืนด้วยตัวเองได้ นั่นก็คือญาติของเรานั่นเอง ญาตินั้นจะเป็นบุคคลที่สำคัญมากๆ ที่จะเป็นทั้งกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ เป็นที่พึงพิงเป็นหลังให้พึ่งพิงเวลาที่อ่อนล้า หรืออ่อนแรง เพราะฉะนั้น ญาติตรงนี้อาจจะเป็นคนใกล้ตัว หรือเป็นเพื่อนสนิทหรือใครก็ได้ ซึ่งเชื่อว่าผู้ป่วยมะเร็งทุกคนต้องการสิ่งนี้ ในยามที่เราเจ็บป่วยเรารู้เลยว่าโลกนี้บางทีมันไม่ได้น่าอยู่หรอก แต่ถ้าเราหันมาข้างๆ มีใครซักคนหนึ่งคอยอยู่เคียงข้าง แล้วส่งสายตาด้วยการให้กำลังใจ แล้วบอกกับเราว่าอยู่ได้นะ ในขณะที่เราก็บอก ตัวเราเองต้องอยู่ได้ ถ้ามีใครอีกคนหนึ่งช่วยยืนยันว่าเราอยู่ได้ เราก็จะมีความรู้สึกที่ดีมากขึ้นเลยค่ะ ในวันนี้ดิฉันก็มีเพื่อนที่ถือว่าเป็นกัลยาณมิตรมาหนึ่งท่าน แล้วคอยเป็นตัวประคองให้ดิฉันได้มีโอกาสเดินมาถึงทุกวันนี้ ใคร่ขอเรียนแนะนำ ดร.วัฒนา ผลแห่งสุข ซึ่งถือว่าเป็นกัลยาณมิตรที่สามารถช่วยประคับประคองได้จนถึงทุกวันนี้ นอกจากนั้น ส่วนสำคัญก็คือเรื่องของเครือข่าย ซึ่ง ณ วันนี้นี่คือบทบาทที่สำคัญของเครือข่าย ทำไมเราจึงจะต้องมีเครือข่ายขึ้นมา การเจ็บป่วยของคนหนึ่งคน มันไม่ได้มีปัญหาเฉพาะหนึ่งคน เราคงจะรู้ว่าคนที่เจ็บป่วย ระบบทุกระบบก็จะมีส่วนที่เกี่ยวข้องแล้วก็รวนกันไปหมด ปัญหาส่วนตัวเริ่มต้นที่ส่วนตัว แต่ในที่สุดก็กลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ซึ่ง ณ วันนี้ก็คงจะทราบว่ามะเร็งเป็นเรื่องของอัตราการตายเป็นอันดับหนึ่งเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นการมีเครือข่าย แล้วต่างฝ่ายต่างยื่นมือกันเข้ามาช่วยกันประคับประคองก็จะช่วยให้เราเดินไปข้างหน้าได้ แล้วก็ช่วยลดปัญหาต่างๆ อย่างเช่นตอนนี้ เรื่องของมะเร็ง สปสช. ก็ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยให้พวกเราที่ถือว่าเป็นกลุ่มผู้ป่วย มีที่พักพิงที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งที่นับเป็นแหล่งที่ให้ คำปรึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงานวิชาการหรืออะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นดิฉันจึงอยากจะใคร่เชิญชวนทุกท่านที่นั่งอยู่ ณ ตรงนี้ ท่านอาจจะเป็นเครือข่าย อาจจะเป็นเรื่องขององค์กร หรืออาจจะเป็นในรูปของบุคลากรก็ได้ เพราะไม่ว่าท่านจะมาในรูปแบบไหน ท่านก็คือกำลังใจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยนั้น สามารถที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ใคร่เรียนว่าในยามของผู้ป่วย อยากจะบอกกับทุกท่านว่า
“ขอฝากคำคำนี้แด่พี่น้อง เพื่อนทั้งผองชาวมะเร็งโปรดอย่าหวั่น
ลุกขึ้นสู้ด้วยดวงจิตคิดฝ่าฟัน สองมือมั่นสองขาก้าวอย่าร้าวราน
สร้างวันนี้และพรุ่งนี้ให้มีค่า เพิ่มราคาแก่ชีวิตอย่างกล้าหาญ
มะเร็งร้ายก็คล้ายเพื่อนอย่ารำคาญ อยู่ร่วมบ้านอย่างมีสุขทุกคลายเอย”
เข้มแข็ง อดทน ยื่นมือกันเข้ามา ช่วยกันจูงช่วยกันเดิน มะเร็งลดลงอย่างแน่นอน ขอบคุณค่ะ

อ.อรจิตต์ : 

นั่นก็เป็นสิ่งที่ ดร.วัชราภรณ์ สะท้อนได้จับใจ จากประสบการณ์และจากการอยู่กับเพื่อนมะเร็งด้วยอย่างมีความสุข และยืนยาว ชีวิตก็จะมีความสุขและยืนยาว ท่านต่อไป ก็จะมีประสบการณ์ในอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีๆ และน่าสนใจจากพี่จุไรรัตน์

คุณจุไรรัตน์ : 

ขอบคุณค่ะ ก่อนอื่นในนามของกลุ่มอาทรเพื่อนมะเร็งและก็เพื่อนเครือข่ายขอขอบคุณคณะแพทย์ พยาบาล และญาติพี่น้องทุกคนที่ช่วยเหลือให้กำลังใจ เรียกว่าเพื่อนช่วยเพื่อน ไม่ทอดทิ้งกันในยามเจ็บป่วย และก็ขอสนับสนุนที่ อ.วัชราภรณ์ ที่พูดว่าทุกสิ่งทุกอย่างได้ประสบการณ์มาเหมือนกัน และเราก็มีเพื่อนเยอะมากเลยในการที่จะให้กำลังใจ หลังจากที่ป่วยแล้ว นอกเหนือจากที่ลุกขึ้นมามีความเข้มแข็ง ก็ได้ศึกษาต่ออีกว่า มะเร็ง มันมาจากการที่เราไม่ดูแลสุขภาพของเรานะคะ เมื่อก่อนนี้เราไม่ค่อยที่จะระวังเลยว่าจะทานอะไร มีอะไรอร่อยเด็ดที่ไหนก็แล้วแต่ ต้องไปสรรหารับประทาน อันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่คิดว่าคงทำให้อาการที่เจ็บป่วยเกิดขึ้นมาได้ และเราก็ไม่ได้ดูแลสุขภาพ ไม่ได้ออกกำลังกาย ใช้ชีวิตอย่างสมบุกสมบัน โดยที่ว่าไม่เคยที่จะรักกายของเราเลย ไม่เคยจะมาดูแลเหลียวแลเลย เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกท่านตอนนี้ยังไม่เจ็บป่วย ขอให้ทุกคนมาดูแลสุขภาพของตัวเอง จะได้ไม่เจ็บป่วย และอีกอันหนึ่งที่อบอุ่นใจมากเลยนะคะ มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพขึ้นมา และก็กองการแพทย์ทางเลือก แพทย์สมุนไพร (กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก) ซึ่งเมื่อก่อนยอมรับว่าไม่เคยรู้จักเลยนะคะ เพิ่งมารู้จักเพียงไม่กี่เดือนนี้เอง เมื่อก่อนนี้เพื่อนชวนมา หรือว่าต้องมาประชุม หรือให้มาสนใจในเรื่อง 30 บาท รักษาทุกโรค หรือว่าประกันฯ ไม่สนใจเลย คิดว่าผิดหวังในการที่จะใช้บริการอันนี้ เพราะว่าเคยไปติดต่อ แล้วไม่ค่อยปลื้ม แต่เดี๋ยวนี้เข้าใจมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่าต่อไปนี้เราคงจะต้องมาศึกษาเรื่องนี้มากขึ้น ว่าเรามีสิทธิอะไรที่เราจะใช้งานได้ขอบคุณมากจริงๆ เราก็ดีใจที่ได้เห็นน้องๆ ได้เห็นทุกๆ คน เจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ได้ช่วยกันทำงาน ทุกครั้งที่ไปประชุมเห็นทุกคนตั้งใจทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณอรจิต น้องศิริลักษณ์ รู้สึกว่าไม่คร้านที่จะลุกขึ้นทำงาน ซึ่งตัวเองไม่ทำงานมา 20 ปี รู้สึกว่าละอายแก่ใจว่ากำลังเรายังมี ทำไมเราไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรบ้าง ก็เลยมาชวน น้องๆ ที่อยู่ในกลุ่มอาทรเพื่อนมะเร็งให้มาช่วยกันทำงานซักอย่างหนึ่ง หลังจากประชุมที่โรสการ์เด้นท์ เมื่อวันที่ 11-12 มิถุนายน 2547 ทำให้ได้รู้จักกลุ่มมะเร็งเครือข่ายต่างๆ ขึ้น แล้วก็เห็นทุกคนรักที่จะช่วยเหลือผู้ป่วย ทำให้รู้สึกปลื้มปีติ และก็มีกำลังใจที่จะลุกขึ้นมา เลยได้รับอาสากลุ่มอาทรเพื่อนมะเร็ง ก็ได้รับมอบหมาย ให้จัดโครงการอบรมอาสาสมัคร เพราะว่าในการประชุมครั้งนั้นเรามีมติว่าจะทำจุลสารเผยแพร่ความรู้ หรือว่าติดต่อกันระหว่างเครือข่ายมะเร็งต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ดร.จรพจง เพ็งจล และอาจารย์วันเพ็ญ บุญยสวัสดิ์ ที่คณะพยาบาลศาสตร์ สภากาชาดไทย ได้ช่วยเหลือในการร่างโครงการ ร่างกำหนดการ หลักสูตรอาสาสมัครเพื่อนมะเร็ง ควรจะมีความรู้อะไรบ้าง ที่จะออกไปช่วยเหลือเพื่อนฝูงในชุมชน ในที่ทำงาน หรือว่าในหมู่บ้าน หรือเพื่อนใกล้เคียง คนที่เขาสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง หรือสงสัยว่า สุขภาพผิดปกติ ควรจะไปตรวจรักษาที่ไหน หลักประกันสุขภาพที่ควรได้รับ จะต้องทำอย่างไร จะติดต่อที่ไหนอย่างไร เรามีอาสาสมัครที่จะเข้ามาเรียนรู้ในเรื่องนี้ ก็คงจะดีขึ้นในสังคม คิดว่าจะจัดการสัมมนาหาผู้ร่วมในการที่จะเป็นอาสาสมัครขึ้นครั้งแรก ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ อาคาร ภปร. ชั้น 18 ห้องประชุมใหญ่ ในวันที่ 16 กันยายน 2547 เวลา 12.00-14.00 น. โดยมีอาจารย์หลายท่านที่จะมาให้คำแนะนำว่าอาสาสมัครควรจะทำอะไรบ้าง เราควรจะได้รับการอบรม และมีความรู้ว่าอะไรบ้าง ที่เราจะได้ไปพูดกับเพื่อนของเราที่ป่วยอยู่ ว่าจะจัดการอย่างไรกับตัวเองให้ได้ระหว่างที่เจ็บป่วย จากประสบการณ์ที่เคยได้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยมะเร็งมาแล้ว กำลังใจสำคัญมากๆ เลย อย่างเช่นถ้าเขาท้อแท้ ไม่อยากจะรักษาตัวต่อไปแล้ว ถ้าเราเป็นเพื่อนเขาเราไปแนะนำเขาว่าให้สู้เถอะ ให้ทำอย่างไรกับตัวเองระหว่างเจ็บป่วย อาจจะไปเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องทำสมาธิ ยึดหลักว่า เราควรจะทำจิตของเราให้ว่างในการที่เราเจ็บป่วย เราต้องต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ ยังไงทุกคนก็ต้องตาย ไม่ว่าตายด้วยโรคอะไร โรคมะเร็งก็เป็นโรคหนึ่ง เราอาจจะไม่ตายจากโรคมะเร็งก็ได้ เราอาจจะไปถูกรถชนตายก็ได้ ฉะนั้นเมื่อเราเป็นอะไรแล้ว ควรตั้งใจ มีความอดทนในการที่จะรักษาพยาบาล ยิ้มสู้กับโรคภัยที่เข้ามาใกล้เรา เรื่องอาหารสำคัญที่สุดเลย พวกเราจะท้อถ้อยเวลาที่รับสารเคมี หรือว่ามีอาการเจ็บป่วย พวกเราไม่อยากรับประทานอาหาร ฉะนั้นขอให้เตรียมตัวเตรียมใจ ตั้งแต่ยังไม่ป่วยเลยว่าเราจะต้องเป็นคนที่ไม่เลือกอาหาร จะต้องทานอาหารที่ไม่มีรสจัด และไม่เป็นพิษภัยต่อร่างกายของเรา ต้องพยายามทานให้ได้ เพื่อที่จะได้ต่อสู้กับโรคได้ ถ้าเราไม่ทานอาหาร เราก็ไม่สามารถที่จะต่อสู้กับโรคได้ ตอนนี้มีเพื่อนที่กำลังเจ็บหนักอยู่ ตอนนี้เขาไม่สามารถจะรับยาได้ เพราะว่าเขาเป็นคนที่ทานอาหารยากมากๆ เลย อะไร ก็ทานไม่ได้ เลยไม่มีกำลังที่จะรับยา ฉะนั้นก็เป็นเทคนิคอีกข้อหนึ่งที่ต้องมาเรียนรู้ และมีเทคนิคว่าจะพูดยังไงให้เขามีกำลังใจ ฉะนั้นถ้าเรามีหลักสูตรนี้ขึ้นมา โดยที่ท่านผู้ทรงคุณวุฒิคนใดคนหนึ่งให้คำแนะนำกับพวกเราอาสาสมัคร เราจะได้ไปพูดกับเพื่อนๆ ของเราได้ถูกต้อง มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับสมุนไพร เวลามีใครมาถามว่าสมุนไพรใช้ยังไงดี เราจะได้ไม่รู้สึกว่ากังกลใจ ว่าถูกต้องหรือไม่ ดีหรือไม่ เพราะว่าเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว การรู้จักเรื่องสมุนไพรรักษามะเร็ง เป็นการที่ว่าเราห่วงใยและเรากลัวมากเลย ว่าจะใช้ได้หรือเปล่า มันจะสะอาดไหม มันจะทำให้เกิดผลข้างเคียงอะไรไหมกับการที่เราจะใช้สมุนไพร แต่ตอนนี้ต้องขอขอบคุณมากเลยนะคะสำหรับกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เราจะได้มีอะไรหลายๆ อย่าง ที่จะได้ให้เราได้ตัดสินใจนะ เพราะว่าบางครั้งบางคราว ถ้าเราจะใช้เคมีบำบัดอย่างเดียว หรือว่าเราจะฉายแสง เราบางคนก็กลัว แล้วเราก็ไม่รู้จะรักษาอย่างไรดี อันนี้ก็เป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่งที่รู้สึกว่าดีใจมากที่ได้รับการสนับสนุน ตอนนี้ต้องขอขอบคุณมากๆ เลย อย่าลืมนะค่ะ ว่าใครที่สนใจอยากจะช่วยกันเป็นอาสาสมัครให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย ช่วยลงชื่อที่เจ้าหน้าที่ของ สปสช. หรือที่กลุ่มอาทรเพื่อนมะเร็ง ขอบคุณมากค่ะ

อาจารย์อรจิตต์ : 

จริงๆ ดิฉันก็ได้เรียนรู้จากทางพี่ๆ และเพื่อนในเครือข่าย ในสิ่งที่เขาทำ อย่างเช่น กลุ่มอาทรเพื่อนมะเร็ง ที่ตั้งกลุ่มเมื่อปีที่แล้ว และก็ทาง สปสช. เองก็อยากจะประสานกับทางผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทั้งที่ได้ใช้บริการหลักประกันสุขภาพ และไม่ได้ใช้ เพื่อจะให้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับฟังประเด็นปัญหา ข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนาระบบของหลักประกันสุขภาพ ซึ่งก็เป็นโอกาสแรกที่เรารู้จักกัน ซึ่งจากสิ่งที่ได้พูดคุยและพบปะกันเกือบทุกเดือน ก็ต้องเรียนว่ารู้สึกรักและผูกพันกัน แบบกัลยาณมิตรจริงๆ และยังเราได้ไปสัมมนากันครั้งหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายน โดยอาจารย์ รศ.นพ.ประเวศ วะสี มากล่าวนำให้ด้วย ดิฉันก็รู้สึกว่าเครือข่ายกัลยาณมิตร เป็นโอสถขนานแท้เลย ที่ช่วยรักษาโรคมะเร็ง และก็รวมทั้งโรคอื่นๆ ให้หายไปได้ ท่านถัดไปคือ ดร.พรทิพา ท่านจะมาพูดถึงสิ่งที่เราร่วมงาน รวมทั้งสะท้อนให้เห็นภาพของในเนื้องานตรงนี้นะคะ ซึ่งทางดร.พรทิพา ก็อยู่ในส่วนหน่วยบริการด้วยก็คงจะพูดให้เห็นความร่วมมือ หรือการช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ชัดเจนขึ้น เรียนเชิญค่ะ

ดร.พรทิพา : 

ขอบคุณค่ะ ก่อนอื่นคงต้องขอบคุณ สปสช. และกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่ทำให้เกิดงานวันนี้ เดี๋ยวนี้เราจะได้ยินคำว่า “บูรณาการ” บ่อยๆ ใช่ไหมคะ วันนี้ก็เหมือนกันเป็นกิจกรรมบูรณาการ ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตัวผู้ป่วย และผู้ดูแลผู้ป่วยด้วย ในส่วนเกี่ยวกับวิชาชีพที่ทำเราคงไม่ต้องพูด คงมาในลักษณะการช่วยประชาสัมพันธ์ ว่ากิจกรรมในวันนี้ที่ท่านได้เสียสละเวลามาตั้งแต่เช้า ท่านจะมามีส่วนร่วมได้อย่างไร ท่านจะได้ประโยชน์ตรงนี้อย่างไร หรือท่านใดที่มีอะไรที่เป็นทรัพยากรที่ท่านสามารถจะช่วยทางเราได้ ท่านจะช่วยได้อย่างไร ต้องเรียนว่ากิจกรรมในวันนี้ถ้ามองออกมาเป็นภาพ 3 เหลี่ยม 3 เหลี่ยม แห่งความร่วมมือ มี สปสช.อยู่ตรงกลาง มีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกช่วยประสานอยู่ตรงกลาง มุมของสามเหลี่ยมนั้นก็จะประกอบด้วยในส่วนของโรงพยาบาลของรัฐบาล ซึ่งตัวเองมาจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ มีศูนย์มะเร็ง มีโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาฯ เหล่านี้ถือว่าเป็นส่วนของโรงพยาบาลรัฐบาล นอกจากนั้นในส่วนของโรงพยาบาลทางภาคเอกชน หรือโรงพยาบาลเอกชนก็มี แล้วก็อีกมุมหนึ่งของสามเหลี่ยมนั้นก็คือ ภาคประชาชน ในส่วนของประชาชนก็จะมีส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วย อีกส่วนหนึ่งเป็นอาสาสมัคร หรือผู้ดูแลผู้ป่วย เป็นทั้ง Care giver และ Care taker คือเป็นผู้รับบริการ และผู้ให้บริการในส่วนของประชาชน คิดว่าสามเหลี่ยมแห่งกัลยาณมิตรนี้ คงจะขยายขนาดและคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ นะคะ เนื่องจากหลายๆ ท่านคงยังเดินดูที่บูธไม่ครบ อยากจะเรียนว่าในบูรในวันนี้มีกิจกรรมถึงประมาณ 17-18 บูธ ขออนุญาตเสียเวลาตรงนี้นิดหนึ่ง เพื่อให้ท่านไม่พลาด ก็จะมีตั้งแต่ชมรมฟื้นฟูสุขภาพ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง Siamcancel.com ชมรมฟื้นฟูชีวิตใหม่รามาธิบดี กลุ่มจุฬาเอื้ออาทร กลุ่มอาทรเพื่อนมะเร็ง ซึ่งตรงนี้เป็นจุดประกายที่ทำให้เกิดการประสานกับ สปสช. แล้วทำให้เครือข่ายเล็กๆ กลายมาเป็นเครือข่ายใหญ่ขึ้นมา ตัวเองก็ได้เริ่มเข้ามาช่วยตั้งแต่กลุ่มอาทรเพื่อนมะเร็งเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว มีชมรมก่อนผีเสื้อ คือโครงการไขกระดูกปลูกชีวิต แล้วก็กลุ่มอาทรเพื่อนมะเร็งศิริราช ในส่วนของสถาบันมะเร็งและศูนย์มะเร็งนั้นเรามีอยู่ทั้ง 8 โรงพยาบาล มีสถาบันมะเร็งแห่งชาติที่กรุงเทพฯ และมีศูนย์มะเร็งอีก 7 จังหวัด ตั้งแต่ชลบุรี ลพบุรี อุบลราชธานี อุดรธานี ลำปาง สุราษฎร์ธานี และก็ศูนย์มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี รวมทั้งสิ้น 8 ศูนย์ ซึ่งมีผู้ป่วยวันละประมาณ 1,000 เตียง นึกภาพดูนะคะ เรามีผู้ป่วยมากมาย และก็มีสถาบันมะเร็งแห่งชาติที่กล่าวไปแล้ว มีสมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งมีกิจกรรมช่วยเหลือทางด้านการวิจัยโรคมะเร็ง ทางด้านกิจกรรมให้ผู้ป่วยมะเร็ง คลินิกเคลื่อนที่ไปตรวจร่างกายต่างๆ มีชมรมผู้ไร้กล่องเสียงรามาธิบดี ถ้าท่านได้รับฟังแล้วขอให้ท่านไปเยี่ยมชม ทุกบูธจะมีกิจกรรมที่น่าสนใจทั้งสิ้นเลยค่ะ วันนี้เป็นกิจกรรมที่เราจัดเครือข่ายมะเร็งในประเทศไทย แต่อยากจะเรียนว่าเมื่อ 6-7 ปีที่แล้วที่อเมริกา บางท่านคงจะทราบว่าจะมีเครือข่ายมะเร็ง ที่เขาเรียกว่า “กิวดาร์คลับ” ก็มีกิจกรรมเหล่านี้อยู่หลายรัฐไปทั้งแคนนาดา ทั้งอเมริกาด้วย ก็เป็นกิจกรรมเพื่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง มีกิจกรรมต่างๆ มีการจัดสัมมนาอย่างวันนี้ มีการบรรยายเหมือนที่เราเคยจัดบรรยายตามโรงแรมต่างๆ ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ก็มี แล้วก็มีกิจกรรมเพื่อสุขภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย หลายท่านคงได้ร่วมกิจกรรมเหล่านั้น มีการทำอะไรต่างๆ ผลิตผลจากผู้ป่วยมะเร็งก็อยู่ในบูธ เดี๋ยวท่านจะได้รับชม เนื่องจากเวลามีจำกัด อยากจะเรียนว่าในส่วนความเชื่อของตัวเอง มีอะไรหลายๆ อย่างที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็ง แต่มีอยู่ 2 ส่วน ที่คิดว่าช่วยได้จริงๆ นะคะ บางท่านคงเคยได้ยินเพลงฝรั่งอยู่ 2 เพลง เพลงแรก คือ เพลง I believe in love อีกเพลงหนึ่ง คือ เพลง I believe in music ตัวเองก็เชื่ออย่างนี้ค่ะ ถ้าวันนี้เรามานี่ เพราะเรามีความรัก มีกัลยาณมิตรต่อกัน คนที่มีก็จะมาให้คนที่ขาด คนที่ขาดก็เข้ามาเสนอตัวขึ้นมา เพื่อให้คนเขาทราบว่าเราต้องการอะไร เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ถ้าไม่มีความรักกันและกัน จะไม่เกิดกิจกรรมอย่างนี้ และไม่เกิดกิจกรรมอย่างนี้ขยายต่อไป หลายท่านคงดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ และก็ฟังวิทยุ คงทราบว่าในหลายภาคพื้นของโลกนี้ขาดความรัก ขาดความรักก็เลยมีการฆ่ารันฟันแทงกันหลายๆ แห่ง แต่ในส่วนของผู้ป่วยมะเร็ง ดิฉันมีความเชื่อมั่นและก็มั่นใจว่า ตั้งแต่วันนี้ไป จากความรักที่พวกเรากลุ่มอาทรเครือข่ายมะเร็งที่เตรียมไว้ให้กับท่าน (หมายถึงผู้ป่วยมะเร็ง) คงจะไปสานต่อให้เป็นพลังเข้มแข็งในจิตใจ ทั้งร่างกายและจิตใจ ให้คุณภาพชีวิตของท่านดีขึ้น อีกส่วนหนึ่งเมื่อกี้ที่ว่า “ I believe in music” หลายท่านคงยังไม่เชื่อว่าพลังแห่งดนตรี พลังแห่งเสียงเพลงนั้นช่วยคุณภาพชีวิตได้อย่างไร ความจริงตรงนี้ตัวเองก็ได้พิสูจน์ ว่าการที่เราได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับดนตรีเหล่านี้ ถ้าทางนั้นเรียกว่าดนตรีบำบัด Music therapy เราก็เคยมีกิจกรรมที่โรงพยาบาลจุฬาฯบ้าง ที่สวนลุมพินีบ้าง เหล่านี้ ดนตรีช่วยได้อย่าละเลยนะคะ เพราะฉะนั้นคิดว่ากิจกรรมที่พี่จุไรรัตน์ได้พูดไป ก็จะมีหลายๆ อย่างรวมทั้งดนตรีด้วย ความรัก ความเผื่อแผ่ อาทรให้แก่กัน เมื่อสัปดาห์นี้ สัปดาห์แรกของเดือนกันยายนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตอนที่ตัวเองเดินเข้ามาทำงานที่สถาบันมะเร็งก็ยังมองไม่เห็นเลยว่าชีวิตที่เรียนมาหลังจบมหิดล ว่าจะช่วยอะไรต่อสังคมได้อย่างไรแต่พอ 30 ปีผ่านไป ก็สัปดาห์ที่ 1 ของเดือนกันยายน คือวันนี้ โดยที่มีสปสช. มีเครือข่ายมะเร็งเข้ามาก็คิดว่าตัวเองก็คงจะเข้ามาร่วมในกิจกรรมเหล่านี้คงจะช่วยให้ชีวิตมีความหมายมากขึ้น ทั้งของตัวเองและของผู้ที่อยู่รอบข้าง แต่เมื่อสักครู่ อาจารย์วัชราภรณ์ ได้กล่าวถึงคำกลอนไว้บ้างแล้ว จะขอมีกลอนของตัวเองด้วย ขออนุญาตจบด้วยตรงนี้นะค่ะ
“เออ…ข้ากัญญามาเสวนาอาสาสมัคร รวมเพื่อนพักรักเครือข่าย ด้วยใจฝัน
พาเพื่อรอดปลอดมะเร็งที่เกรงกัน หวังวันนั้นเพื่อนเป็นสุข ปราศทุกข์ทน
สปสช. รอวันนี้มิใช่หรือ วันที่ชื่อวันรวมพลคนสานฝัน
สถาบันศูนย์กลุ่มชมรมสมาคมก็มากัน จัดบูธนั้นออกร้านนี้ ดีน่า…ยล
ก่อนจากกันเราสัญญาว่าจะช่วย จะอำนวยจนเครือข่ายขยายผล
เป็นที่พึ่งผู้ป่วยได้ยามใจจน เป็นดังฝนโปรยชื่น ชื่นใจ…เอย”
ขอบคุณค่ะ

อาจารย์อรจิตต์ : 

ดิฉันจะขอสรุปแล้วก็พูดถึงเครือข่ายเพื่อนมะเร็งที่เราได้ร่วมกิจกรรมกันมา โดยจะฉายด้วยสไลด์ เครือข่ายมะเร็งก็เริ่มกันมาตั้งแต่เดือนประมาณพฤศจิกายนปีที่แล้ว ก็มีการพูดคุยหารือกันมาตลอด ซึ่งเราได้จัดการสัมมนาครั้งสุดท้ายที่ไปร่วมงานกันอย่างสนุกสนาน และก็มีความสุขกันมากเลย ชมรมต่างๆ มาร่วมกันเมื่อวันที่ 11-12 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่โรงแรมโรสการ์เด้นท์ รีสอร์ท จังหวัดนครปฐม ซึ่งเราก็มีอาจารย์คุณหมอประเวศมากล่าวนำด้วย เครือข่ายเพื่อนมะเร็งก็คือการรวมตัวของกลุ่มผู้ป่วย ผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็ง ตัวแทนวิชาชีพ หน่วยงานและองค์กรต่างๆ อย่างที่ทาง ดร.พรทิพา แนะนำนะคะ วันนี้เราก็มีทั้งกลุ่ม ชมรม ศูนย์โรคมะเร็งเกือบทุกจังหวัด มาเกือบ 20 กลุ่มและองค์กร ตามที่เห็นนิทรรศการที่แสดงกันอยู่รอบๆ ห้อง ซึ่งจุดประสงค์หลักก็คือเพื่อเสริมสร้างกำลังใจซึ่งกันและกัน แล้วก็ประสานความรู้ รักสามัคคีในหมู่ผู้ป่วย ผู้ที่ทำงาน และเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกัน และนำไปสู่ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลป้องกันและรักษาโรคมะเร็ง ต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพต่อไปด้วย ซึ่งจากการพูดคุยก็เป็นการเชื่อมร้อยถักทอและแบ่งปันกันระหว่างหน่วยบริการ ซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายนี้ จะมีทั้งสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย ศูนย์ควบคุมและบำบัดโรคมะเร็ง มีวิทยาลัย และสภากาชาดไทย โรงพยาบาลรามาธิบดี และหน่วยงานอื่นๆ องค์กรอื่นๆ และทางขวามือก็คือผู้รับริการ เช่น กลุ่มอาทรเพื่อนมะเร็ง ชมรมฟื้นฟูชีวิตใหม่ที่รามาธิบดี อันนี้เป็นกลุ่มมะเร็งเต้านม ชมรมผู้ไร้กล่องเสียง เราก็มีนิทรรศการแสดงอยู่ ร้องเพลงเพราะมากด้วย ใครจะรู้ว่าผู้ไร้กล่องเสียงก็ร้องเพลงเพราะนะคะ แล้วก็มีชมรมออสโรเมท ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ siamcancel.com ชมรมผู้ปลูกถ่ายไขกระดูก มีนิทรรศการแสดงให้เห็นอยู่ข้างหน้า และก็ยังมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการต่างๆ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งตรงนี้เราก็มีทั้งสำนักงานสาขาจังหวัดและภาค ที่นี้ในเครือข่ายเพื่อนมะเร็งเองก็ได้แนะนำและพูดถึงไปบ้างแล้วนะค่ะ ทางกลุ่มอาทรเพื่อนมะเร็ง พี่จุไรรัตน์ก็อยู่ทางกลุ่มนี้ เราก็ยังมีคุณอุษา ศศิวงษ์ภักดี ซึ่งตอนนี้ไป ต่างประเทศ ก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง สัญลักษณ์ของกลุ่มของกลุ่มนี้คือ “ดอกกระเจียว” ซึ่งเขาก็ได้ไปชมทุ่งดอกกระเจียวมาเมื่อ 2 เดือนก่อน ใครจะรู้ว่าชมรมนี้ใหญ่แค่ไหนทราบไหมคะ เขาก็เหมารถตู้ รถ 5 โบกี้รถไฟไปเที่ยวกัน เราไม่อยากจะเชื่อว่าเราไปกันได้ขนาดนี้ กลุ่มจุฬาเอื้ออาทรก็เป็นน้องใหม่ ก็มีนิทรรศการแสดงอยู่ตรงนี้ มีทางมูลนิธิของขวัญแห่งชาติ และชมรมปลูกถ่ายไขกระดูกที่โรงพยาบาลจุฬาฯ วันนี้คุณฐณัชก็เพิ่งจะมาจากต่างประเทศและก็เหนื่อยมากไม่สะดวกมากัน ตรงนี้เราก็มีทางภรรยาคุณฐณัช ยนตรักษ์ คุณพอล วงเดือน ก็อยู่ทางมูลนิธิ ที่ช่วยให้กำลังใจและก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอด มีชมรมฟื้นฟูชีวิตใหม่รามาธิบดีเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม กลุ่มนี้ก็จะมีสมาชิกอยู่ เห็นว่ากลุ่มนี้เขาสนุกสนานมากๆ ค่ะ เขาจะมีดนตรีในหัวใจ ไปที่ไหนก็จะร้องเพลงตลอดเลย ชมรมไร้กล่องเสียงรามาธิบดี กลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มที่เขามีกิจกรรม และก็มีการฝึกพูด มีทางวิทยากรซึ่งท่านฝึกพูดมาแล้วก็มาสอนฝึกพูดให้กับผู้ป่วยที่พึ่งผ่าตัด ก็จะมีทางอาจารย์อรุณี เป็นที่ปรึกษาอยู่ ท่านก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงแข็งขัน วันนี้วันงานเขาก็ร้อง siamcancel.com เขาก็ทำ website ให้กับทางกลุ่มเครือข่ายเพื่อนมะเร็ง และก็มีข้อมูลความรู้วิชาการ เกี่ยวกับมะเร็ง อันนี้เขาออกรายการวิทยุชุมชนด้วย มีชมรมก่อนผีเสื้อ ซึ่งเป็นชมรมใหม่ บูธอยู่ใกล้ๆ ชมรมผู้ไร้กล่องเสียง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ หลายท่านก็คงรู้จักกันแล้ว ศูนย์วชิราลงกรณ ธัญบุรี สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ทางคุณหมอธนเดชเองก็ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับทางเครือข่ายอยู่ แล้วเราก็เพิ่งไปเยี่ยมชมเมื่อเดือนที่แล้วที่ศูนย์มหาวชิราลงกรณ ก็ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนก็ได้ความรู้มาพอสมควร ทางศูนย์โรคมะเร็งจังหวัดชลบุรี ก็มีทางพี่เกสรที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงแข็งขัน ทาง ผอ.กิติศักดิ์ เอง ก็ให้ความสนใจแล้วก็มาร่วมงาน ถึงแม้ว่าผู้อำนวยการมาไม่ได้ก็จะมีทางทีมงานมา วันนี้เราก็มีทางผู้ป่วย คือคุณมาลินี ซึ่งวันนั้นได้พูดมาสะท้อนความรู้สึกให้ดิฉันฟังแล้วยังรู้สึกสะท้อนใจ พี่เขาอยู่ในระยะสุดท้าย ก็ได้มาพูดถึงสิ่งที่เขาต่อสู้กับชีวิต แล้วก็ปวารณาตัวว่ายินดีจะเสียสละเพื่อสังคมและก็มาแลกเปลี่ยนความรู้ให้ ในวันนี้พี่มาลิณีเองวันนั้นได้สะท้อนให้เห็นประสบการณ์ในการที่เป็นผู้ป่วย แล้วก็ต่อสู้กับโรคนี้แบบเป็นเพื่อนกัน ทำให้เราก็จะได้ความรู้มากสำหรับสิ่งที่ได้ทำและต่อสู้กับโรคมะเร็งมา ศูนย์โรคมะเร็งจังหวัดลพบุรีกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มแข็งขัน มีพี่นิตยา ก็จะมีการแสดงให้เห็นในสิ่งที่ผู้ป่วยเองได้ประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้มา ถ้ายินดีจะช่วยเหลือก็ซื้อไปได้นะค่ะ รายได้ก็เข้าศูนย์กลุ่มและก็ยังมีอาหารด้วย ไก่สามอย่าง ท่านไปลองชิมได้ ศูนย์มะเร็งที่อุบลราชธานี วันนี้ผู้อำนวยการก็มาเอง ศูนย์โรคมะเร็งอุบลก็เป็นอีกศูนย์หนึ่งที่มาร่วมมือกันอย่างแข็งขัน มีศูนย์โรคมะเร็งจังหวัดลำปางด้วย วันนี้ก็มาอยู่ด้วยแล้ว วันนี้ก็ได้พูดคุยกันว่ากิจกรรมที่เราทำก็ค่อนข้างจะมีกิจกรรมมากมายร่วมกับผู้ป่วย ก็ยังมีศูนย์ที่สุราษฎร์ธานีวันนี้ก็มาด้วย ก็ได้เข้ามาร่วมพูดคุยกันอยู่ มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย หมายถึงว่าที่ตัวเองอยู่ก็มีจุดมุ่งหมายว่า เราอยากจะช่วยกันสนับสนุน แล้วก็ให้เกิดกิจกรรมที่เชื่อมร้อยเครือข่ายกันด้วย ตรงนี้ก็เพื่อหวังผลว่าในที่สุดแล้ว การช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างรักสมัครสมานสามัคคีอย่างเป็นกัลยาณมิตรก็จะเป็นโอสถขนานแท้ สมดังที่อาจารย์คุณหมอประเวศก็ได้พูดถึงว่า กัลยาณมิตร ก็คือโอสถ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือสิ่งที่จะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ แล้วก็เกิดความรู้สึกว่าอยากจะช่วยเหลือเพื่อนด้วย ก็เป็นสิ่งที่เราเห็นเกิดผลขึ้น ก็มีกิจกรรมที่เขาดำเนินการกันมา คุยเสริมกำลังใจกัน เยี่ยมเยือนศึกษาดูงาน จัดประชุมวิชาการ จัดสัมมนาแลกเปลี่ยน ซึ่งจาการสัมมนาครั้งนั้นสิ่งที่ได้แน่ๆ คือได้เพื่อนมากขึ้น ได้ใจมากขึ้น และก็เกิดกำลังใจ และก็ยังได้ข้อมูลความรู้วิชาการที่จะเอาไปทำกิจกรรมกัน เขาก็มาร่วมกันด้วย ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพจัดเมื่อวันที่ 7-8 กรกฎาคม 2547 และเราก็จะจัดงานอีกครั้งหนึ่ง คืองานมหกรรมคนรักหลักประกันสุขภาพ ในวันที่ 25-26 มกราคม ต่อไปนี้นะค่ะ ก็คงเห็นการรวมพลังกัน ขออนุญาตพูดถึง อันนี้คัดความมาจากที่ทางอาจารย์ หมอประเวศพูดในวันนั้น ที่งานเครือข่ายเพื่อนมะเร็ง อาจารย์ได้พูดถึงในส่วนคัดข้อความมาอันหนึ่งว่า “มะเร็งมันเกิดขึ้นในตัวเราทุกวันทุกคน เซลมะเร็งมันเกิดขึ้นแต่ไม่เป็นมะเร็ง เพราะภูมิคุ้มกันมันดูแลอยู่ ฉะนั้นคนที่เป็นมะเร็งแล้วเครียดก็จะยิ่งเป็นหนัก แต่ถ้าเป็นมะเร็งแล้วไม่เครียดจิตใจสงบ ภูมิคุ้มกันจึงสูงก็จะไปทำลายเซลมะเร็ง” แล้วก็บอกว่า “การที่เรามาเชื่อมโยงกัน มีกลุ่มอาทรเพื่อนมะเร็ง มีเพื่อนช่วยเพื่อน คนไข้ช่วยคนไข้ แม้แต่คนที่กำลังเป็นก็ช่วยคนอื่นได้ ส่วนคนที่หายแล้วก็ช่วยคนอื่นต่อ การช่วยกันอย่างมากมายเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่แต่เรื่องสุขภาพ แล้วก็การที่เป็นเพื่อนกันเอาหัวใจของความเป็นมนุษย์เข้ามาร่วมกันจนเป็นความผูกพันเช่นกัน” ฉะนั้นเครือข่ายที่เรามาคุยกันตรงนี้อาศัยความเป็นเพื่อนกัน เอาความเป็นมนุษย์มาเชื่อมโยงกัน ก็ทำให้เกิดพลังการเยียวยาที่ยิ่งใหญ่มาก สิ่งนี้ก็จะเป็นพลังของการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่และน่าจะเป็นทิศทางของการพัฒนาที่แท้ คือทิศทางการพัฒนาของ “มัชฌิมา ปติปทา” เป็นการพัฒนาด้วยความดีและปัญญา ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเพื่อให้เกิดสังคมที่เจริญ หรือที่เรียกว่าสังคม “อริยะ” เกิดเป็นอริยสังคม เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข สันติสุขโดยทั่วกัน วันนั้นที่เราสัมมนา คุณหมอสงวน ท่านเลขาธิการสำนักหลักประกันสุขภาพ ก็ได้พูดถึงจุดแข็งของเครือข่ายเพื่อนมะเร็ง ว่าทำให้สังคมได้รับรู้ตระหนักถึงความสัมพันธ์ที่เชี่ยมโยงกันของจิตวิญญาณที่เข้มแข็ง มีกิจกรรมรวมตัวกันก็จะเป็นตัวอย่างที่ดี ทำให้สังคมเปลี่ยนการรับรู้ว่าเป็นผู้ป่วยมะเร็งก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข และก็มีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในสังคมได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งก็ควรมีการรวมกลุ่มกัน สปสช. ก็ยินดีให้การสนับสนุนกิจกรรมและก็ในเรื่องมาตรฐานการให้บริการก็ควรจะได้รับสิทธิที่ครอบคลุมเป็นธรรม และสะดวกในการเข้าถึงและก็เห็นด้วยกับข้อเสนอ เชิญให้เข้ามาร่วมกัน และก็จะมีเรื่องการทำเทปหลังจากนี้ไป เขาก็ทำเทปค่ะ เราก็ได้นักร้องหนึ่งท่านที่เสียงเพราะมาก ยังมีการทำหนังสือ ซีดี มีกรณีศึกษา ซึ่งวันนั้นเรามีผู้ป่วยอย่างที่เมื่อกี้ได้พูดถึง เราก็อัดเทปแล้วก็จะพิมพ์เป็นกรณีศึกษาแจกจ่ายในงานต่อไป กำลังทำจุลสาร ดร.วัชราภรณ์ ดร.วัฒนา ที่จะทำจุลสารต่อไป เราคุยกันว่าเราจะตั้งวงดนตรีของเครือข่าย “CA Band” แล้วก็จะทำเทปเพลงด้วย แล้วก็จะเพิ่มการรณรงค์ให้มีอาสาสมัครเพื่อการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยในสังคมมากขึ้น ซึ่งก็ทางตรงนี้ก็จะมีพี่จุไรรัตน์ช่วยดูแลอยู่ ที่ประกาศไปแล้วในวันที่ 26 กันยายนฯ ที่เราจะเริ่มเปิดตัว และท่านที่สนใจสามารถเป็นอาสาสมัครลงทะเบียนที่โต๊ะด้านหน้าได้เลยค่ะ ก็ขอขอบคุณภาคี เครือข่ายเพื่อนมะเร็งทุกท่าน ที่อนุญาตให้นำภาพมาเผยแพร่ ก็เป็นภาพดีๆ ทั้งนั้นเลย และผู้สนับสนุนทุกท่านที่ให้เกิดความเชี่ยมร้อย และก็เชิญร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยผู้ป่วยในสังคม เชื่อมร้อยกิจกรรมและเสริมสร้างกำลังใจ ขอขอบพระคุณมากค่ะ

สร้างเมื่อ 01 – มี.ค.- 48

โมบายแอปพลิเคชัน

 

กรมการแพทย์แผนไทยฯ


สามารถติดต่อเราผ่าน Line

 

ได้แล้ววันนี้

ติดตาม กองการแพทย์ทางเลือก

ผ่านทางโซเชียลมีเดีย​ได้ที่

       


กองการแพทย์ทางเลือก
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
อาคาร 2 ชั้น 6 และชั้น 7 กระทรวงสาธารณสุข
ถนนติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ : 02 591 7007 ต่อ 2607
โทรสาร : 02 149 5637
อีเมล์ : Thaicam2019@gmail.com

5918683
This Month : 19070
Total Users : 1528196
Views Today : 7556
Server Time : 2024-09-19