ผลิตภัณฑ์ยา : เส้นทางใหม่ของไหมไทย

เมื่อกล่าวถึง “ไหม” หลายคนคงนึกถึงผ้าแพรพรรณหลากหลายสีสันที่มีอยู่ตามท้องตลาด แต่ด้วยความสนใจของนักวิจัยกลุ่มหนึ่งที่พยายามผลักดันในการเพิ่มคุณค่าของไหม จึงก่อให้เกิดงานวิจัยที่มีประโยชน์มหาศาลต่อวงการแพทย์ อันจะเป็นแนวทางในการพัฒนาไหมไทยในมิติใหม่ต่อไปในอนาคต

 ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่า และสร้างความหลากหลายของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจากธรรมชาติอันเป็นสมบัติดั้งเดิมของชาติ อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงไหมอีกด้วย

ผศ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของโปรตีนชนิดต่างๆ ที่ใช้ทางการแพทย์ในการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกจากประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดินทางกลับมารับราชการ ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อดีตคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) และผู้ก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมไหม มมส.ในขณะนั้น ได้แนะนำให้เห็นประโยชน์ของโปรตีนไหม ซึ่งนับเป็นการจุดประกายให้เกิดแก่กลุ่มนักวิจัยซึ่งประกอบด้วย ผศ.ดร.พรอนงค์, ดร.ดวงกมล วิรุฬห์อุดมผล จากสถาบันมาตรวิทยา และ อาจารย์อารีพร สังฆกุล นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

โครงการวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโดยทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

กล่าวโดยสังเขป โปรตีนไหมมี 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เห็นเป็นปุยคลุมอยู่รอบรังไหม ส่วนนี้สามารถล้างออกได้ด้วยน้ำร้อน และในการสาวไหมจะต้องทำการล้างออกไปเสียก่อน เพื่อให้ไหมสาวได้ง่าย และย้อมสีติดได้ดี ส่วนนี้บางทีเรียกว่า “กาวไหม” มีโครงสร้างทางเคมีเป็นโปรตีนบริสุทธิ์ มีชื่อว่าคือ sericin และส่วนที่สอง คือที่เป็นเปลือกชั้นในของรังไหม ที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มตัวไหม และเป็นส่วนที่เรานำมาสาวเป็นเส้นไหม ส่วนนี้ก็มีโครงสร้างเป็นโปรตีนบริสุทธ์อีกชนิดหนึ่ง มีชื่อว่า fibroin

แต่เดิมในกระบวนการผลิตเส้นไหมโปรตีน ส่วนกาวไหมจัดเป็นส่วนเกินที่ต้องขจัดทิ้ง (waste product) โดยในการสาวไหมต้องนำรังไหมไปต้ม เมื่อถูกความร้อนโปรตีนกาวไหมนี้จะถูกชะล้างออก และถูกทิ้งไป ในหลายประเทศได้มีการศึกษาคุณสมบัติของโปรตีนไหมทั้งสองส่วนพบว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมายเช่น ใช้เป็นยารักษาโรค เป็นยาสมานแผล โดยเฉพาะในแผลเรื้อรังที่รักษายาก เช่น แผลไฟไหม้ เป็นวัสดุสำหรับทำคอนแทคเลนส์ที่พบว่าทำให้เกิดอาการแพ้น้อยกว่าวัสดุสังเคราะห์ เป็นอาหารเสริม หรือนำมาเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางก็ได้

เนื่องจากโปรตีนไหมเมื่อนำมาย่อย ก็จะประกอบด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายเป็นจำนวนมาก จึงสามารถผลิตกรดอะมิโนที่ให้มีขนาดโมเลกุลต่างๆ กันตามกรรมวิธี เพื่อให้เหมาะสมสำหรับการนำมาประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติในการดึงดูดน้ำได้ดี เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง และสามารถเข้ากันกับระบบชีวภาพของมนุษย์ (biocompatible) ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาผลของโปรตีนไหมจากไหมสายพันธุ์ไทยกันมากนัก ซึ่งไหมต่างสายพันธุ์จะมีคุณสมบัติแตกต่างกัน เนื่องจากประกอบด้วยกรดอะมิโนต่างชนิด จำนวน และการเรียงตัวของกรดอะมิโนไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ กรรมวิธีในการสกัดโปรตีนไหมจะทำให้ได้โปรตีนที่มีขนาดโมเลกุลต่างกัน อันจะมีผลต่อการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และการดูดซึมผ่านผิวหนังด้วย

เนื่องจากคุณภาพของโปรตีนไหมจะแตกต่างตามพันธุกรรมของไหม กรรมวิธีในการสกัด รวมถึงคุณภาพของใบหม่อนที่ไหมใช้เป็นอาหาร การควบคุมคุณภาพดังกล่าวจัดเป็นกระบวนการที่สำคัญแต่ยังไม่ได้มีการวิจัยอย่างเป็นระบบมากนัก ผศ.ดร.พรอนงค์จึงได้นำรังไหมพันธุ์ไทยที่ผ่านการเพาะเลี้ยงด้วยกรรมวิธีที่ควบคุมพิเศษมาสกัดด้วยกรรมวิธีต่างๆ พร้อมกับคัดแยกโปรตีนส่วนกาวไหมที่มีขนาดโมเลกุลเหมาะสมที่สุดในการดูดซึมผ่านร่างกาย แต่ไม่ก่อให้เกิดการแพ้ เพื่อนำมาพัฒนาสูตรตำรับครีมโปรตีนไหม เพื่อทดลองใช้สำหรับรักษาแผลสด และแผลไฟไหม้ โปรตีน และสูตรตำรับที่พัฒนาขึ้นยังต้องมีความคงตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของโปรตีนเมื่อนำไปเก็บไว้เป็นเวลานานๆ ในที่ที่มีอุณหภูมิต่างๆ กัน

โครงการนี้สามารถดำเนินไปได้ด้วยดียิ่ง โดยครีมโปรตีนไหมที่ได้มีเนื้อเนียน สามารถดูดซึมผ่านผิวหนังได้ดี ไม่ก่อให้เกิดความระคายเคืองเมื่อทา จากการทดลองครีมดังกล่าวในหนูทดลองพบว่า ครีมโปรตีนไหมสามารถทำให้แผลสดอันเกิดจากการผ่ากรีดบนผิวหนังของหนูทดลองสมานได้ในอัตราที่เร็วกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับยารักษาแผลสดตำรับอื่นที่มีอยู่ในท้องตลาด โดยสามารถเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนในวันที่ 6 หลังจากการเกิดบาดแผล และแผลที่รักษาด้วยครีมโปรตีนไหมจะสมานสนิทภายในวันที่ 10 โดยไม่ก่อให้เกิดผื่นแดงจากการแพ้ ในขณะที่แผลที่รักษาด้วยยาตำรับอื่นจะเห็นผลลักษณะเดียวกันในวันที่ 15

นอกจากนี้ ผลจากการศึกษารายละเอียดของเนื้อเยื่อยังพบว่าครีมโปรตีนไหมสามารถเพิ่มการสร้างคอลลาเจนให้แก่แผล และลดขนาดของการเกิดแผลเป็นได้อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย ซึ่งนับเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการนำมาใช้ในการรักษาแผลสด และแผลที่รักษายาก เช่น แผลกดทับ แผลไฟไหม้ รวมถึงควรมีการนำมาประยุกต์ใช้ในการรักษาแผลเรื้องรังอื่นๆ เช่น แผลในที่ต่างๆ ในผู้ป่วยเบาหวาน

ขั้นต่อไปจะเป็นการนำครีมดังกล่าวมาทดลองใช้ในผู้ป่วยอาสาสมัคร เพื่อดูผลการรักษาต่อผิวหนังมนุษย์ รวมถึงศึกษาตัวชี้วัดต่างๆ ที่แสดงถึงการลดการอักเสบของแผลอีกด้วย การวิจัยยังดำเนินต่อไปเพื่อพัฒนายา และผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์อื่นๆ เช่น ครีมสมานแผลในปาก แผ่นฟิล์มสำหรับแผลผ่าตัด และแผลไฟไหม้ เส้นไหมสำหรับนำการงอกของเส้นประสาท และเส้นเอ็นที่ขาด รวมทั้งมีการทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และเครื่องสำอางต่างๆ โดยคุณสมบัติการเพิ่มคอลลาเจนของโปรตีนไหมบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ชะลอความแก่ และลดริ้วรอย ซึ่งเป็นเครื่องสำอางกลุ่มที่มีราคาสูง

ผลของการวิจัยนี้ แสดงถึงความเป็นไปได้ และศักยภาพที่สูงในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากไหม ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เป็นที่รู้จักกันมานาน โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์ยาจะมีมูลค่าเพิ่มสูง

ดังนั้น ความสำเร็จของโครงการนี้จะส่งผลถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้โดยการลดการนำเข้ายาที่สามารถใช้โปรตีนจากไหมทดแทนได้ รวมทั้งจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกได้ในที่สุด

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10517  คอลัมน์ การศึกษาสู่เศรษฐกิจ

ไทยสเตมไลฟ์โชว์ห้องปฏิบัติการ สเต็มเซลล์รักษาแผลเบาหวาน

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่เซ็นทรัล เวิลด์ พลาซา นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ และ ดร.คอสตาส ปาปาโดพูลอส ประธานบริษัท ไทย สเตมไลฟ์ จำกัด แถลงข่าว “การพัฒนาสเต็มเซลล์เพื่อใช้ในการรักษาโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานในระดับนำร่อง” พร้อมทั้งนำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ

นายศุภชัยกล่าวว่า สนช.ร่วมกับ โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และบริษัท ไทย สเตมไลฟ์ จำกัด ทำโครงการวิจัยเพื่อรักษาโรคแทรกซ้อนในระบบเส้นเลือดของผู้ป่วยเบาหวานด้วยสเต็มเซลล์ โดยนำร่องในผู้ป่วยเบาหวานจำนวน 30 ราย ที่มีแผลเรื้อรังบริเวณฝ่าเท้าและไม่สามารถรักษาบาดแผลให้หายขาดจนต้องตัดขาทิ้ง โดย สนช.ให้งบประมาณราว 3,000,000 บาท ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการนำสเต็มเซลล์ที่ได้มาจากเลือดของผู้ป่วยเอง จึงไม่มีปัญหาด้านจริยธรรม และผ่านคณะกรรมการพิจารณาการรักษาพยาบาลและจริยธรรมทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แล้ว

ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัยกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานร้อยละ 10 โดยพบว่าร้อยละ 4-5 มีแผลเรื้อรังที่เท้าและต้องถูกตัดขาทิ้ง เพราะไม่สามารถรักษาให้หายได้ จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานที่ถูกตัดขา 40,000 คนต่อปี และเสียค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดและการดูแลแผลเฉลี่ย 1,000,000 บาท แต่หากรักษาโดยการใช้สเต็มเซลล์จะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 200,000 -300,000 บาท ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 32,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ป่วยเบาหวานมารักษาด้วยสเต็มเซลล์ประมาณ 3-4 ราย ซึ่งผลของการรักษาได้ผลดีถึงร้อยละ 70-80 สำหรับการรักษาแพทย์จะนำสเต็มเซลล์ที่ได้จากเลือดของผู้ป่วย มาฉีดเข้าไปบริเวณเส้นเลือดใหญ่ หรือฉีดรอบๆ บาดแผล รวมถึงบริเวณใกล้เคียงเพื่อสร้างเส้นเลือดเข้าหล่อเลี้ยงและซ่อมแซมบริเวณบาดแผล

“ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ จากเดิมแผลของผู้ป่วยมีขนาดกว้างถึง 4.5 เซนติเมตร แต่เมื่อฉีดสเต็มเซลล์เข้าไปหลังจาก 2 อาทิตย์ พบว่าแผลดีขึ้นและมีขนาดเล็กลงเหลือเพียง 3.1 เซนติเมตร แต่ผลดังกล่าวยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า สเต็มเซลล์รักษาแผลเบาหวานได้จริงร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ เพราะจำนวนผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีนี้ยังน้อย แต่หากต่อไปมีถึง 100 ราย และผลลัพธ์ได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ จะสามารถยืนยันได้มากกว่านี้” ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัยกล่าว

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10517  

สร้างเมื่อ 28 – ธ.ค. – 49

โมบายแอปพลิเคชัน

 

กรมการแพทย์แผนไทยฯ


สามารถติดต่อเราผ่าน Line

 

ได้แล้ววันนี้

ติดตาม กองการแพทย์ทางเลือก

ผ่านทางโซเชียลมีเดีย​ได้ที่

       


กองการแพทย์ทางเลือก
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
อาคาร 2 ชั้น 6 และชั้น 7 กระทรวงสาธารณสุข
ถนนติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ : 02 591 7007 ต่อ 2607
โทรสาร : 02 149 5637
อีเมล์ : Thaicam2019@gmail.com

5919204
This Month : 19591
Total Users : 1528717
Views Today : 1673
Server Time : 2024-09-20