โดย : นายแพทย์เทวัญ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการกองการแพทย์ทางเลือก |
มะเร็งเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุข เป็นโรคที่คุกคามชีวิตมนุษย์เพราะต้องอาศัยการรักษาพยาบาลเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน และผลข้างเคียงของการรักษาค่อนข้างรุนแรง ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรบุคคล เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา
เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีแนวโน้มของการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้นเป็นไปในแนวทางเดียวกับประเทศอื่นๆทั่วโลก สาเหตุของการเกิดมะเร็งนั้นไม่ทราบแน่นอน แต่ร้อยละ 80 เกิดจากวิถีการดำรงชีวิตและสภาพแวดล้อม เช่น พฤติกรรมการบริโภค การมีโภชนาการที่ไม่เหมาะสม สิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสารพิษ อากาศที่หายใจ ตำแหน่งที่อยู่อาศัย และการประกอบอาชีพ รวมทั้งการขาดการออกกำลังกาย จากสาเหตุเหล่านี้พบว่า อุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มสูงขึ้นในทุกประเทศ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญอันดับหนึ่ง ตามด้วยอุบัติเหตุ และโรคหัวใจ ตามลำดับ (สำนักนโยบายและแผนสาธารณสุข : 2544)
มะเร็งที่พบในร่างกายมนุษย์มีมากกว่า 100 ชนิด เกิดขึ้นได้กับเกือบทุกอวัยวะของร่างกาย แต่จะพบที่ส่วนหนึ่งส่วนใดมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลหลายๆ ประการ เช่น เชื้อชาติ สิ่งแวดล้อม ประเพณี และวัฒนธรรมเป็นต้น และสามารถเกิดได้กับทุกอายุ แต่ส่วนมากแล้วมักพบในวัยกลางคนหรือสูงกว่านั้น มะเร็งบางชนิดพบได้เท่าๆ กันทั้งในเพศชายและหญิง แต่มะเร็งบางชนิดอาจจะพบในเพศหนึ่งมากกว่าก็ได้ (กริช โพธิสุวรรณ และ นิตย์ ศุภะพงษ์,2543 ) มะเร็งแต่ละชนิดจะมีการดำเนินของโรคไม่เหมือนกัน อัตราการรอดของผู้ป่วยมะเร็งขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็งเมื่อตรวจพบ หากพบในระยะแรกการรักษาก็สามารถทำได้ดี แต่เนื่องจากระยะแรกจะไม่สามารถตรวจพบเสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อตรวจพบก็มักจะเป็นระยะลุกลามและกระจายไปยังอวัยวะอื่น ทำให้อัตราการรอดชีวิตน้อยลง
เคมีบำบัดเป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพมากวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีและเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน เป็นวิธีการรักษาที่มุ่งทำลายเซลล์มะเร็ง แต่ก็ทำให้เซลล์ปกติถูกทำลายไปด้วย ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการรักษามีภาวะไม่สุขสบายต่างๆได้แก่ อาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ผู้ป่วยต้องเผชิญกับความไม่สุขสบายจากอาการเหล่านี้ และยังต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นความเครียดในเรื่องต่างๆตั้งแต่การรับรู้ว่าตนเป็นโรคร้ายแรง ตลอดจนการรักษาต้องใช้ระยะเวลานาน เสียค่าใช้จ่ายสูง ทำให้มีผลกระทบต่อแบบแผนการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว การทำงาน การครองชีวิตคู่ การเข้าสังคม และภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวรวมทั้งศักยภาพการดำรงชีวิตของผู้ป่วย ก่อให้เกิดความวิตกกังวล กลัวการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่น กลัวการกลับเป็นซ้ำ รวมทั้งกลัวการรักษาไม่ได้ผลมีความรู้สึกไม่แน่นอนของชีวิต จิตใจไม่สงบ อาจกล่าวได้ว่าการเจ็บป่วยจากมะเร็งและการรักษาโดยเคมีบำบัด ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อองค์ประกอบด้านต่างๆ ตามโครงสร้างของคุณภาพชีวิต ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ จิตวิญญาณ สังคมและสิ่งแวดล้อม หรือความเป็น “องค์รวม” ของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีพฤติกรรมในการแสวงหาวิธีการดูแลรักษาตนเอง พยายามดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่จะสามารถรักษาเยียวยาตนเองให้หายขาดได้ ผู้ป่วยมะเร็งจึงมีแนวโน้มที่จะหันไปพึ่งความช่วยเหลือของการแพทย์ทางเลือกเสริมร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบันด้วยเคมีบำบัด ซึ่งตรงกับผลการวิจัยที่พบว่าผู้ป่วยมะเร็งที่มารับการรักษาในสถาบันมะเร็งแห่งชาตินั้น มีการแสวงหาการรักษาใช้การแพทย์แผนปัจจุบันร่วมกับแพทย์ทางเลือกถึงร้อยละ 33.3 (รัตนา ชัยอินทร์ และคนอื่นๆ, 2544) ซึ่งพฤติกรรมของผู้ป่วยเหล่านี้เป็นลักษณะพฤติกรรมการดูแลรักษาตนเองแบบความเป็นองค์รวม
พฤติกรรมการดูแลตนเองแบบองค์รวม เป็นพฤติกรรมระดับบุคคลเกี่ยวกับการรับรู้ และประเมินอาการความเจ็บป่วย การตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการกับอาการนั้นๆ การแสวงหาคำแนะนำจากผู้อื่น รวมถึงการปรึกษาหารือในเครือข่ายสังคมของผู้ป่วยเอง เครือข่ายบริการของผู้มีวิชาชีพรักษาพยาบาล เครือข่ายทางเลือกบริการรักษาอื่นๆ (ลือชัย ศรีเงินยวงและทวีทอง หงษ์วิวัฒน์, 2533) ซึ่งครอบคลุมทั้งชีวิต มีความเกี่ยวเนื่องของร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ รวมถึงปัจจัยทางสังคม สิ่งแวดล้อมต่างๆที่มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลนั้น มากกว่าการเน้นแค่ความเจ็บป่วย หรือจัดการกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยมีปัจจัยที่สะท้อนถึงการดูแลสุขภาพ ได้แก่ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของบุคคล รวมทั้งการให้ความหมายและเจตคติต่อโรคของผู้ป่วยด้วย วิธีการดูแลจึงเป็นไปในรูปแบบของการผสมผสานการแพทย์ระบบต่างๆเพื่อเสริมหรือชดเชยส่วนที่ระบบการแพทย์อื่นขาดไปหรือไม่สมบูรณ์ ได้แก่การผสมผสานกันระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบันกับการแพทย์ทางเลือก โดยเฉพาะการแพทย์ทางเลือกซึ่งเป็นวิธีการรักษาแบบองค์รวมให้ความสำคัญกับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณและปัจจัยที่สัมพันธ์กับตัวมนุษย์ มีหลักการว่าทุกส่วนของร่างกายล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ถือว่าสุขภาพจะดีได้ต่อเมื่อมีภาวะสมดุลในร่างกาย และระหว่างร่างกายกับจิต ซึ่งในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด พบว่ามีวิธีการแพทย์ทางเลือกมากมาย ได้แก่ ธรรมชาติบำบัด อาหารเพื่อสุขภาพ การทำสมาธิ การนวด การกดจุด การฝังเข็ม สมุนไพรบำบัด ดนตรีบำบัด อโรมาเธอราปี โยคะ การฝึกการผ่อนคลาย และวิธีการออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถดูแลตนเองได้อย่างเป็นองค์รวม ผู้ป่วยจะนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลตนเองเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการให้ครบทุกด้าน ซึ่งหากสามารถตอบสนองความต้องการได้ครอบคลุมเพียงพอแล้วก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถดำรงชีวิตอยู่ อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี
สร้างเมื่อ 18 – พ.ค.- 49
|
ได้แล้ววันนี้