การศึกษาแมคโครไบโอติกส์ไทยกับการดูแลสุขภาพ

การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการศึกษาการดูแลสุขภาพตามแนวทางแมคโครไบโอติกส์ไทย ในด้านองค์ความรู้ รูปแบบการให้บริการอาหาร กลุ่มเป้าหมาย ประสิทธิผลของการดูแลสุขภาพด้วยแนวทางแมคโครไบโอติกส์ไทย ที่ใช้ในการให้บริการ และฝึกอบรม วิธีการศึกษาเชิงพรรณนา ดำเนินงานในรูปแบบวิจัยและพัฒนา (R & D) โดยศึกษากับกลุ่มประชาชนที่มารับบริการ ณ ศูนย์ผลิตภัณฑ์ปลอดสารและอาหารแมคโครไบโอติกส์ จำนวน 32 คน และผู้บุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าอบรมอาหารสุขภาพตามแนวทางแมคโครไบโอติกส์ จำนวน 44 คน การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย และ One – Sample t-test

ผลการศึกษา พบว่า ผู้สนใจใช้แนวทางแมคโครไบโอติกส์ไทยในการดูแลสุขภาพ กลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 41 – 50 ปี มากที่สุด สถานะภาพโสดกับสมรสอยู่ในจำนวนใกล้เคียงกัน ระดับการศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในระดับปริญญาตรีขึ้นไป ด้านสุขภาพ ก่อนการอบรมอยู่ในระดับไม่แย่และก็ไม่ดี ค่อนไปทางแย่ ลักษณะการเจ็บป่วยส่วนใหญ่จะเป็นโรคเกี่ยวกับไขมันในเลือดสูง ตามมาด้วยอาการเครียดบ่อยๆ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ระบบย่อยอาหาร ภาวะสุขภาพภายหลังการรับประทานอาหารและปฏิบัติตามแนวทางแมคโครไบโอติกส์ไทย พบว่า สุขภาพโดยรวมดีขึ้นทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิตและอารมณ์ ด้านสุขภาพกายที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นชัด คือ น้ำหนักลดลง เบาตัว สบายตัว หน้าท้องยุบลง ระบบขับถ่ายดีขึ้น รองลงมา คือ สุขภาพแข็งแรง รู้สึก สดชื่น อาการปวดเหมื่อย และอาการปวดตามอวัยวะต่างๆ ดีขึ้น คล่องตัวขึ้น สามารถแก้อาการแพ้ ภูมิแพ้ ทำให้การหายใจสะดวกขึ้น การเต้นของหัวใจดีขึ้น ปวดศีรษะลดลง และจากการสัมภาษณ์หลังจากที่กลับไปตรวจไขมันในเลือดส่วนใหญ่พบว่า คอเลสเตอรอลลดลง เนื่องจากอาหารดังกล่าวมีกากใยสูง ไขมันต่ำ ด้านสุขภาพจิตและอารมณ์ ดีขึ้น จิตใจสงบ มองโลกในแง่ดี มีสมาธิ นิ่งขึ้น เครียดน้อยลง ร่าเริง แจ่มใส สดชื่น ปลอดโปร่ง ระงับอารมณ์โกรธได้ดีขึ้น ใจเย็น ไม่หงุดหงิด มีความอดทน เข้าใจชีวิต และเข้าใจคนอื่นมากขึ้น

เหตุจูงใจในการรับประทานอาหารและปฏิบัติตามแนวทางแมคโครไบโอติกส์ไทย เพราะอยากรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ชอบรับประทานผัก มากกว่าร้อยละ 60 เหตุผลรองลงมาคือ ต้องการรักษาโรค การรับทราบ ความรู้หรือความคิดเห็น คือ ประเด็นอาหารมากที่สุด ยังขาดความเข้าใจว่าเป็นการดูแลแบบองค์รวม พฤติกรรมการแสวงหาบริการสุขภาพอยู่ในระดับปานกลาง ประโยชน์ที่ได้รับ พิจารณาจากมากไปหาน้อย คือ ได้รับอาหารที่มีประโยชน์และปลอดสารพิษ ได้รับเส้นใยจากอาหารมากขึ้น สบายท้อง สุขภาพแข็งแรง สุขภาพโดยรวมดีขึ้นมาก สุขภาพจิตและอารมณ์ดี เปลี่ยนแปลงชีวิตในทางที่ดี ได้พบปะผู้คนที่มีความต้องการเหมือนกัน ควบคุมน้ำหนักได้ มีความสุข อิสระในความคิด เข้าใจชีวิตมากขึ้น พฤติกรรมและความตั้งใจในการที่จะดูแลสุขภาพต่อไป ส่วนใหญ่ตั้งใจจะรับประทานอาหารปลอดสารพิษและมีประโยชน์ ออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น นำแนวทางนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน รักษาสุขภาพจิตและนั่งสมาธิ

ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการจัดบริการการแพทย์แบบองค์รวมตามแนวทางแมค-โครไบโอติกส์ไทย พบว่า ผู้บริหารในระดับนโยบายและผู้ปฏิบัติมีผลต่อความสำเร็จ การมีสถานที่ๆ เหมาะสม การมีแหล่งวัตถุดิบสนับสนุน การดำเนินงานดังกล่าวควรเป็นควรร่วมมือของรัฐบาล องค์กรเอกชน เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้ในราคาที่ประชาชนเข้าถึง การนำไปใช้ในสถานบริการ สามารถเริ่มต้นจากการรณรงค์ให้ผู้ป่วยรับประทานข้าวกล้อง ลดปริมาณเนื้อสัตว์ที่ถูกเลี้ยงโดยวิธีเร่งสารกระตุ้นการเจริญเติบโต และยาปฏิชีวนะ รับประทานธัญพืช ผักปลอดสาร มีสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องกรองน้ำ และอื่นๆ ที่มั่นใจในความปลอดภัยไม่ปนเปื้อนในอาหาร มีการจัดบริการแบบครบวงจร

ผลการศึกษาครั้งนี้ สามารถทราบถึงองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง การพัฒนารูปแบบการดำเนินงาน ทราบลักษณะกลุ่มลูกค้า การเจ็บป่วย และประสิทธิผลการดูแลสุขภาพด้วยแนวทางแมคโคร-ไบโอติกส์ไทย พฤติกรรมการดูแลสุขภาพด้วยแนวทางแมคโครไบโอติกส์ไทย รวมถึงปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จ นอกจากนี้ผู้ศึกษาได้มีข้อเสนอ ดังนี้

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

1. ควรสนับสนุนให้มี Model การให้บริการการแพทย์แบบผสมผสาน ศูนย์อาหารและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ส่งเสริมและสร้างเครือข่ายทั้งแนวดิ่งและแนวราบ

2. การจัดอบรมและให้บริการ ต้องสร้างกฎระเบียบให้สามารถบริหารได้คล่องตัว เพื่อเพิ่มและสร้างทางเลือกให้กับประชาชน

3. ส่งเสริมสนับสนุน ให้ใช้อาหารเป็นยา และผลิตยาจากพืชผักที่ใช้เป็นอาหาร

4. มีองค์กร/หน่วยงานรับผิดชอบการให้ความรู้ การให้คำปรึกษา การสร้างประสบการณ์ และแนวทางที่ถูกต้องในการนำไปผสมผสานการดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและไม่เสียโอกาสในการรักษาทั้งการแพทย์ปัจจุบัน การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

Download เอกสารวิชาการ เรื่อง “แมคโครไบโอติกส์ไทยกับการดูแลสุขภาพ”

  1. กิตติกรรมประกาศ
  2. บทคัดย่อ
  3. สารบัญ
  4. บทที่ 1 บทนำ
  5. บทที่ 2 ทบทวนวรรณกรรม
  6. บทที่ 3 ระเบียบวิธีวิจัย
  7. บทที่ 4 ผลการศึกษา
  8. บทที่ 5 สรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ
  9. บรรณานุกรม
  10. ภาคผนวก
  11. ขออนุมัติเผยแพร่เอกสารวิชาการฯ

 

โมบายแอปพลิเคชัน

 

กรมการแพทย์แผนไทยฯ


สามารถติดต่อเราผ่าน Line

 

ได้แล้ววันนี้

ติดตาม กองการแพทย์ทางเลือก

ผ่านทางโซเชียลมีเดีย​ได้ที่

       


กองการแพทย์ทางเลือก
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
อาคาร 2 ชั้น 6 และชั้น 7 กระทรวงสาธารณสุข
ถนนติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ : 02 591 7007 ต่อ 2607
โทรสาร : 02 149 5637
อีเมล์ : Thaicam2019@gmail.com

5919683
This Month : 20070
Total Users : 1529196
Views Today : 3854
Server Time : 2024-09-20