โดย : นายแพทย์เอกชัย ปัญญาวัฒนานุกูล

ผู้เรียบเรียงไม่แน่ใจว่าในอดีตจะเรียกกลุ่มอาการเหล่านี้ว่าโรคภูมิแพ้หรือไม่ เพราะว่าในคำรายาพื้นบ้านไม่ค่อยมีโรคภูมิแพ้ให้เห็น แต่จะมียารักษาโรคหืด ลมพิษ ไอเรื้อรัง โรคหวัด ที่น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มโรคภูมิแพ้ได้ สาเหตุที่ตำรายาโบราณ หรือหมอพื้นบ้านไม่ค่อยเขียนถึง อาจเป็นเพราะในอดีตไม่ค่อยจะมีผู้

ป่วยโรคภูมิแพ้ หลักฐานที่สนับสนุนสมมุติฐานนี้ คือ อัตราป่วยโรคภูมิแพ้ของประเทศกำลังพัฒนา พบน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างน้อย ๒-๓ เท่า เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีลูกหลายคนและเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกคนท้ายๆ มักจะไม่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ทฤษฏีหนึ่งที่น่าเชื่อถือ คือ เอ็นโดท๊อกซิน Endotoxin ในฝุ่นจะกระตุ้นการทำงานของ T-helper 1cell ซึ่งช่วยลดการแพ้สารกระตุ้นต่างๆ ได้ ข้อสังเกตของผู้เขียนเองก็พบว่า เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีฐานะทั้งการศึกษาหรือการเงินดีมักจะเป็นโรคภูมิแพ้ หรือหอบหืดได้บ่อย ข้อมูลเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ในการเลี้ยงดูบุตร เพื่อป้องกัน หรือลดการป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ได้บ้าง

ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนในการใช้สมุนไพรพื้นบ้าน มีไม่มากนัก โดยส่วนตัวคิดว่าถ้าผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หรือ หอบหืดจะดีขึ้น หรือหายได้ คงไม่ใช่จากยาสมุนไพรอย่างเดียว แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้ภูมิคุ้มกันโรคทำงานด้อยประสิทธิภาพลงด้วย ได้แก่ การควบคุมอารมณ์ที่ดีขึ้น การกินอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย การออกกำลัง การลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น สุรา บุหรี่ สารเคมี เป็นต้น
ตำรับยาที่ใช้รักษาโรคภูมแพ้บ่อยๆ คือ ยาปราบชมพูทวีป ซึ่งมีใช้ในโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่ง สามารถลดอาการกำเริบของโรคภูมิแพ้ได้ดีพอสมควร ถ้ามีอาการกำเริบ ก็จะทำให้การหายเร็วขึ้น ยานี้มีประสบการทั้งที่ใช้ในครอบครัว และคนไข้ของผู้เขียน ข้อเสียของยาตำรับนี้คือ ใช้ตัวยาประกอบจำนวนมาก ประมาณ ๕๐ รายการ ซึ่งเตรียมยาก และสิ้นเปลืองพอควร
ประสบการณ์ที่ได้จากคนไข้ของผู้เขียนบางคนที่ใช้วิธีอื่นแล้วได้ผลดี เช่น เด็กที่เป็นโรคหอบหืด ไม่นาน ผู้ปกครองจะย่างเนื้อตุ๊กแก ให้สุก แล้วป้อนให้เด็กกิน พบว่าเด็กจำนวนหนึ่งหายป่วยได้ ผู้ป่วยรายหนึ่งอายุ ๗๐ ปีที่เป็นโรคหอบหืด และถุงลมโป่งพอง กินยาขยายหลอดลมเป็นประจำ และมักมีอาการข้างเคียงจากยาด้วย เมื่อมีโอกาสทดลองกินเนื้อจระเข้ที่ปรุงสุก ระยะหนึ่ง สามารถหยุดยาได้ระยะหนึ่งเป็นเวลาหลายเดือนโดยไม่มีอาการ เมื่อมีอาการก็ใช้ยาในขนาดที่น้อยลงมาก อีกตัวอย่างในคนไข้หอบหืดเป็นมาหลายปี ใช้ยาอยู่หลายชนิดทั้งกิน พ่นยา และฉีดยาขยายหลอดลมเป็นประจำ หลังจากกิน เหง้าของเอื้องหมายนา ประมาณ ๑ สัปดาห์ ก็สามารถลดยาขยายหลอดลมได้หลายชนิด จนหยุดยาได้
ส่วนตัวผู้เขียนเองเป็นลมพิษเรื้อรัง จากการแพ้เหงื่อ หลังเล่นกีฬาจะมีผื่นลมพิษขึ้นเป็นประจำตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ ได้ทดลองกินยาตำรับหนึ่งของหลวงพ่อเมียก แห่งวัดโคกกะเพอ จ.สุรินทร์ กินอยู่ประมาณ ๓ สัปดาห์ ผื่นลมพิษหายไปประมาณ ๒ ปี โดยไม่กำเริบ นานๆ ครั้งจะมีผื่นขึ้นบ้างแต่เป็นปริมาณน้อย และหายเองโดยไม่ต้องใช้ยา ตำรับที่ใช้มีแก่นฝางเสน เป็นยาหลัก หลวงพ่ออธิบายว่า สาเหตุของโรคเกิดจากเลือดเสีย หรือเลือดเป็นพิษ ดังนั้นจึงต้องฟอกเลือดเสีย และขับออก ต่อมาจึงบำรุงโลหิตตาม ปัจจัยอื่นๆที่ผู้เขียนเปลี่ยนแปลงด้วย คือ ลดอาหารที่เป็นของทอดและมันลง รวมทั้งการขับถ่ายที่ดีขึ้น
โดยสรุปแล้วผู้เขียนเชื่อว่าสามารถนำมาใช้รักษา หรือบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ ต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้ามีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจในคำอธิบายการเกิดโรคหรืออาการภูมิแพ้ของการแพทย์พื้นบ้าน และวิธีคิดในการใช้ยาแต่ละประเภท แล้วนำมาศึกษาวิจัยทางคลินิกต่อไป มีตัวอย่างที่น่ายินดีคือ นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า สามารถนำ กานพลู และอบเชย มาใช้ในการกำจัด ไรฝุ่น ที่เป็นสาเหตุ การแพ้ส่วนใหญ่ได้สำเร็จ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ดังนั้นผู้เขียนจึงรวบรวมตัวอย่างตำรับยาที่ใช้ในการรักษาโรคภูมิแพ้มาจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นตัวอย่างในการใช้ประโยชน์ในอนาคต

ตำรับยารักษาโรคหอบหืด

ยาฝนแก้อาการ ไอ หืด เสลดติดคอ (หมอประภาส มาศขาว อ.กุดชุม จ.ยโสธร)

๑. รากพริกป่า (ครุฑน้อย , พุดน้อย , พุดป่า, เขาควาย, พริกผี ) ๑ คืบ๒. น้ำมะนาว เป็นน้ำกระสายยาวิธีใช้ ใช้รากพริกป่า ฝนกับหินให้เห็นเป็นสียาผสมกับน้ำมะนาว จิบบ่อยๆขณะมีอาการ ข้อมูลจาก หลวงพ่อเมียก วัดโคกกะเพอ จ. สุรินทร์เหง้า ของต้น เอื้องหมายนา แช่ในน้ำตาลโตนด ๗ วัน กินวันละครึ่งแก้ว ก่อนนอน

ตำรับกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

ขนานที่ ๑

เอาผมคน จำนวนมากพอสมควร นำมาล้างให้สะอาด ตากแดดให้แห้ง บดเป็นผงผสมสุราพอประมาณ ดื่มครั้งละ ๑ ถ้วยชาจีน วันละครั้ง ( ไม่ควรกินขณะโรคหืดกำเริบ) ประมาณ ๗ วัน ( ใช้ได้ผลดีในกรณีที่เป็นไม่เกิน ๕ ปี)

ขนานที่ ๒

ใช้แก่นลั่นทมจำนวนมากพอสมควร สับให้ละเอียดนำมาต้มใส่น้ำพอสมควร กรองเอาน้ำออกแล้วเคี่ยวให้เป็นยางเหนียว (พอปั้นเป็นลูกกลอนได้) ผสมกับสุรา ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าเมล็ดพุดซา

ขนานที่ ๓

แมงป่องช้าง ๘ ตัว นำมาคั่วไฟให้กรอบ บดให้ละเอียด ผสมกับสุรา ดื่มครั้งละ ๑ ถ้วยชาจีน วันละ ๒-๓ ครั้ง

ขนานที่ ๔

นำเนื้อหมู ๓ ชั้น ใส่ไว้ในรังมดแดง ๒๐ ชั่วโมง นำเอาเนื้อหมูมาสับให้ละเอียดแกงกับยอดตำลึง กินทั้งเนื้อและน้ำยา ๒-๓ ครั้ง

ขนานที่ ๕

๑. ใบหนาด ๔ ใบ๒. รากมะดัน หนัก ๑๐ บาท๓. สารส้ม หนัก ๑ บาทนำมาตำให้เป็นผง ชงน้ำร้อนดื่มต่างน้ำชา

ขนานที่ ๖

ใช้ต้นตำแย ทั้ง ๕ จำนวนมากพอสมควร ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำ นำมาผสมกับน้ำผึ้ง อย่างละเท่ากัน ดื่มครั้งละ ๑ แก้ว

ขนานที่ ๗

ใช้ลูกใต้ใบ ทั้ง ๕ จำนวนมากพอสมควร ตำให้ละเอียด ผสมน้ำต้มสุก คั้นเอาน้ำ ดื่มครั้งละ ๑ ถ้วยชาจีน วันละ ๑ ครั้ง เป็น เวลา ๓ วัน

ขนานที่ ๘

๑. ข้าวหมาก ๑ ถ้วยชาจีน๒. หนังปลากระเบน ( เผาจนกรอบแล้วนำมาบดละเอียด) หนัก ๑ บาทนำมาผสมกัน ใช้กินให้หมดทั้งถ้วยเพียงครั้งเดียว

ขนานที่ ๙

เนื้อจระเข้สด จำนวนมากพอสมควร นำมาผัดกับพริกเครื่องแกง ผสมกับสุราพอสมควร กินพร้อมกับข้าวสุก เพียง ๓-๔ ครั้ง

ขนานที่ ๑๐

เมล็ดบวบที่ตากแดดให้แห้ง แกะเอาเฉพาะเนื้อข้างใน ตำให้ละเอียดผสมกับสุรา ใช้ดื่ม ๓ ครั้ง- ครั้งที่๑ เนื้อในเมล็ดบวบ หนัก ๑ สลึง ผสมกับสุรา ๑ ก๊ง ดื่มให้หมด- ครั้งที่ ๒ เอาเนื้อในเมล็ดบวบ หนัก ๒ สลึง ผสมกับสุรา ๑ ก๊ง ดื่มให้หมด ห่างจากครั้งแรก เว้น ๑ วัน- ครั้งที่ ๓ เนื้อในเมล็ดบวบ หนัก ๓ สลึง ผสมกับสุรา ๑ ก๊ง ดื่มให้หมด ห่างจากครั้งที่ ๒ เว้น ๑ วันหมายเหตุ กินยาขนานนี้แล้วจะทำให้เกิดการอาเจียน จนรังหืดออกมา

ขนานที่ ๑๑

ยาสูบ และ ปูนขาว อย่างละเท่ากัน ไข่ไก่ ๒-๓ ฟอง ( ใช้เฉพาะไข่ขาว) นำมาคลุกเคล้ากันให้ดี พอกกลางหลังบริเวณ กระเบนเหน็บ หลังพอกยา จะเกิดอาการอาเจียนออกมาเป็นสีขาว เหลือง และเขียวอ่อน รังหืดจะออกมาพร้อมกับอาเจียนสีเขียวอ่อน เมื่อรังหืดออกมาแล้วให้แกะยาที่พอกออกทันทีหมายเหตุ ในระหว่างอาเจียนให้ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน

ขนานที่ ๑๒

ไข่ไก่สด (ชนิดที่มีเชื้อตัวผู้ ฟักเป็นตัวได้) ๑ ฟอง ผสมน้ำส้มสายชู ๒ ช้อนโต๊ะ กวนให้เข้ากัน กินก่อนอาหารเช้าทุกวัน เป็นเวลา ๑๕ วัน (ถ้าเป็นมากให้กิน เช้า – เย็น)อาการจะดีขึ้น และให้กินต่อขนครบ ๙๐ วัน

ขนานที่ ๑๓

๑. เถาวัลย์เปรียง ๒ สลึง ( ๑ บาท ๑ สลึง)๒. ใบมะคำไก่ ๒ สลึง ( ๒ บาท ๒ สลึง)๓. ฝาง ๒ สลึง ( ๒ บาท ๒ สลึง)๔. หัวแห้วหมู ๒ สลึง ( ๒ บาท ๒ สลึง)๕. แก่นแสมสาร ๖ สลึง ( ๖ บาท ๒ สลึง)นำมาต้ม ดื่มครั้งละ ๑ ถ้วยชาจีน ประมาณ ๔-๕ ครั้ง

ขนานที่ ๑๔

๑. ขมิ้นอ้อย๒. ยาสูบ๓. ปูนขาวนำมาอย่างละหนัก ๘ บาท ตำให้ละเอียด พอกที่หน้าแข้ง ประมาณ ๓๐ นาที จะทำให้อาเจียนเอาเชื้อหืดออกหมด

ขนานที่ ๑๕

ใบต้นตองแตก ๕ ใบ ลงอักขระพระเจ้า ๕พระองค์ ( นะ โม พุท ธา ยะ ) ทุกใบ ตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำยามาผสมกับน้ำปูนขาว ปั้นเป็นเม็ดขนาดเท่าไข่จิ้งจก กินกับน้ำผึ้งวันละครั้งเพียง ๓ วัน

ขนานที่ ๑๖

๑. หัวกระชาย๒. ผิวมะกรูด๓. ต้นการบูร ทั้ง๕๔. กระเพราแดง๕. ขิงนำมาอย่างละเท่ากัน ตากแดดให้แห้ง บดให้เป็นผง ผสมกับน้ำผึ้ง และปั้นเป็นลูกกลอน ขนาดเท่าเม็ดพุดซา กินครั้งละ ๒ เม็ด ก่อนอาหาร เช้า – เย็น

ขนานที่ ๑๗

ปูแสมดองเค็ม ๕ ตัวนำมาคั่วให้เกรียม บดให้ละเอียดผสมน้ำข้าวต้ม ๓ ช้อนโต๊ะ กินวันละ ๓ เวลา

ขนานที่ ๑๘

๑. เถาวัลย์เปรียง หนัก ๓ บาท๒. ผักเป็ดแดง หนัก ๓ บาท๓. ต้นสำมะงา หนัก ๓ บาท๔. การบูร หนัก ๑ บาทนำมาต้มใส่น้ำ ๑ส่วน สุรา ๑ ส่วน ดื่มก่อนอาหาร เช้า-เย็น

ขนานที่ ๑๙

๑. หัวข่า ๑ กำมือ๒. ใบมะกา ๑ กำมือ๓. ข้าวเปลือกข้าวเจ้า ๓ หยิบมือนำมาต้มดื่ม วันละ ๒ เวลา เช้า-เย็น เป็นเวลา ๓๐ วัน

ขนานที่ ๒๐

๑. หัวกระเทียม ๑๐๘ กลีบ๒. พริกไทยล่อน ๑๐๘ เม็ด๓. หัวแห้วหมู ๑๐๘ หัวนำมาตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าเมล็ดข้าวโพด กินครั้งละ ๒-๓ เม็ด วันละ ๓ เวลา เช้า เย็น ก่อนนอน

ตำรับยาขนานอื่นๆ

ขนานที่ ๑

๑. ดอกลำโพง ๑ ส่วน๒. ใบมะฝ่อ ๑ ส่วนนำมาหั่นรวมกัน เอาเลือดแรด ละลายกับน้ำตาลโตนด เคล้ายาให้ทั่ว แล้วตากแดดให้แห้ง เมื่อจะสูบ ผสมการบูรพอควร ใช้ใบตองแห้งมวนสูบทุกวัน

ขนานที่ ๒

๑. ใบตำลึง ๑ กำมือ ตำคั้นเอาน้ำ๒. จุนสี สะตุ ๑ สลึงบดเป็นผงผสมในน้ำตำลึงกินแก้หืด

ขนานที่ ๓

๑. ยาดำ ๑ บาท๒. มะเขือขื่น ตำคั้นให้ได้น้ำ ๑ ถ้วยชาจีน๓. ไพล ตำคั้นให้ได้น้ำ ๑ ถ้วยชาจีน๔. มะพร้าว ๑ ซีก ขูด คั้นเอาแต่น้ำนำยาทั้ง๔ มากวนแล้วปั้นเป็นลูกกลอน

ขนานที่ ๔

จันทน์แดง ผสมกับจุนสีสะตุ ๑ สลึง

ขนานที่ ๕

เปลือกหอยอีรุม ฝนกับน้ำปูนใส

ขนานที่ ๖

รกคน นำมาทาเกลือแล้วย่างไฟ บดให้เป็นผงโรยบนข้าวให้กิน

ขนานที่ ๗

กระเทียม หัวหญ้าแห้วหมู พริกไทย อย่างละเท่ากัน บดเป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอน ขนาดเท่าเม็ดมะเขือพวง กินครั้งละ ๒-๓ เม็ด เช้า-เย็น

ขนานที่ ๘

๑. ฝาหอยแครง หรือ หอยแลงภู่ หรือหอยกาบ หรือหอยโข่ง หรือหอยขม หนัก ๓๐ บาท บดเป็นผง๒. ยาสูบหนัก ๓๐ บาท บดให้ละเอียดนำยาทั้ง ๒ มาผสมน้ำ แล้วพอก บริเวณ สะบักลงมาถึงเอวทั้ง ๒ ข้าง ห้ามพอกบนกระดูกสันหลังในขณะที่หอบ เมื่ออาเจียนออกให้ลอกออก แล้วเอาสัปปะรด มาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมเกลือ เอาผ้าขาวบางห่อ ให้น้ำหยดลงใส่ภาชนะ รองน้ำดื่ม

หวัดเรื้อรัง , ไอเรื้อรัง

ขนานที่ ๑

ต้นโทงเทงแห้ง หนัก ๓๓ บาท บดเป็นผง ผสมกับน้ำตาลกรวดทำให้เป็นน้ำเชื่อมประมาณครึ่งขวดน้ำปลา กินครั้งละ ๓ ช้อนโต๊ะ วันละ ๓ เวลา หลังอาหาร

ขนานที่ ๒

๑. เทียน ทั้ง ๕ หนักอย่างละ ๑ บาท๒. สมอทั้ง ๓ หนัก อย่างละ ๑ บาท๓. มะขามป้อม ๑ บาท๔. รากช้าพลู ๑ บาท๕. แก่นสน ๑ บาท๖. แก่นขี้เหล็ก ๑ บาท๗. ยาดำ ๑ บาท๘. ใบมะขาม ๑ บาทนำมาต้มให้น้ำพอเดือด กินครั้งละ ค่อนแก้ว ก่อนอาหาร เช้า – เย็น

ขนานที่ ๓

ใบชุมเห็ดเทศ นำมาย่างจนเกรียมด้วยไฟอ่อนๆ ใช้ชงเป็นน้ำชา กินวันละ ๒ แก้ว

ขนานที่ ๔

๑. หัวอุตพิดสด พอสมควร๒. กระเทียม ๗ กลีบ๓. พริกไทยร่อน ๗ เม็ด๔. ดีปลี ๗ ดอกนำมาตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นให้เป็นลูกกลอน ขนาด เท่าเมล็ดข้าวโพด กินวันละ ๑ เม็ด

ขนานที่ ๕

ใบหนุมานประสานกาย ประมาณ ๑๐ ใบ ต้มกับน้ำจนเดือด กินแทนน้ำ

ขนานที่ ๖ ตำรับของ หมอ ชอย สุขพินิจ อ. กาบเชิง จ. สุรินทร์

๑. แก่นสน ๓ ชิ้น (๑ ชิ้น ขนาดเท่า ๑ นิ้วชี้มือ)๒. ต้น ปีบ ๓ ชิ้น๓. รากและหัวต้นเลา (ลาว ต้นอ้อ, เขมร ต้นแตรง) ๓ หัว๔. ย่านาง ทั้ง ๕ ๓ เครือนำมาต้มพอเดือด กินครังละ ๑ แก้ว วันละ ๓ เวลา

 


 

ที่มา : เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการการแพทย์ทางเลือก 
เรื่อง “การแพทย์ผสมผสานในการดูแลผู้ป่วยโรคภูมิแพ้”
วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2550 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต ปทุมธานี

 

โมบายแอปพลิเคชัน

 

กรมการแพทย์แผนไทยฯ


สามารถติดต่อเราผ่าน Line

 

ได้แล้ววันนี้

ติดตาม กองการแพทย์ทางเลือก

ผ่านทางโซเชียลมีเดีย​ได้ที่

       


กองการแพทย์ทางเลือก
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
อาคาร 2 ชั้น 6 และชั้น 7 กระทรวงสาธารณสุข
ถนนติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ : 02 591 7007 ต่อ 2607
โทรสาร : 02 149 5637
อีเมล์ : Thaicam2019@gmail.com

5935144
This Month : 4716
Total Users : 1544657
Views Today : 3429
Server Time : 2024-10-05