ความสุขของผู้สูงอายุ
โดย : รศ.ดร.ปรีชา อุปโยคิน
เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสัจธรรม เป็นธรรมชาติของมนุษยชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมจึงไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยลำพัง ต้องอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
เมื่อยังเป็นเด็กพ่อและแม่คอยดูแลเอาใจใส่ กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนในสิ่งที่ควรรู้ ระเบียบ กฎเกณฑ์ มารยาท ให้กระทำในสิ่งที่ดี ละเว้นสิ่งที่ชั่วร้าย ให้มีพฤติกรรมตามแบบแผนของสังคม เมื่อถึงวัยเรียนท่านก็ส่งให้เรียนในโรงเรียนที่ดี หวังให้ลูกมีชีวิตที่ดี มีความรู้ ที่จะไปประกอบอาชีพได้
บทบาทของพ่อแม่ที่มีต่อลูก เป็นวงจรชีวิตที่มนุษย์ทุกคนถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญ เมื่อเด็กได้เติบใหญ่เป็นผู้มีการศึกษา หารายได้เลี้ยงชีพได้แล้วก็ถึงเวลาที่ต้องมีคู่ครอง พ่อแม่ที่เลี้ยงดูมาตั้งแต่เกิดยังต้องทำหน้าที่ช่วยเลือกคู่ครองที่เป็นคนดีมาเป็นคู่ชีวิต บทบาททางสังคมของการเป็นพ่อแม่ในการอบรมเลี้ยงดูลูกนั้นจึงไม่มีที่สิ้นสุด ตราบที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่
แต่เมื่อพ่อแม่ก้าวไปสู่วัยชรา นับเป็นการสิ้นสุดบทบาทที่พึงกระทำต่อบุตร เพราะร่างกาย สังขารได้ร่วงโรยไปตามกาลเวลา ถึงเวลานี้ผู้ที่เคยเป็นหนุ่มสาว เคยเป็นพ่อแม่ของลูกน้อย กลายมาเป็น ปู่ ย่า ตา ยาย และถูกกำหนดให้เป็นชนชั้นใหม่ที่ระเบียบทางสังคมกำหนดให้ละเว้นการงานที่เคยทำ เคยมีตำแหน่ง มีอำนาจ เกียรติยศ กลับลับหายไปเมื่อล่วงเลยมาเป็นกลุ่มวัยที่สังคมเรียกว่า ผู้สูงอายุ
บทความนี้ ต้องการสื่อให้ผู้สูงอายุซึ่งมีบุญคุณต่อลูกหลาน ชุมชน สังคม และต่อประเทศชาติ ได้ตระหนักและรับรู้ว่า ผู้สูงอายุ คือบุคคลสำคัญผู้สืบทอดความเป็นคนไทยที่ได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดมาแล้ว และวันนี้ท่านยังสามารถเป็นสมาชิกในสังคม ที่ไม่เคยย่อท้อต่อการใช้ชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความมั่นคงในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ท่านได้ผ่านชีวิตที่ทำคุณประโยชน์ยิ่ง ไม่ว่าจะขมขื่น หรือชื่นบาน แต่สิ่งที่จะจารึกไว้ ไม่ว่าท่านจะเป็นใครก็ตาม ก็คือพึงตระหนักไว้เสมอว่าท่านเป็นผู้สูงอายุที่มีความสามารถเป็นแบบอย่าง ที่ดีต่อชนรุ่นหลัง และสังคมก็ยังเห็นความสำคัญของท่านที่ได้อบรมสั่งสอนลูกหลานไท มาจนถึงทุกวันนี้
ผู้สูงอายุคือร่มโพธิ์ร่มไทร
ผู้สูงอายุในความหมายของสังคมไทยนั้น คือ ร่มโพธิ์ร่มไทร ที่เรายังให้ความเคารพยกย่องเพราะมีคุณค่าทั้งต่อครอบครัวและสังคม แม้ว่าผู้สูงอายุจะลดสถานภาพและบทบาทลงไปบ้าง แต่ก็ยังคงมีปฏิสัมพันธ์กับคนรุ่นปัจจุบันเป็นอย่างดี ไม่มีผู้ใดปล่อยให้ท่านเผชิญความโดดเดี่ยวและทอดทิ้ง ในทางตรงกันข้าม ผู้สูงอายุเป็นที่พึ่งและที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของลูกหลาน ปกป้องคุ้มครองให้ลูกหลานมีความสุข ให้ความอบอุ่น ร่มเย็น เป็นที่เคารพนับถือ ผู้สูงอายุจึงเปรียบได้กับต้นโพธิ์ ต้นไทร ที่มีกิ่งก้านแผ่ปกคลุมเป็นร่มเงาที่พึ่งได้ทั้งกายและทางใจให้แก่ลูกหลาน
ผู้สูงอายุเป็นศูนย์กลางของจิตใจ
สังคมไทยในปัจจุบันให้การยกย่องการเป็นผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุเป็นเสาหลัก สิ่งที่แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน คือการมี วันผู้สูงอายุ ที่กำหนดขึ้นในวันตรุษสงกรานต์ของทุกปี โดยลูกหลานแม้อยู่ห่างไกลก็จะเดินทางกลับมาแสดงความเคารพ ผู้สูงอายุจึงเป็นเสมือนศูนย์กลางของจิตใจสำหรับลูกหลาน
เมื่อสังคมและครอบครัวยกย่องท่านเช่นนี้ ผู้สูงอายุจึงต้องวางตัวให้ดี ไม่ให้ลูกหลานตำหนิได้ ครองตัวให้เป็นผู้สูงอายุที่ดี จะได้รับการยกย่อง และยอมรับจากสังคมและชุมชน ไปที่ใดผู้คนก็ยังเรียกขานว่า ตา-ยาย หรือ ลุง-ป้า อันเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทยที่แสดงถึงการให้ความเคารพยกย่อง
ดังนั้นควรต้องสวมบทบาทของการเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ในกรอบของ คุณธรรม ไม่กินเหล้าเมายา เล่นการพนัน ไม่ประพฤติให้เสื่อมเสีย ไม่พูดมากไร้สาระ ส่อเสียด ไม่ทำตัวจุ้นจ้าน ไม่ทำตัวให้ลูกหลานอับอายขายหน้า ไม่ทำตัวให้ผู้อื่นดูถูกเหยียดหยาม ต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานและผู้คนอื่นๆ อีกทั้งยังต้องเป็นผู้เสียสละอุทิศตนเพื่อชุมชน ที่สำคัญต้องมีจิตใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แก่ผู้คนทั่วไป
ผู้สูงอายุเป็นผู้มีศักดิ์ศรี
ผู้สูงอายุเป็นผู้ที่มีศักดิ์ศรี เพราะเป็นผู้ที่มีความประพฤติดี หมายถึงผู้ที่ทำตัวดีจนเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น เช่นไม่เล่นการพนัน ไม่เที่ยวเตร่ ไม่ทะเลาะวิวาทกับผู้ใด ไม่โกหก ไม่ทำตัวเป็นปัญหาแก่ใคร และยังเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ให้กับครอบครัวและชุมชน
ผู้สูงอายุไทย โดยทั่วไปเป็นคนไม่อยู่นิ่งดูดาย จะดูแลครอบครัว ทำงานในบ้านเท่าที่จะทำได้ ด้านศาสนา ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นผู้อยู่ในศีลในธรรม เข้าวัด ฟังธรรม มีเมตตาธรรม เอื้ออาทรผู้ที่เดือดร้อน ไม่เบียดเบียนผู้ใด สร้างบุญสร้างกุศล การที่ท่านเป็นผู้ที่สั่งสมความดีงาม มีความประพฤติที่ดี ทำตัวพลเมืองดี ทำหน้าที่ทางสังคมอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ผู้สูงอายุจึงได้รับการยกย่องจากผู้คน และเป็นอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในชุมชน และสังคม
ผู้สูงอายุมีคุณค่าต่อสังคม
การเป็นผู้สูงอายุมีคุณค่าต่อสังคม เพราะทุกท่านได้ผ่านการทำความดีมาแล้ว อย่างน้อยที่สุด คือ การได้อบรมเลี้ยงดูลูกหลานจนเติบโตเป็นคนดี มีหน้าที่การงานดี นอกจากนี้ผู้สูงอายุต่างก็มีประสบการณ์ชีวิตมากมาย สามารถแยกแยะสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ประสบการณ์ความรู้เหล่านี้ย่อมสืบสานภูมิปัญญาพื้นถิ่นต่อไปสู่คนรุ่นใหม่ ได้เป็นอย่างดี ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรมต่างๆ นั้น ต้องอาศัยประสบการณ์แห่งผู้รู้ คือ ผู้สูงอายุทุกคนนั่นเอง
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังมีบทบาทในฐานะผู้ผลิต ทำงานสร้างรายได้เลี้ยงดูลูกหลาน หรือเคยเป็นกำลังสำคัญของการในทางด้านเศรษฐกิจมาก่อน ท่านจึงเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาแก่ชุมชน และสังคม
ความกตัญญูรู้คุณต่อบุพการี และผู้มีบุญคุณ ยังคงเป็นค่านิยมอันดีงามของสังคมไทย ผู้สูงอายุต่างเชื่อว่าความกตัญญูยังคงดำรงอยู่ สิ่งนี้เป็นการตอบแทนทางสังคม ที่อาจหาได้ยากยิ่งในสังคมอื่น การแสดงออกถึงความกตัญญูได้แก่ บุตรหลานมารดน้ำดำหัวในวันปีใหม่ สงกรานต์ ให้ความเคารพ เชื่อฟังคำสั่งสอน อุปการะด้วยการมอบทรัพย์สินเงินทอง เอาใจใส่สุขภาพ นอกจากนี้ยังแสดงออกได้โดยการบวชทดแทนบุญคุณ ลูกหลานที่เป็นหญิงอาจบวชชีพราหมณ์ให้พ่อแม่ สังคมไทยถือว่าการไม่ทดแทนคุณ ไม่กตัญญูจัดเป็นบาป ถูกสังคมตำหนิ ไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
ความภาคภูมิใจของผู้สูงอายุ
สังคมและครอบครัว ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้สูงอายุเกิดความภาคภูมิใจที่ได้เป็นผู้สูงอายุ ด้วยการที่ลูกหลานให้ความเคารพยกย่อง เชื่อฟังสิ่งที่ท่านอบรมสั่งสอน ร่วมกับการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ทำงาน เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้สูงอายุภูมิใจ ว่ายังคงเป็นกำลังแรงงานให้ครอบครัวได้ เช่น ช่วยลูกหลานค้าขาย ทำงานบ้าน เลี้ยงหลาน จักสาน ซ่อมแซมบ้าน หรือสนับสนุนให้เข้าร่วมในกิจกรรมสาธารณะ เป็นกรรมการชุมชน กรรมการวัดก็เป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้ ว่าได้ช่วยเหลือผู้อื่นตลอดมา ไม่แตกต่างไปจากอดีต และช่วยลดความโดดเดี่ยวได้ ที่สำคัญคือ ช่วยเสริมสร้างกำลังใจ ให้ผู้สูงอายุเห็นความสำคัญของตนเอง มีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี
การได้อยู่ร่วมกัน ทำให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
สังคมภายนอกอาจมองว่าผู้สูงอายุมีชีวิตที่โดดเดี่ยว ขาดการดูแลเอาใจใส่ มีความเหงา สิ้นหวัง แต่สังคมไทยไม่เป็นเช่นนั้น การที่ครอบครัวมีปู่ ย่า ตา ยาย ยังอาศัยอยู่ด้วยกันนั้น ยังคงปรากฏให้เห็นได้ทั่วไปในสังคม การได้อยู่ร่วมกันเช่นนี้จะไม่ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกโดดเดี่ยว
ซึ่งนอกจากความสัมพันธ์ทางสังคมภายในบ้านแล้ว ผู้สูงอายุก็ยังมีเพื่อนบ้าน เพื่อนรุ่นน้อง เพื่อนร่วมอาชีพ เพื่อนที่วัด เพื่อนสภากาแฟ แวะเวียนมาพบกัน ทั้งที่ตลาด วัด และในงานการกุศลต่างๆ ส่วนการที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่อาจชอบอยู่อย่างเงียบๆ ไม่ชอบสังคมกับใคร นั้นมิใช่เพราะความเหงา แต่เพราะท่านไม่ชอบวุ่นวายกับใคร เราจึงควรหาแนวทางให้ผู้สูงอายุได้ทำในสิ่งต่างๆ ทุกวัน ไม่ปล่อยให้เวลาผ่านเลยโดยไม่ได้ทำอะไรเลย
การยอมรับตัวตน
ผู้สูงอายุจะดำรงชีวิตอย่างมีความสุขได้นั้น ก็ด้วยการยอมรับสภาพของตนเอง และด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ดังนั้นการแสดงออกด้วยการยกมือไหว้ เมื่อพบปะผู้สูงอายุในสถานที่ต่างๆ นั้น เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนในสังคมไทยควรกระทำต่อท่าน ร่วมไปกับการมองผู้สูงอายุด้วยทัศนคติเชิงบวก
ในบริบทของสังคมไทยเห็นว่าผู้สูงอายุคือผู้ที่มีวัยวุฒิ เวลาพูดคุยด้วยก็จะแสดงความอ่อนน้อม มากกว่าแสดงความแข็งกร้าว และจะทักทายแม้ไม่รู้จักกัน การยอมรับตัวตนผู้สูงอายุในลักษณะเช่นนี้ เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้การปฏิสัมพันธ์ สื่อสารกับผู้สูงอายุเป็นไปด้วยดี ช่วยให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข
การเป็นคนทันสมัย
ควรเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถปรับตัวได้ให้เป็นคนทันสมัย รู้จักและใช้สิ่งอำนวยความสะดวก แต่งกายให้เหมาะกับวัย ด้วยการอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุหรือชมโทรทัศน์ เพื่อติดตามข่าวสารด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ การเมือง น่าสนใจว่าผู้สูงอายุได้กล่าวถึงความทันสมัยว่า คือการคิดและเดินให้ทันโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้เป็นคนตกข่าว การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญสำหรับผู้สูงอายุ
เชื่อมั่นต่อชีวิตในปัจจุบัน
ต้องช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้สูงอายุ ให้เชื่อมั่นว่าชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันของท่านมีคุณค่า มีความหมาย และมีความสุขกว่าในอดีต การสร้างทัศนคติเชิงบวกและมองโลกในแง่ดีเช่นนี้ จะเสริมสร้างพลังบวกทางใจได้มาก แม้ว่าสุขภาพของผู้สูงอายุจะอ่อนแอ ร่างกายจะทรุดโทรมลงทุกขณะก็ตาม
ผู้สูงอายุจะเกิดความสุข เมื่อเชื่อมั่นว่าชีวิตในปัจจุบันดีกว่าในอดีต เช่น ไม่ต้องทำงานเหน็ดเหนื่อยเพราะมีลูกหลานดูแล มีเวลาพักผ่อนเต็มที่ มีความสะดวกสบาย มีเครื่องใช้ไฟฟ้าทันสมัย มีครอบครัวที่อบอุ่น มีลูกหลานคอยดูแลใกล้ชิด มีเงินเก็บ มีฐานะทางการเงินดีกว่าในอดีตที่ทำงานหนัก รายได้น้อย
ผู้สูงอายุที่ดี
เพื่อให้ครอบครัว ชุมชนและสังคมได้เห็นถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ ท่านจึงต้องทำตัวให้เหมาะสมกับการเป็นผู้สูงอายุ ทำตัวให้เหมาะสมกับวัย สร้างความน่าเชื่อถือโดยไม่พูดโกหก หลอกลวง เป็นคนพูดจริง และสำรวมระวังในคำพูดอย่างมีสติ เป็นตัวอย่างที่ดีของครอบครัว ชุมชน และสังคม ช่วยเหลืองานสาธารณะ เสียสละเพื่อส่วนรวม ทั้งงานบุญหรือกิจกรรมทางศาสนา มีความเป็นผู้ใหญ่ มีความยุติธรรม เมตตากรุณา มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่คบคนพาล ไม่เล่นพนัน ไม่ดื่มเหล้าเมายา ให้เป็นที่อับอายแก่ลูกหลาน ไม่ทำตัวน่ารำคาญแก่สมาชิกครอบครัว ญาติมิตร เพื่อนบ้าน ไม่กล่าวร้ายป้ายสีผู้อื่น ไม่พูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด ไม่ติฉินนินทาใคร ไม่จู้จี้ขี้บ่น เป็นคนมีธรรมะ เข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม มีจิตใจเยือกเย็น สงบ ไม่วุ่นวายกับใคร
ผู้สูงอายุกับการดูแลตนเอง ในมิติทางสังคม
การดูแลผู้สูงอายุในมิติทางสังคมนี้ เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ที่ไม่อาจแยกจากกันได้ระหว่างมิติของร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ การเผชิญชีวิตของผู้สูงอายุนั้นย่อมแตกต่างกันไปตามภูมิหลัง และสภาวะสุขภาพ แต่สิ่งสำคัญที่ผู้สูงอายุต้องดำรงอยู่ได้โดยไม่มีความแตกต่างก็คือ การอยู่ร่วมกันทางสังคมอย่างมีความสุข และมีศักดิ์ศรี
ผู้สูงอายุกับการยอมรับจากสังคมนั้น จะต้องเกิดขึ้นมาจากพลังภายในและภายนอก โดยเฉพาะพลังจากภายใน ก็คือความมั่นใจ ความเชื่อมั่นที่จะสร้างแรงจูงใจและมองโลกในแง่ดี โดยพิจารณาสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง และหลักพุทธศาสนาที่ว่า การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย ล้วนเป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่สัตว์โลกทั้งหลายไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จงมองตนเองอย่างผู้มีศักดิ์ศรี พิจารณาสิ่งต่างๆ ที่สั่งสมมาในอดีต สิ่งใดที่ดีๆ ก็ควรจดจำ เพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้ยืนหยัดต่อสู้ต่อไป สิ่งไม่ดีทั้งหลายก็ควรละทิ้งไม่ให้หลงเหลือในความทรงจำ เพราะมีแต่คอยบั่นทอนขวัญกำลังใจ และสุขภาพร่างกาย
มิติทางด้านสังคมของผู้สูงอายุ จึงมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ ให้อยู่ต่อไปอย่างมีความสุข และมีคุณภาพ ลำพังแต่การดูแลทางการแพทย์นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่ผู้สูงอายุจะมีโอกาสได้พบกับแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งก็ต่อเมื่อมีปัญหาสุขภาพ ก็เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น แต่ผู้สูงอายุต้องอยู่ร่วมกับครอบครัวและสังคมตลอดเวลา การดูแลตนเองทางสุขภาพจึงจะต้องรวมถึงด้านจิตใจ และความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี ไม่ใช่เฉพาะแต่การกิน การนอน การใช้ยา แต่ต้องดูแลตนเอง ครองตัวให้เป็นผู้สูงอายุที่มีศักดิ์ศรีอย่างมีคุณภาพ โดยสร้างความเชื่อถือจากสังคมภายนอก เป็นอาหารเสริม เป็นยาบำรุง เป็นการเยียวยาทางสังคม ซึ่งมีพลังเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ผู้สูงอายุสามารถยืนหยัดต่อการมีชีวิตที่ดี ได้อย่างสง่างาม
การอยู่ร่วมกัน จะเป็นเครือข่ายทางสังคมที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีปฏิสัมพันธ์ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความใกล้ชิดระหว่างสมาชิกในครอบครัว ญาติ และผองเพื่อนจะช่วยให้ผู้สูงอายุเห็นคุณค่าของตนเอง ชื่นใจ ภูมิใจและมีความสุขที่ลูกหลานและสังคมยอมรับ ในด้านการเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ของการเป็นผู้สูงอายุที่ดีนั้น จึงขึ้นอยู่กับการวางตัวให้อยู่ในกรอบของสังคม วัฒนธรรม ทำในสิ่งที่ควรทำ อีกทั้งการยกย่องสรรเสริญนั้น เป็นรางวัลที่เสริมสร้างพลังใจให้ผู้สูงอายุมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ด้วยความ เชื่อมั่น ไม่ท้อแท้ สิ้นหวัง อีกต่อไป