การดูแลสุขภาพให้เป็นองค์รวม

นภัส แก้ววิเชียร
เบญจพร สุธรรมชัย

มนุษย์ สิ่งแวดล้อม และสังคม รวมอยู่ในระบบสัมพันธ์ใหญ่เดียวกัน แต่มักจะขัดแย้งกัน ไม่ประสานกลมกลืนกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มนุษย์ส่วนใหญ่มองตัวเองแยกต่างหากจากธรรมชาติ เราพยายามเอาชนะธรรมชาติ ด้วยการพัฒนาสืบค้นทางวิทยาศาสตร์ เพื่อล่วงรู้สืบเสาะความลับจากธรรมชาติมา แล้วนำความรู้อันก้าวหน้าของเราไปใช้ในการจัดการธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสังคมจึงเสื่อมโทรมไปพร้อมๆ กันกับการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ผู้นิพนธ์หนังสือเรื่องสุขภาวะองค์รวมแนวพุทธ กล่าวว่า คนมองธรรมชาติเป็นของนอกตัว ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว ชีวิตจิตใจเราเองก็เป็นธรรมชาติ เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เมื่อคนกับสิ่งแวดล้อมอยู่ในสภาวะที่ขัดแย้งกัน สิ่งแวดล้อม ก็เสื่อมโทรม ด้วยความเห็นแก่ตัว ผู้คนต่างแก่งแย่งช่วงชิงกัน เบียดเบียนกันใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เพียงเพื่อหาความสุขสบายและตามใจตนเป็นหลัก สังคม ที่อาศัยอยู่ร่วมกันจึงวุ่นวาย

สถานการณ์เช่นนี้ ผู้คนจึงประสบปัญหาอย่างหนักในการดำรงอยู่ของตนเอง จึงมีการแสวงหาแนวทางใหม่มาใช้แก้ปัญหาเพื่อให้เกิดสมดุลของชีวิต แนวคิดองค์รวมจึงเริ่มเฟื่องฟูขึ้น การแพทย์ทางเลือก และภูมิปัญญาพื้นถิ่นจึงเข้ามาสู่ความสนใจ จนเป็นที่ยอมรับของผู้คนมากมาย และแพร่หลายอยู่ในทุกวันนี้

ชีวิตมนุษย์ ควรพัฒนาให้ก้าวไปสู่องค์รวม

มนุษย์พัฒนาชีวิตตนเองตลอดเวลา เพราะเราต้องเผชิญกับประสบการณ์ใหม่ๆ สถานการณ์ใหม่ๆ ตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ เราจึงต้องเรียนรู้ หาหนทางปฏิบัติ ปรับตัว ฝึกทำการใหม่ๆ ให้ได้ผล ซึ่งจะอาศัยเพียงสัญชาตญาณอย่างเดียวเช่นสัตว์ชนิดอื่นไม่ได้เลย นี้เป็นความพิเศษของมนุษย์ ที่ประเสริฐได้ด้วยการฝึก การศึกษา การพัฒนา เราจึงควรพัฒนาชีวิตไปสู่องค์รวม ที่เอื้อให้กับสรรพสิ่งที่อยู่ร่วมกัน เป็นองค์รวมแห่งการดำเนินชีวิตที่ดีนั่นเอง

อาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาชีวิตของมนุษย์ ให้ก้าวไปสู่วิถีองค์รวม วิถีแห่งชีวิตอันเกื้อกูล จะนำไปสู่สมดุลในทุกๆ ด้านของชีวิต โดยเฉพาะด้านสุขภาพ ซึ่งความหมายในเบื้องต้นเป็นเรื่องของการดูแลสมดุลของกายและจิต แต่แท้จริงแล้วยังโยงไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสังคมที่มีผลต่อกันกับกายและจิตอีกด้วย

การมองชีวิตเป็นองค์รวม

การดำเนินของชีวิตนั้น เป็นองค์รวมที่สัมพันธ์ เป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กัน มิใช่ขาดออกจากกัน เป็นส่วนๆ แต่ก้าวประสานไปด้วยกัน เป็นตามธรรมชาติของชีวิต ถ้าเรามองแต่ละอย่างๆ ขาดจากกัน โดยไม่ตระหนักว่าส่วนย่อยๆ นั้นต่างก็เป็นองค์ประกอบกันอยู่ ก็ไม่อาจมองเห็นภาพขององค์รวมได้

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวไว้ว่า การมองดูการดำเนินชีวิต ที่เป็นอยู่ ว่าเป็นชีวิตที่กำลังเคลื่อนไหว ดำเนินไป ในท่ามกลางสิ่งแวดล้อม ย่อมแตกต่างกับการมองดูชีวิตที่เหมือนว่าตั้งอยู่นิ่งๆ เพียงเป็นส่วนหนึ่งที่แยกย่อยของธรรมชาติเท่านั้น เมื่อเรามองออกว่าชีวิต และระบบของชีวิต เป็นองค์รวม ชีวิตทั้งหลายที่ดำเนินไปนั้นจึงมีหลายด้าน ไม่ว่าด้านใดก็ตามถ้าเป็นอยู่หรือดำเนินผิดพลาดไป ก็จะเกิดปัญหา และส่งผลกระทบถึงกันทั้งหมด

ดังเช่น เราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือบุคคล ตัวเราก็เป็นสิ่งแวดล้อมของผู้อื่น ของสิ่งอื่น เช่นกัน เราก็ควรมีจิตใจที่เกื้อกูลต่อผู้อื่นหรือสิ่งอื่นนั้น ด้วยอินทรีย์ (ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ)ของเรา ที่ตระหนักรู้ ด้วยปัญญา เพราะเรานี้ต่างเป็นสิ่งแวดล้อมของกันและกันนั้นเอง

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) ยังได้กล่าวถึงการจะพัฒนาเข้าสู่องค์รวมการดำเนินชีวิตที่ดี และเข้าสู่มรรคที่สมบูรณ์ขึ้นได้นั้น ใช้ปัจจัยชักนำเกื้อหนุนที่สำคัญ 2 แบบ (สัมมาทิฏฐิ 2) ได้แก่

  1. กัลยาณมิตร เป็นองค์ประกอบภายนอกที่สำคัญ
  2. โยนิโสมนสิการ คือ การรู้จักมอง รู้จักคิด พิจารณา เห็นประโยชน์ได้ และเห็นตามจริง เป็นปัจจัยภายใน

หมายเหตุ :  การดำเนินชีวิตที่ดี หรือวิถีชีวิตที่ดี เรียกว่า มรรค นั้นมีองค์ประกอบอยู่ 8 ประการ

มนุษย์ได้แต่หาความสุข แต่ไม่มีความสุข

การใช้ชีวิตไม่เป็น ดำเนินชีวิตไม่เป็น ก่อให้เกิดปมปัญหามากมาย พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) ได้ยกตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ โรคอ้วน เหตุใดคนจึงเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่เราอยู่ในสังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร ปีพ.ศ.2503 คนอเมริกันมีคนอ้วน 13% เท่านั้น แต่ปัจจุบันคนอ้วนเพิ่มขึ้นเป็น 31%, ตามมาด้วยโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมองตีบ แตก ที่เพิ่มขึ้น นี้เป็นปัญหาของประเทศที่เจริญแล้ว ที่คิดว่าจะหาความสุขได้เต็มที่ ปมปัญหาคงไม่ใช่อยู่แค่เรื่องของบริโภคนิยมเท่านั้น แต่มูลเหตุที่แท้เป็นปัญหาซับซ้อนภายในจิตใจ ที่ไม่มีความเต็มอิ่ม มีแต่ความพร่อง ความขาด โดยไม่รู้ตัว

มองอีกชั้นหนึ่ง เป็นปัญหาในระดับปัญญา กล่าวคือการที่สังคมมีความพรั่งพร้อม ทั้งข้อมูลความรู้และสิ่งเสพบริโภค มองไปทางใดก็มีสิ่งให้บริโภคได้ง่ายๆ และทันใจทันที แต่ก็มิได้หมายความว่าผู้คนจะมีปัญญา เพราะคนมัวแต่ตกเป็นทาสของตัณหาเสียเพลิดเพลิน ไม่ได้ใช้ปัญญา จึงไม่สนใจนำข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตมาใช้ประโยชน์ ทำให้เกิดความประมาท ทั้งรู้ว่าการเสพบริโภคเหล่านั้นจะเกิดโทษแก่ตน

เมื่อขาดปัญญา ขาดความเข้มแข็งของจิตใจ ได้แต่หาความสุขมาเติม และติดเพลินไปกับการเสพจึงเกิดคุ้นชินถอนตัวไม่ได้ ก็ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พึ่งพาตัวเองไม่ได้ ได้แต่พึ่งสิ่งภายนอก จึงขาดอิสระทางจิตใจ ขาดสิ่งเสพเมื่อไรก็เป็นทุกข์ทันที ต้องเที่ยววิ่งหาความสุขจากภายนอก กล่าวได้ว่าผู้คนในยุคนี้ใช้ชีวิตไม่เป็น ไม่มีความสุขได้แต่หาความสุข เพราะไม่รู้จักตั้งสติดูแลใจให้ดี

เมื่อต้องขึ้นกับสิ่งอื่น เพื่อที่จะเป็นสุข และเป็นความสุขที่ตัวเราเองไม่มี ต้องหาจากภายนอก จึงเป็นสุขที่ไม่เป็นอิสระ และไม่ปลอดภัย แต่คนเราในยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยความสุขแบบนี้ เป็นความสุขที่มิได้มีอยู่ในตัว มองในวงกว้าง เมื่อต่างคนต่างจะหาความสุข ก็ต้องแย่งชิงเบียดเบียนกัน ทำให้สังคมไม่สงบสุข ในทางกลับกันแต่ละคนที่อยู่ในสังคมนั้นก็สุขสงบไปไม่ได้ด้วย

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวถึง สภาพจิตที่ขาดความสุขว่าทำให้ต้องวิ่งวุ่นวนว่ายหามาเติม เป็นเรื่องของการไม่ฝึกจิตให้มีความเข้มแข็ง ให้มีความสุขจากภายใน ทั้งในจิตใจ และจากความสัมพันธ์ในสังคม หรือจากการอยู่กับสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องของการไม่ได้พัฒนาจิตใจให้ถูกทาง ให้รู้เข้าใจชีวิตของตน สังคมสิ่งแวดล้อม จึงไม่รู้จักการแก้ปัญหาจิตใจของตัวเอง และการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง เรียกว่าขาดปัญญาเลยทีเดียว

เมื่อชีวิตไม่ได้ถูกพัฒนาให้ถูกทาง ได้แต่พัฒนาวิธีการหาความสุขสารพัดวิธี และพร้อมกันนั้น โดยไม่ทันรู้ตัว ความสามารถที่จะมีความสุขกลับลดลง กลายเป็นคนที่สุขได้ยากขึ้นโดยอัตโนมัติ ถ้าคนพัฒนาชีวิตถูกทาง จะเป็นคนที่สุขได้ง่ายขึ้น แต่เป็นทุกข์ได้ยากขึ้น แต่ถ้าทุกข์ง่าย-สุขได้ยาก แสดงว่าสวนทางกันกับการพัฒนา ผู้คนจึงประสบปัญหาชีวิตที่หนักขึ้น ปรากฎพร้อมสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมทรุดลงเป็นธรรมดา

ชีวิตแห่งความสุข เป็นอย่างไร

จากหนังสือเรื่องสุขภาวะองค์รวมแนวพุทธ โดยพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวถึงเรื่องของความสุขไว้ ดังนี้ ความสุขเป็นเรื่องใหญ่ เสมือนว่าเราทุกคนจะถือเป็นจุดหมายของชีวิต แต่ก็หาได้ยากที่จะได้ยินใครสักคนจะพูดว่า เขามีชีวิตที่มีความสุข แต่เหตุใดพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย จึงกล่าวออกมาอย่างชัดเจนราวกับเป็นคำประกาศว่า “สุสขํ วต ชีวาม” แปลว่า “เรามีชีวิตเป็นสุขนักหนอ”

พระพุทธเจ้าตรัสแสดงเรื่องความเพียรพยายาม ปฏิบัติต่อการละทุกข์ ลุสุข ที่จะเชื่อว่าถูกต้องสำเร็จผล ก้าวหน้าไปในความสุขจนสามารถมีความสุขอย่างไร้ทุกข์ได้(ม.อุ. 14/12/13) ดังนี้

  1. ไม่เอาทุกข์ทับถมตน
  2. ไม่ละทิ้งความสุขที่ชอบธรรม
  3. ไม่สยบหมกมุ่น (แม้)ในความสุขที่ชอบธรรมนี้
  4. เพียรพยายามทำเหตุแห่งทุกข์ให้สิ้นไป (โดยนัยคือ: เพียรเพื่อจะเข้าถึงความสุขที่ประณีตขึ้นไป)

ระดับของความสุขมี 2 ระดับคือ

  1. กามสุข หรือ อามิสสุข เป็นความสุขที่พึ่งพา ขึ้นตรงต่อสิ่งเสพภายนอก ที่ต้องหา ต้องได้ ต้องเอาเมื่อคนมุ่งแล่นไปในการหาความสุขโดยไม่รู้ตัวและมัวประมาท แข่งขันแย่งชิงกัน จึงพัฒนากันแต่ความสามารถที่จะหาสิ่งเสพให้มากยิ่งขึ้น ให้เก่งที่สุด แต่ละเลยหรือลืมนึกถึงการที่จะพัฒนาตนให้สามารถมีความสุขได้ง่ายขึ้น หรือศักยภาพที่จะมีความสุข สิ่งนี้กลับลดลงไป
  2. นิรามิสสุข เป็นความสุขที่ไม่ขึ้นต่อวัตถุสิ่งเสพ สิ่งบริโภค เป็นความสุขภายในที่ไม่ต้องอาศัยวัตถุภายนอก มี 2 ระดับย่อย คือ

– ความสุขที่สนองความต้องการในทางดีงาม เชิงสร้างสรรค์ เรียกให้สั้นว่า สุขขั้นฉันทะ ได้แก่ สุข จากอยู่ใกล้ชิด ชื่นชมในธรรมชาติ สุข จากอยู่สัมพันธ์ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ด้วยเมตตากรุณา สุข จากได้ค้นคว้าหาความรู้แสวงความจริง ด้วยใจใฝ่รู้ใฝ่ธรรม สุข จากทำงานหรือกิจกรรมสร้างสรรค์ ที่ใจรักใฝ่ทำ สุข จากภาวะจิตกุศล เช่น ศรัทธา มีปิติที่ได้ทำบุญ – บำเพ็ญประโยชน์ มีปัญญาที่มองเห็นสิ่งทั้งหลายอย่างรู้ และเข้าใจโปร่งโล่ง (ปัญญาได้ส่งผลต่อจิต)

– ความสุขในระดับที่เป็นนิราสุขแท้จริง จะเป็นอิสระจากสิ่งภายนอกสิ้นเชิง ได้แก่ สุข จากสมาธิในฌาน สุข แห่งนิพพาน (ปัญญารู้แจ้งถึงขั้นทำให้จิตหลุดพ้นเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์)

หมายเหตุ : นิรามิสสุข ในที่นี้ใช้คำอธิบายแบบกว้างๆ คลุมๆ คือ รวมถึงนิพพานด้วยเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่ในความหมายที่เคร่งครัดนั้น ท่านไม่รวมถึงนิพพาน

การจัดการความสุข

ความสุขนั้น มีความสำคัญ สุขเป็นบรรทัดฐานของสมาธิ พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช ผู้นิพนธ์หนังสือเรื่องวิธีการปฏิบัติธรรม กล่าวไว้ว่า เคล็ดลับของสมาธิอยู่ที่ความสุข โดยขยายความไว้ว่า ความจริงแล้วสมาธิมิได้เป็นเหตุให้ความสุขเกิดขึ้น ความสุขต่างหากที่ทำให้เกิดสมาธิ ถ้าไม่มีสุขแล้ว สมาธิจะเกิดได้ยาก สุขเปิดโอกาสให้จิตอยู่ตัวสงบ ไม่ถูกรบกวนจากสิ่งอื่น เพราะจิตอยู่เป็นสุข ตั้งมั่นอยู่กับสิ่งที่ต้องการ แต่เมื่อเป็นทุกข์ จิตจะถูกบีบคั้น จึงดิ้นรน วอกแวกไม่เป็นสมาธิ

สมาธิ เป็นภาวะจิตที่ดีที่ตั้งมั่น แต่ถ้าใช้ไม่เป็น ก็เป็นโทษ ในลักษณะว่า เมื่อจิตสงบสบายแล้วก็ไม่อยากทำอะไร เอาแต่สบายอยากจะมีสุข เกิดเป็นติดความสุขในสมาธิ ทำให้เกิดความประมาท แต่ถ้าจิตเป็นสมาธิแล้วเดินหน้าต่ออย่างถูกต้อง ก็จะก้าวไปสู่ปัญญา ด้วยจิตเองนั้นดีแล้ว พร้อมแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดการต่อไปอย่างไรกับจิตที่เหมาะที่ดีนั้น

การจัดการจิตให้เหมาะแก่การใช้งาน พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวว่า ต้องมีตัวดุล เป็นวิริยะ หรือ ความเพียร โดยมีสิ่งสำคัญคือ สติ เป็นตัวคอยคุม คอยตรวจสอบไว้ ให้พอดีด้วยความเพียร เพื่อเป็นพื้นฐานที่มั่นของการพัฒนาชีวิต วิริยะกับสมาธิจึงต้องอยู่คู่กัน (เช่นเดียวกับเมื่อมีศรัทธาก็ต้องมีปัญญาเป็นตัวดุลเอาไว้ ไม่ให้เชื่อง่าย หรืองมงาย)

โยนิโสมนสิการ พลิกสถานการณ์ได้

ภาวะจิตกุศล เป็น ภาวะจิตด้านบวก เป็นเหตุเป็นปัจจัยของปัญญา หมายถึงปัญญาที่รู้ เข้าใจ คิดถูก เห็นถูกหรือ โยนิโสมนสิการ นั่นเอง เมื่อเรารู้ และเข้าใจถูกต้องแล้วก็จะมองอะไรๆ ออก ตั้งท่าทีถูก ก็เกิดความสงบ สดใส ไม่ขุ่นมัว มองเห็นหนทางแก้ไข

ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ โดย พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) ได้แสดงไว้ 2 ตัวอย่างดังนี้ เมื่อเราไปที่ใดซึ่งไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าเป็นสถานที่อะไร สภาพเป็นอย่างไร เช่นว่า เป็นอันตรายต่อเราบ้างหรือไม่ หรือแม้แต่เพียงไม่รู้ว่าเราควรปฏิบัติต่อสถานที่นั้นอย่างไร เพียงเท่านี้ความสัมพันธ์ที่จะปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมก็ติดขัด ภาวะจิตก็เกิดความรู้สึกอึดอัด ขุ่นมัว บีบคั้น เรียกง่ายๆ ว่าเกิดทุกข์ขึ้นมาทันที

แต่เมื่อเรารู้ว่า นี้คืออะไร เป็นอย่างไร และควรทำอย่างไร เกิดความรู้ทั่ว รู้เท่าก็มองเห็นทางแก้ไข จัดการ นี้คือปัญญา คือโยนิโสมนสิการ เป็นตัวทำงานสำคัญร่วมกับภาวะจิตฝ่ายบวก ในการแก้ปัญหาชีวิตจิตใจ เพื่อพลิกสถานการณ์ให้กลับเป็นดีอย่างยิ่งได้ อีกตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ เพื่อนใกล้ชิด เจอหน้ากันทุกวัน เวลาพบก็ทักทาย ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่มาวันนี้ พอเจอหน้า เราทักทาย เขากลับไม่พูดด้วย เรายิ้มก็ไม่ยอมยิ้มด้วย แถมหน้าบึ้งอีก จะเอาอย่างไรกัน เราก็มีกิเลสเหมือนกัน โกรธเป็นเหมือนกัน เราก็เลยโกรธ ทำหน้าบึ้ง ไม่พูดด้วยบ้าง เกิดเป็นภาวะจิตอกุศล นี้คือเกิดปัญหา และเรื่องก็อาจจะต่อในทางลบอีกยาว

แต่ถ้าเรารู้จักใช้ เครื่องมือของปัญญาที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ ก็คิดว่า เพื่อนของเราก็รักกันดีอยู่ วันก่อนๆ พบกันก็ทักทาย ยิ้มแย้มแจ่มใส วันนี้เราทักทาย แต่เขาไม่พูดด้วย ไม่ยิ้มด้วย

เมื่อใช้โยนิโสมนสิการ มาหยั่งที่เหตุปัจจัยของเพื่อน เราก็จะคิดว่า เอ… เขาจะมีปัญหาอะไรหรือเปล่า เขาอาจจะอารมณ์ค้างมา ไม่ใช่ว่าโกรธเรา เขาอาจจะถูกดุมาจากบ้าน อาจจะขาดเงิน หรืออาจมีปัญหาสุขภาพ ปวดหัว ปวดท้อง หรือถ้าเป็นผู้ใหญ่ เขาอาจมีปัญหาครอบครัว ลูกเขาอาจจะไม่สบาย เขามีห่วงกังวล มีทุกข์อยู่

คิดแค่นี้ คือปัญญามา ความโกรธก็ไม่มีแล้ว แต่กลับจะนำไปสู่การแก้ปัญหา โดยคิดต่ออีกว่า เอ้อ…ตอนนี้ ถ้ายังไม่ใช่โอกาส เราก็จะรอเวลา ถ้าโอกาสเหมาะ เราจะเข้าไปถามว่า เพื่อนมีปัญหาอะไร มีอะไรให้เราช่วยบ้างไหม อะไรอย่างนี้ เป็นต้น กลายเป็นว่า ใจของเราสบาย สุขภาพจิตเราดี แล้วยังไปช่วยแก้ปัญหาให้เขาด้วย

บทบาทของปัญญา พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวไว้ว่า เชื่อมต่อสู่อิสรภาพ ด้วยการปิดกั้นหรือละลายภาวะจิตอกุศล แล้วแทนที่ด้วยจิตกุศล และพัฒนาภาวะจิตกุศล /คิดบวก ให้เข้มแข็ง เพิ่มพูน และประณีตยิ่งขึ้นไป ปัญญาจากการโยนิโสมนสิการ ร่วมกับภาวะจิตด้านบวก จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของจิตใจ ต่อการมองชีวิตและโลก ด้วยหยั่งถึงเหตุปัจจัย ด้วยการวางจิตใจอย่างรู้และเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้หมดความติดข้อง ไม่ยึดติด ไม่หวั่นไหว โปร่งโล่งเป็นอิสระ จึงปิดกั้นความโลภโกรธหลง และเกิดความสุขที่แท้จริงได้

กายเครียด ใจก็เครียดด้วย

ภาวะจิตใจ ส่งผลต่อกันกับกาย โดยนอกจากภาวะจิตจะมีความสำคัญต่อการพัฒนาจิตใจ และเอื้อต่อการทำงานของปัญญาแล้ว ยังส่งผลดีต่อร่างกาย เกื้อหนุนสุขภาพร่างกายอย่างมาก

เห็นได้จากคนที่มีภาวะจิตด้านลบ เช่น เศร้าหมอง ห่วงกังวล เบื่อหน่ายท้อแท้ หมดกำลังใจ ฯลฯ ร่างกายจะทรุดโทรมเบื่ออาหาร และทำให้เกิดปัญหาที่อาจร้ายแรงต่อสุขภาพยิ่งขึ้นอีกได้ ตรงกันข้าม คนที่มีภาวะจิตดี เฉพาะอย่างยิ่งมีปิติ อิ่มใจ แม้กายจะอด ก็อยู่ดีได้นาน แถมยังมีผิวพรรณงามผ่องใสด้วย การดูแลสุขภาพ เป็นงานที่ทุกคนต้องทำ

ทุกวันนี้โรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย (Chronic degenerative disease) โรคที่เกิดจากความเครียดของจิต โรคที่เกิดจากการดำเนินชีวิตไม่พอเพียง บริโภคนิยม กินผักผลไม้น้อย กินเนื้อแดงมาก ขาดการออกกำลังกาย มลภาวะสิ่งแวดล้อมมาก โรคต่างๆ ที่เกิดมาจากกลุ่มเหตุดังกล่าวนี้ ยังไม่สามารถรักษาได้จนหายขาด แม้การแพทย์แผนปัจจุบันจะก้าวหน้าไปมากเพียงใดก็ตาม

การดูแลสุขภาพของตัวเราให้ครอบคลุม และเชื่อมโยงในทุกๆ ด้าน จึงเป็นงานที่ต้องทำ ที่จะต้องฝึก ด้วยตัวเอง (self care) เหนือขึ้นมาจากการมีสุขภาพร่างกายดี ต้องเป็นการฝึกตน ทั้งทางกายและทางใจ เพื่อเตรียมตัวได้ทัน ยามภัยคับขันของชีวิตมาถึง เพราะคำว่าสุขภาพ ขยายความถึงสุขภาวะทั้งทางกาย ใจ จิตวิญญาณ และสังคม เป็นการมองให้กว้าง มิใช่เพียงแต่การที่เราไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ก็เข้าใจไปว่าเรามีสุขภาพดี สมบูรณ์แข็งแรง และเพียงพอแล้ว เท่านั้นคงไม่พอสำหรับการดูแลสุขภาพในมุมมองใหม่แบบองค์รวม

ดังที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำและส่งเสริมว่า คำว่า สุขภาพ ต้องมองให้ครอบคลุม มีลักษณะเป็นภาพองค์รวม โยงใยออกไปว่าเป็นเรื่องราวของชีวิต เป็นองค์รวมของชีวิตเลยทีเดียว

การดูแลสุขภาพให้เป็นองค์รวม

โมบายแอปพลิเคชัน

 

กรมการแพทย์แผนไทยฯ


สามารถติดต่อเราผ่าน Line

 

ได้แล้ววันนี้

ติดตาม กองการแพทย์ทางเลือก

ผ่านทางโซเชียลมีเดีย​ได้ที่

       


กองการแพทย์ทางเลือก
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
อาคาร 2 ชั้น 6 และชั้น 7 กระทรวงสาธารณสุข
ถนนติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ : 02 591 7007 ต่อ 2607
โทรสาร : 02 149 5637
อีเมล์ : Thaicam2019@gmail.com

5918679
This Month : 19066
Total Users : 1528192
Views Today : 7545
Server Time : 2024-09-19